วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กรมศิลปากรจัดเสวนาเรื่อง“เข้าใจจินดามณี”



กรมศิลปากร โดยกลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดโครงการเสวนา เรื่อง “เข้าใจจินดามณี” ในวันศุกร์ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ทางภาษาและวรรณคดีของชาติ จัดกิจกรรมการเสวนา ทางวิชาการเรื่อง “เข้าใจจินดามณี” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจเนื้อหาสาระความรู้และตระหนักในคุณค่าความสำคัญของหนังสือแบบเรียนไทยเรื่อง “จินดามณี” ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นตำราการเรียนการสอนหนังสือไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

ที่นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะตำราแบบเรียนไทยเล่มแรกแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของหนังสือแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในชั้นหลังอีกด้วย อีกทั้งมีคุณค่าในฐานะตำราประพันธศาสตร์ โดยรวบรวมตัวอย่างและวิธีการแต่งคำประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก หนังสือจินดามณี มีมากมายหลายฉบับด้วยกัน อาทิ ฉบับความแปลก ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๔ ฉบับเล่ม ๑ หรือฉบับพระโหราธิบดีแต่ง ฉบับใหญ่บริบูรณ์ และฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต และจากการที่ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้แบบเรียนไทยเรื่องจินดามณี โดยเฉพาะ ฉบับพระโหราธิบดี เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก การเสวนาประกอบด้วย การสวดทำนองหลวง โดย นายประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด ผู้ชำนาญการด้านนาฏศิลป์ไทยและคณะ การเสวนาเรื่อง “เข้าใจจินดามณี” วิทยากร โดย นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาสามารถสอบถามรายละเอียด หรือสำรองที่นั่งได้ที่ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โทรศัพท์ ๐ ๒๔๔๖ ๘๐๔๐ – ๕ ต่อ ๓๐๐๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ ในพ...