วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

2มหาจุฬาฯเพชรเม็ดงามปฏิรูปสอนพุทธในโรงเรียน



ทำไมต้องมีการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโจทย์อันท้าทายอย่างยิ่งต้องทำให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ๘๓๙/๒๕๖๑ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจะดำเนินการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม อันจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนอย่างยั่งยืน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมคุณธรรมจริยธรรม

เพื่อให้การปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม กระทรวงศึกษาธิการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการจำนวน ๑๓ ท่านมีศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เป็นประธานกรรมการ และมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) และนางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรองประธานกรรมการพร้อมท่านอาจารย์ ผศ.ดร. บรรจบ บรรณรุจิ เป็นกรรมการการปฏิรูปในครั้งนี้ 

มหาจุฬามีเพชรเม็ดงามนักปราชญ์ ๒ รูป/คน ในการเป็นผู้ร่วมปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมีท่านพระอาจารย์หรรษา ธมฺมหาโส ในฐานะรองประธานกรรมการการปฏิรูป ถือว่าเป็นบทบาทสำคัญในฐานะผู้แทนมหาจุฬา อันเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาและการสอนพระพุทธศาสนา ด้วยการปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา โดยนำพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้งแล้วนำศาสตร์สมัยใหม่มาสนับสนุนเพื่อบูรณาการพัฒนาจิตใจและสังคม ถือว่าเป็นความหวังของโรงเรียนทั่วประเทศ 

จึงมองว่าการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาครั้งนี้จะสำเร็จผลเพราะพระอาจารย์หรรษามีประสบการณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ มีความเชี่ยวชาญเรื่องแผนยุทธศาสตร์ การออกแบบการสอน เทคนิคการสอน กระบวนการสอน การวิจัยด้านพระพุทธศาสนา มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ว่าอะไรคือคอขวดของการสอนพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันเพื่อการพัฒนาผ่านการปฏิรูป ท่านอาจารย์ ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ถือว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา นิสิตมหาจุฬาให้ฉายาอาจารย์ว่า"พระไตรปิฎกเคลื่อนที่" ทุกครั้งที่อาจารย์เสนอแง่มุมใดหรือสอนอันเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจะมีความน่าสนใจมากโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นฐานอันมาจากพระไตรปิฏก ทำให้เกิดการแจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง ทั้งสองท่านถือว่าเป็นครูอาจารย์ของมหาจุฬาที่ได้รับการยกย่องในผลงานอันประจักษ์ จึงขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการที่มีวิสัยทัศน์ว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแล้ว ควรให้ใครเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยเฉพาะปัจจุบันครูพระสอนศีลธรรมมหาจุฬากำลังพัฒนาครูพระสอนศีลธรรมจากทั่วประเทศไม่เน้นการสอนแต่เน้นจัดการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือแบบ Active Learning เป็นการอภิวัฒน์การสอน เป็นการสอนพระพุทธศาสนาให้มีชีวิต สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน คณะกรรมการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

๑)ศึกษาวิเคราะห์วิจัยแนวทางการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน 

๒)กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การดำเนินการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน

๓)ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน

๔) ส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการทำงานเชิงบูรณาการด้วยวิธีการที่หลากหลาย

๕)กำหนดแนวทางการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

๖)แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานตามความจำเป็นและเหมาะสม

๗)ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย

ดังนั้น จึงมองว่าการปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ๓ ประการคือ ๑)เป็นปัญหา อะไรคือปัญหาการสอนพระพุทธศาสนา? จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ๒)เป็นการเปลี่ยนแปลง การสอนพระพุทธศาสนาควรมีการเปลี่ยนแปลงเทคนิค หลักสูตร วิธีการอย่างไรให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ๓)นโยบายของประเทศ การปฏิรูปจะเกิดถ้าเป็นนโยบายของประเทศ กระทรวง มองว่าควรพัฒนาให้ดีขึ้น ถ้าเป็นนโยบายจึงมีการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนา ส่วนตัวมองว่าพระพุทธศาสนาไม่ต้องปฏิรูปเพราะเป็นของดีแท้ แต่สิ่งที่จะปฏิรูปคือ วิธีการสอนพระพุทธศาสนาให้เกิดความน่าสนใจโจทย์คือทำอย่างไรให้ผู้เรียนมองว่าวิชาพระพุทธศาสนาสำคัญต่อชีวิต

สาราณียธรรม โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...