วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระพรหมบัณฑิตชี้มหาจุฬาฯเป็นเลิศด้านพระพุทธศาสนาและพระไตรปิฏกสากล





พระพรหมบัณฑิตชี้มหาจุฬาฯเป็นเลิศด้านพระพุทธศาสนาและพระไตรปิฏกสากล  เผยเคล็ดตั้งชื่อ "วิถีธรรมจากพุทธปัญญา" พระไตรปิฏกฉบับสากลฉบับภาษาไทย แจกงานวิสาขบูชาโลก




วันที่ 19 พ.ค.2561 พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวให้โอวาทในงานแสดงความยินดีกับมหาบัณฑิตและดุษฏีบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มจร จัดขึ้นความว่า  จากหนังสือเรื่อง"แสวงหาความเป็นเลิศ" เขาจะเอาความสำเร็จในอดีตมาเป็นฐาน จะไม่เริ่มต้นใหม่แต่จะต้องต่อยอด ไม่เปลี่ยนสาย ซึ่งความจริงต้องเอาสายที่เราเรียนเป็นฐานการวิจัยต่อยอดพัฒนา เราต้องเป็นเลิศในสายของเรา มหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างไรก็ต้องพุทธศาสตร์ เราเลิศในด้านพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยเปิดในปี 2531  เราเปิดปริญญาโทที่เราเป็นเลิศคือ "ด้านพระพุทธศาสนา" ต้องการความเป็นเลิศทางพระพุทธศาสนาต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ปรัชญายังไม่เติบโต ซึ่งความจริงต้องมาคู่กันในกับพระพุทธศาสนาในระดับปริญญาตรี โท เอก ต้องไปด้วยกัน 



"เราต้องมีความเป็นเลิศในปรัชญาและพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยต้องเป็นเลิศด้านปรัชญาและพระพุทธศาสนา ท่านคณบดีต้องไปคิดต่อว่าทำอย่างไรถึงเราจะเป็นเลิศ เป็นเอตทัคคะ เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เราเป็นเลิศ เพราะครูอาจารย์ของเราเลิศด้านนี้ เราต้องรักษามาตรฐานไว้โดยเฉพาะสาขาพระพุทธศาสนา จึงมีการนำวิชาพระพุทธศาสนาไปเทศน์ไปสอนจึงเกิดสาขาธรรมนิเทศ ใน 4 คณะของมหาจุฬาในระดับปริญญาตรีเราจึงมีวิชาพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก ซึ่งไม่ว่าจะคณะใดสาขาใดต้องมีความรู้พระพุทธศาสนาแล้วนำไปประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ คณะครุศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ต้องมีฐานพระพุทธศาสนาในความเป็นเลิศ พอมาถึงระดับปริญญาโทเอกก็เป็นพุทธศาสนา เช่น พุทธจิตวิทยา พุทธบริหารการศึกษา การจัดการเชิงพุทธ" พระพรหมบัณฑิต กล่าวและว่า 



ความเป็นเลิศจะไปจากฐานที่เรามีในส่วนบุคคลก็เช่นเดียวกัน เราจะมีความเป็นเลิศต้องเริ่มจากสายที่เราฝึกฝนมา ปรัชญากับศาสนามีลักษณะพิเศษเพราะไม่ใช่เรียนเเต่ทฤษฏี เรียนพระพุทธศาสนามีภาคประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างน้อยต้องนั่งกรรมฐานครบตามไตรสิกขามีการฝึกปฏิบัติ เพื่อการนำธรรมะไปประยุกต์ ปรัชญาที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเรา Teahcing แต่ขาดการ Training ศึกษาทฤษฏีอย่างเดียวไม่ลึกซึ้ง ปรัชญาเป็นวิธีคิด ซึ่งมิใช่เราไปเรียนไปท่องตามแนวคิดปรัชญา เช่น นักพุทธปรัชญา เราไปจำพระไตรปิฎก ซึ่งไม่ใช่นักพุทธปรัชญา 



ตราบใดที่เรายังไม่สามารถคิดเป็นจึงมีคำถามว่า พุทธธรรมกับพุทธปรัชญาต่างกันอย่างไร เราจะคิดแบบปรัชญาอย่างไร เราต้องเทรนคนไม่ได้ ทำให้ลูกศิษย์คิดไม่เป็น พอคิดไม่เป็นจึงเป็นเพียงพุทธศาสนา ปัญหาอยู่ตรงที่ "สอนวิธีคิด วิเคราะห์ และการเขียน" คนที่มาเรียนพระพุทธศาสนาหรือปรัชญามิใช่มาเรียนเพื่อข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้วิธีคิด การนำไปประยุกต์ใช้ มีกระบวนการคิดแบบนักปรัชญา ถ้าเราคิดเป็นเราไปพูดเราเขียนก็เป็นปรัชญาเราจะหาความเป็นเลิศเราต้องหาฐานตนเองให้เจอ 

หนังสือพระไตรปิฏกฉบับสากล เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่ดีที่สุด จึงตั้งชื่อว่า "วิถีธรรมจากพุทธปัญญา" คนตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร เอาคนทั่วโลกมาทำร่วมกัน คำตอบคือ สามารถทำได้เพราะมีประสบการณ์ในการทำพระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาฯ ใช้เวลาแปลถึง 3  ปี มีความเป็นมาตรฐานมาก เพราะใช้เวลาแก้ไข 3 ปี ช่วงนั้นในฐานะเป็นอธิการบดีแรกๆ ทำให้อาจารย์สมภาร พรมทา เขียนวิจารณ์ว่า "ถ้าทำแบบนี้อีก 50 ปีก็ไม่มีใครมาทำแข่งได้เพราะมีความมาตรฐาน" ปัจจุบันพิมพ์เท่าไหร่ก็ไม่เหลือ ประสบการณ์ตรงนั้นจะนำไปใช้ในการทำพระไตรปิฎกฉบับสากล ซึ่งเอาข้อมูลมาจากบาลีสันสฤต จีน ทิเบต นำมารวมกัน ด้วยการเน้นจุดเหมือนกัน 

เรามีประสบการณ์จากการทำพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ โดยใช้มติจากการประชุมที่โคลัมโบว่ามีคำสอนของเถรวาทและมหายานอะไรที่มีความเหมือนกันเรียกว่าพระพุทธศาสนาเหมือนกันเหมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกันมีอะไรที่เหมือนกัน ซึ่งเถรวาท มหายาน วัชรยาน เป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน เพราะมีประเด็นที่คล้ายกันในลัทธินิกาย ค้นมาได้ 9  ข้อที่เหมือนกัน จึงนำมาเป็นหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากลเป็นประสบการณ์จากการทำพระไตรปิฎก แต่ละนิกายแปลคนละสำนวนจึงให้มาคุยกันเพื่อปรับให้ตรงกัน เช่นคำว่ามรรค เถรวาทใช้คำว่ามรรค มหายานใช้มรรคา วัชรยานใช้วิถี ในฐานะเป็นประธานบรรณาธิการจะทำอย่างไรให้หมายความเข้าใจเหมือนกัน พระไตรปิฎกฉบับสากลจึงเป็นหนังสือเล่มเดียวของโลก เป็นหนังสือที่ดีในการศึกษาจะทำให้การของเราได้ผลดีมาก ตอนแรกทำเป็นภาษาอังกฤษยังไม่มีใครพูดถึงจึงมาทำภาษาไทยเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษา ฉบับภาษาอังกฤษฝรั่งชอบมากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี นำไปศึกษาที่สถาบัน ฝรั่งชื่นชมมากแต่ในมหาจุฬาฯยังเงียบจึงต้องแปลเป็นภาษาไทย 

จึงสรุปด้วยท่านปรีดี พนมยงค์ในปี 2522  มีการสัมภาษณ์ท่านปรีดีว่า อะไรคือความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตท่านที่สุด ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำเป็นอันขาดท่านปรีดีตอบว่า "ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่คือทำการใหญ่ก่อนจะมีประสบการณ์" หมายถึง ท่านจบ ดร.มาใหม่ๆ มาเป็นหัวหน้าคณะราษฏร์ ด้วยการถูกป้ายสีคอมมิวนิสต์เพราะความอ่อนประสบการณ์และ "การไม่รู้จักสังคมไทย" เพราะอยู่ในต่างประเทศมานาน จึงสรุปว่าทำการใหญ่ก่อนจะมีประสบการณ์ ท่านปรีดี จึงสรุปทิ้งท้ายว่า   เมื่อมีอำนาจก็ขาดประสบการณ์ พอมีประสบการณ์มากก็หมดอำนาจ" 



พระพรหมบัณฑิต กล่าวด้วยว่า เหมือนบางคนมาจบ ดร. ตอนไม่มีอะไรจะทำ จบมาแล้วต้องนำไปใช้ อย่าเสวยความสุขนานจากการจบการศึกษา แต่ควรสร้างผลงานให้เป็นมรรคเป็นผลตามที่เราเป็นเลิศในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์แล้วไปเริ่มใหม่มันยาก มัวแต่ไปเริ่มใหม่ เราต้องทำงานในสิ่งที่ตรงกับสาขาที่เราเป็นเลิศ เราต้องทำในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ ประสบการณ์จากมหาจุฬาสามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ อย่าทำการใหญ่โดยไม่มีประสบการณ์ ทำอะไรก็ตามแต่จงทำจากฐานความเป็นของเรา อย่าไปเริ่มต้นใหม่แต่จงเริ่มต้นจากประสบการณ์ที่เรามี


............

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รัฐบาลขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนส ดัน "นวดไทย-อาหารไทย-สมุนไพรไทย" เป็น Soft Power

วันที่ 20 เมษายน 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐม...