วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชมภาพเจ้าคุณเทียบร่วมคณะวธ.เฝ้าถวายพระคัมภีร์อักษรขอมโบราณปริวรรต(พระมาลัย)แด่"โป๊ปฟรานซิส"



วันที่ 16 พ.ค.2561 พระราชปริยัติมุนี หรือเจ้าคุณเทียบ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเชตุพลวิมลมังคราราม คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมคณะนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางไปนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี  ในการนำพระคัมภีร์อักษรขอมโบราณ เอกสารประวัติศาสตร์ล้ำค่า ที่คณะสงฆ์วัดโพธิ์ ใช้เวลาประมาณ 11 เดือน ทำการปริวรรตเป็นภาษาไทยเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปแปลต่ออีก 7 ภาษา เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ โป๊ปฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ประมุขแห่งคริสตจักร เข้าเฝ้าถวายพระสันตะปาปาฟรานซิส


ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2559 มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมัน คาทอลิกแห่งประเทศ ไทย เข้าพบพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เพื่อแจ้งความประสงค์ในสมเด็จพระสันตะ ปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักร ขอนิมนต์คณะสงฆ์ไทยจากวัดพระเชตุพนฯ ให้ปริวรรตหรือถอดคัมภีร์อักษรขอม ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถวายเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ขณะเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 เมื่อวันพุธที่ 21 มี.ค. ค.ศ.1934 หรือปี พ.ศ.2477 หรือเมื่อ 83 ปีก่อน เพื่อจะนำเปิดแสดงคัมภีร์โบราณ ที่เป็นของถวายแด่พระสันตะปาปาในทุกพระองค์ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี


พระเทพวีราภรณ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรก คือ ชุดปริวรรตคัมภีร์อักษรขอม (บาลี-ไทย) มีพระราชปริยัติมุนี (เทียบ) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน อีกชุดหนึ่งเป็นคณะทำงานชุดประสานงานและประชาสัมพันธ์ มีพระราชรัตนสุนทร (วินัย) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทั้งสองชุดจะทำงานร่วมกัน เพื่อให้งานแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่คณะทำงานทั้ง 2 ชุด จะร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการปริวรรตหรือถอดคัมภีร์อักษรขอมจนสำเร็จและส่งมอบให้กับผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือโป๊ปฟรานซิส เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2560


พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ หัวหน้าคณะทำงานชุดปริวรรตคัมภีร์ กล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้ ถือเป็นความภูมิใจสูงสุด ในนามคณะสงฆ์ไทยและหัวหน้าคณะทำงานชุดปริวรรตคัมภีร์ คัมภีร์เล่มนี้ เป็นคัมภีร์พระมาลัย บันทึกลงบนสมุดไทยขาว หรือสมุดข่อยสีขาว กว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 66 เซนติเมตร เนื้อหาแบ่งออกเป็น 7 ตอน ตอนที่ 1 เป็นบทสวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ตอนที่ 2-5 เป็นเรื่องราวพระมาลัยกลอนสด และตอนที่ 6 เป็นบทสวดแจงภาษาบาลี แต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า กลอนสวด ประกอบไปด้วยกาพย์ชนิดต่างๆ ทั้งกาพย์ยานี กาพย์ฉบังและกาพย์สุรางคนางค์ และมีการบันทึกด้วยอักษรขอม ภาษาบาลีและภาษาไทยโบราณสมัยรัตนโกสินทร์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...