วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ใกล้คิกออฟ!เฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกครั้งที่15



 พระพรหมบัณฑิตแนะนำศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่นยืน ภายใต้ฐานความรู้ตามมิติพระพุทธศาสนาคือ อริยสัจ 4 พัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นฐานสร้างสันติภาพโลก 


เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก พุทธศักราช 2561 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก  วันสำคัญสากลของโลก ระหว่างวันที่  25-27 พ.ค.2561  โดยกำหนดจัดการประชุมวิชาการนานาชาติที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 25  พ.ค.2561 และจะมีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 พ.ค. 2561นั้น

วันที่ 23 พ.ค.2561ที่ผ่านมา วิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติ ร่วมกับหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้จัดการนำเสนอบทความวิชาการนานาชาติทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร เป็นประธานเปิดพร้อมกล่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียนรู้ถึง 18 ศาสตร์ ทำให้พระองค์รู้รอบรู้กว้างรู้ลึกในทุกศาสตร์ที่มีในสมัยนั้น หนึ่งในศาสตร์นั้นพระองค์เรียน "มันตะศาสตร์ ศาสตร์ว่าด้วยเวทมนต์ คาถา เลข ยันต์" ก่อนจะเสด็จออกผนวชได้ตั้งคำถามภายในใจว่า ทำไมคนเราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะทำอย่างไร? ถึงจะหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ถือว่าเป็นการตั้งคำถามการวิจัยเพื่อต้องการคำตอบ เป็นคำถามปลายเปิดที่ต้องค้นเพื่อต้องการคำตอบ ทำให้พระองค์ค้นพบศักยภาพค้นพบตัวตนของพระองค์เอง โดยใช้เวลา 6 ปีในการค้นพบตนเอง จนไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ การบรรลุธรรม พ้นจากความทุกข์และนิพพาน

พระราชปริยัติกวี กล่าวด้วยว่า แต่ขณะ 6  ปีมองว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้ใช้วิชาความรู้จากศาสตร์ต่างๆ จนสามารถทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จ หรือมีความสุขที่แท้จริงได้ พระองค์ทรงแสวงหาศาสตร์ใหม่ๆ จากครูอาจารย์ในสำนักต่างๆ อาจารย์สอนจนหมดความรู้ก็ยังไม่สามารถทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จหรือมีความสุขได้ จึงมองว่าพระองค์ได้ตกผลึกทุกศาสตร์ที่เรียนมานำมาปรับนำมาประยุกต์ ทำให้พระองค์ได้เห็นความจริงของชีวิต ผ่านการฝึกปฏิบัติผ่านการวิจัยเชิงทดลองเช่น การทรมานร่างกาย การอดอาหารแต่ก็ไม่ใช่หนทางให้พ้นจากความทุกข์ พระองค์จึงเดินทางสายกลางตามอริยมรรคมีองค์ 8  ทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด เพราะพระองค์ใช้กระบวนการที่เหมาะสมนั่นเอง 

ช่วงบ่ายพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายเรื่อง "Buddhist Contribution for Human Development"ภาคภาษาอังกฤษ ระบุว่า การจัดงานวิสาขบูชาโลกเป็นโอกาสของนักปราชญ์จากทั่วโลกจะมาพบกัน สิ่งพิเศษที่สุดในงานวิสาขบูชาโลกในครั้งนี้ คือ พระไตรปิฎกฉบับสากล ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การจัดงานวิสาขบูชาโลกครั้งนี้มีหัวข้อหลักเรื่อง“คุณูปการพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์”เพื่อต้องการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเวทีระดับโลกให้ปรารภซึ่งพระองค์ทรงได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาติ เป็นรางวัลอันสูงสุดของพระองค์  ในด้านการพัฒนามนุษย์ เมื่อปี 2549 โดยนายโคฟี่ อนันต์ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้นำรางวัลมาถวาย พร้อมกล่าวสดุดีในนามสหประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาเพราะทรงถือเอามนุษย์เป็นศูนย์ของการพัฒนา”หัวใจของการพัฒนาอยู่ที่มนุษย์ ซึ่งสอดคล้องนโยบายขององค์กรสหประชาชาติที่ประกาศว่า "มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา" ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีการพัฒนามนุษย์ทำให้สอดคล้องกับสหประชาชาติคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”  ตามที่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนมี 17  ประการเริ่มต้นปัญหาความยากจน เป็นต้น 

การจะประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่ยั่งยืนเราจะต้องทราบมิติทางพระพุทธศาสนาคือ อริยสัจ คือ ทุกข์ หมายถึงปัญหา ซึ่งความอดอยากความยากจนถือว่าเป็นความทุกข์ สรุปง่ายๆ ทุกข์คืออะไร สาเหตุของทุกข์คืออะไร วิธีการดับทุกข์ควรทำอย่างไร อะไรคือหนทางแห่งการดับทุกข์ ทุกข์ของมนุษย์ทั้งพระพุทธเจ้าค้นพบตามแนวทางอริยสัจ 4  องค์การสหประชาชาติให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกว่า SDG หมายถึง Sustainable Development Goals แปลว่าเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน มีคำกล่าวว่า “พัฒนาชาติเริ่มที่ประชาชน พัฒนาคนเริ่มที่จิตใจ จะพัฒนาอะไรพัฒนาที่ตัวเราก่อน” 

"คนจึงเป็นหัวใจของการพัฒนา พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจพัฒนาสังคม ทำให้มหาจุฬาฯมุ่งจัดงานวันวิสาขบูชาโลกมุ่งเน้นการพัฒนามนุษย์ เป็นคุณูปการของพระพุทธศาสนาสู่การพัฒนามนุษย์ ในการจัดงานได้ตั้งองค์กรที่รับผิดชอบเรียกว่า International Council for the Day of Vesak หรือICDV สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่มหาจุฬา ICDV มีพันธกิจที่สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ 4 ประการ คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การศึกษา การสร้างสันติภาพ (Peace Building) การพัฒนามนุษย์เป็นการเตรียมความพร้อมให้ทำพันธกิจสำเร็จ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องแปรสู่การปฏิบัติ  มหาจุฬาฯใช้เป้าหมายที่ 17  ในการจัดงานวิสาขบูชาโลก คือ "ความร่วมมือในการแก้ปัญหา"ในฐานะเราเป็นพระพุทธศาสนาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยพุทธวิธี" พระพรหมบัณฑิต กล่าวและว่า

การพัฒนามนุษย์โดยเอามนุษย์เป็นตัวตั้ง มี 4 ด้าน คือ “พัฒนากาย พัฒนาจิตใจ พัฒนาสังคม พัฒนาปัญญา" ถือว่าเป็นการพัฒนาที่สมดุล ถ้าเราพัฒนากายไม่พัฒนาจิตใจเราก็เป็นสุดโต่ง พัฒนากายแต่ไม่พัฒนาปัญญาก็เป็นการสุดโต่ง "เราจึงพัฒนามนุษย์ด้วยทางสายกลาง" สร้างสมดุลทั้งกายและจิตใจ การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึง การพัฒนากายและจิตใจควบคู่กันมีความสุข ไม่มีความโลภ มีความสุขทางจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงเรียกว่า พัฒนา 4 ด้าน มนุษย์จึงเป็นตัวตั้งในการพัฒนาเป็นศูนย์การพัฒนา เราจึงต้องอาศัยไตรสิกขาในการฝึกพัฒนา



ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอบทความวิชาการต่อโดยนายสำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษารุ่นที่ 1 มจร ได้เสนอเรื่อง"อริยสัจโมเดลกับการสร้างสันติภาพโลก" โดยบูรณาการเข้ากับแนวคิดและทฤษฎีสันติภาพตามแนวตะวันตก ดังนี้ 1. ทุกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดกิจไว้คือจะต้องกำหนดรู้ คือ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม  2.สมุทัย คือสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม  ตามแนวคิดตะวันตกอย่างเช่น “จอห์น แมคคอนเนล” และ “คริสโตเฟอร์ มัว” 5  ประเภท คือข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลจากสื่อออนไลน์  ผลประโยชน์  ความสัมพันธ์  โครงสร้าง  คุณค่าหรือค่านิยม “สมุทัย”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องละ  3. นิโรธ คือความดับทุกข์ (ทุกฺขนิโรธ)  เป็นภาวะที่ยุติความขัดแย้ง  ความรุนแรง และสงคราม เป็นบรมสุข เป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องทำให้แจ้งหรือให้เกิดขึ้น และ 4. มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์เกิดสันติภาพ เทียบได้กับ “สันติวิธี” ซึ่งประมวลได้ 3 สำนักคือ 1. สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง  2. สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรง เช่น การเรียกร้องสิทธิ  เสรีภาพ ความยุติธรรม  3) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต   หรือการสร้างสันติภายในให้เป็นวิถีชีวิตตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน หรือสำนักพุทธสันติวิธี



สำหรับการสร้างสันติภาพตามแนวทางอริยสัจโมเดลนั้น  สามารถสรุปเป็นโมเดลคือ “4ป.ยกกำลังสองโลกรอดมนุษยชาติรอด” 4ป.ชุดแรกคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และป้องกัน ดังนี้ 1.ปริยัติ คือการ (ปลูก) ฝัง ด้วยการศึกษา พัฒนาปัญญา 3 ระดับคือ 1.สุตมยปัญญา  2.จินตามยปัญญา 3.ภาวนามยปัญญา คือ สร้างขึ้นเป็นทักษะ ที่เป็นความความรู้รอบและความรู้ลึก ที่สามารถมองเห็นด้านในเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล อะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร รู้เป็นระบบ “รู้รอบ”  คือ รู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ว่าแต่ละสิ่งอาศัยกัน “รู้ลึก”  คือ รู้ “ไตรลักษณ์”  รู้ว่าไม่มีอะไรโลกนี้เป็นอนัตตา  2.ปฏิบัติ คือการปลุกหรือการ นำทฤษฏีความรู้นำไปปฏิบัติแก้ไข ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม โดยลงมือปฏิบัติการด้วยโมเดล “4ป.” อีกชุดหนึ่งคือ “ปลูก  ปลุก ปรับ  และเปลี่ยน”“ปลูก” คือการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง “ปลุก” คือกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการ  “ปรับพื้นนอก” คือ  พื้นฐานทางกายภาพและพฤติกรรมให้ตรงกัน  และ “ปรับพื้นใน”  คือ ปรับอินทรีย์และกำลัง เป็นต้น



พุทธสันติวิธีหรือตำราพุทธพิชัยสงครามตามแนว “อริยสัจโมเดล” ที่บูรณาการกับหมวดธรรมคือปธาน 4 สอดประสานกับหลักสันติวิธีตะวันตก ที่มุ่งเน้นการเน้นการสร้างสันติภายในเริ่มจากการปริยัติหรือสันติศึกษาภายในด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั้งเกิดสัมมาทิฐิ ว่า “โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน” ก็จะทำให้เป็นนักสันติวิธีแบบวิถีชีวิต(Pacifism)  สามารถยุติปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามเกิดสันติภาพภายใยแบบไม่มีความขัดแย้งภายใน ก็จะทำให้เกิดพลังทั้ง 5 คือศรัทธา วิริยะ  สติ  สมาธิ  และปัญญา ในการแก้ปัญหาความขัดแยง รุนแรง และสงครามไร้ตัวตนหรือหลบในของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกให้เกิดสันติภาพ ด้วยโมเดลต่างๆ โดยเริ่มจากหลัก “4ป.” ในพื้นที่ “บวร” เพื่อให้เกิด “ภาวนา4” ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีหลักการ 2 คือความรู้คู่คุณธรรม เมื่อจะนำความรู้ไปใช้ในการสร้างสันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไข 3 คือ ประมาณ เหตุผล และภูมิคุ้มกันความเสี่ยง แบบเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้นักพุทธสันติวิธีสามารถยุติปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามได้ระดังหนึ่งแต่การจะทำให้ “อริยสัจโมเดล” คงจะต้องมีการบูรณาการเข้ากับศาสตร์ใหม่ให้ทันกาล



....................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapatพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ อาหุเนยยวรรคเป็นหมวดหนึ่งในอ...