วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

"อธิการบดี มจร"หวังยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยพุทธ




"อธิการบดี มจร"หวังยกระดับมหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยพระพุทธศาสนา  เผยเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐานพัฒนานิสิตให้มีความสามารถวิจัยภาษาและการสื่อสารเพื่อการศึกษา



วันที่ 4 พ.ค.2561 ที่ห้องสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในการโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางวิชาการ เป็นการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนการสอนและการเขียนตำราทางวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มจร และบรรยายเรื่อง "การผลิตผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าตำแหน่งทางวิชาการ"  




ในการนี้พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีมีคุณค่าต่อการพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ซึ่งเรามีการพัฒนาเป็นประจำเป็นการเหลียวหลังแลหน้าในการทำงาน เพื่อการปรับปรุงพัฒนาตนเอง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายนอกและภายในโดยเฉพาะการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันการเข้าตำแหน่งวิชาการมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีคุณภาพในงานวิชาการ 



"สิ่งที่คาดหวังมากคือ ผลกระทบต่อคณะสาขาและมหาวิทยาลัยอย่างไร คุณภาพของอาจารย์เป็นหลักประกันของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาคารสถานที่เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งบางที่ในต่างประเทศเรียนใต้ต้นไม้ ประเทศเราไม่สามารถในการจัดการศึกษาให้ดี เพราะปัจจัยมาจากครูอาจารย์ การศึกษาระดับอุดมศึกษาถือว่ามีความสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการมีการลงทุนเป็นจำนวนมากแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลกนิสิตจำนวนไม่มาก ครูอาจารย์ไม่มากแต่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพกระบวนการเรียนการสอนในการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนถือว่าสำคัญ"  พระพรหมบัณฑิต กล่าวและว่า



ประเทศไทยมีการปฏิรูปกระทรวงศึกษามาระยะยาวนาน กระทรวงคิดแต่การบริหารแต่ลืมการพัฒนาครูอาจารย์และผู้เรียน ในต่างประเทศเขาจะมองว่าใครเป็นผู้สอน อาจารย์เก่งๆ นักศึกษาจะตามไปเรียนกับอาจารย์มากกว่าสถาบัน เป็นเรื่องที่ดีเพราะอาจารย์ต้องพัฒนาตนอยู่ตลอด ไม่ใช่ยึดสถาบันแต่ยึดอาจารย์ผู้สอน ซึ่งต่างจากประเทศไทย มหาจุฬาฯเราที่ผ่านมาเราเน้นการพัฒนาสร้างอาคารสถานที่ แต่ปัจจุบันเราห่วงเรื่องการคุณภาพของครูอาจารย์เราจะใช้สื่อการสอนในยุคปัจจุบันมาสอนอย่างไร ปัจจุบันเราเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ในทุกมหาวิทยาลัยจึงไม่ต่างกัน 



แต่สิ่งที่จะต่างกันคือ คุณภาพของครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  เครื่องมืออุปกรณ์แพงๆ ปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องมี เเต่เราควรนำงานวิจัยที่เขาทำไว้มาต่อยอดมาพัฒนา มาสนับสนุน ซึ่งการค้นพบของเขาเราต้องนำมาต่อยอด โดยเอางานวิจัยที่เขาทำไว้มาต่อยอดทางวิชาการ ใครทำอะไรไว้ดีเราต้องนำมาต่อยอดหรือศึกษาเพื่อเป็นฐานสนับสนุน ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือการวัดการทำสมาธิ เราก็ควรนำงานวิจัยเหล่านี้มาสนับสนุนหรือต่อยอดในงานพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัย ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ใหม่ๆ งานวิจัยของนิสิตจึงมีการต่อยอด เราควรวิจัยว่าทำอย่างไรคนไทยจะเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง เรามีเทคนิคอะไร เราโชคดีที่มีนิสิตเพื่อนมาบ้านมาอยู่กับเรามาก มาอยู่ไม่นานสื่อสารภาษาไทยได้แล้ว เรามีนิสิตจากต่างชาติมาอยู่กับเราเป็นจำนวนมาก เราควรจะดึงศักยภาพนิสิตออกมา เรามีสถาบันภาษาถามว่าทำอะไร ไม่ต้องเอาอาจารย์จากภายนอกมาสอนมาก เอาอาจารย์ในคณะมนุษยศาสตร์มาสอนบ้างในสถาบันภาษาเพื่อเชื่อมกัน โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้นิสิตของเราเรียนภาษาอังกฤษได้เก่ง สามารถสื่อสารได้คณะมนุษย์ต้องไปทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ 




ปัจจุบันมหาจุฬาฯเปิดสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องกับการศึกษา ในฐานะอธิการบดีมหาจุฬาฯมีการสนับสนุนให้เปิดสาขาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนานิสิต ซึ่งเทคโนโลยีถือว่าเป็นดาบสองคม เราต้องเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อให้เราได้เชื่อมกับโลกได้ ถ้าเราไม่เรียนรู้เราจะตามไม่ทัน ฐานของมนุษยศาสตร์เป็นของภาษา เราจึงต้องต่อยอดการพัฒนาอะไรคือสิ่งดีๆ ที่เรามี เช่น ภาษาไทย เราพยายามจะเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ถามว่าเราเคยสนใจภาษาศาสนา โดยเอาภาษาไทยเป็นตัวตั้ง เช่น อนัตตา ถามว่าหมายถึงอะไร 


"เราอธิบายแตกต่างกันจึงทะเลาะกัน มหาจุฬาจะต้องช่วยทำวิจัยด้านภาษา คณะมนุษยศาสตร์จะต้องแสดงศักยภาพในการพัฒนาภาษา เคยตั้งความหวังว่าในแผนว่ามหาจุฬาฯจะเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย เพื่อใช้งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน โดยให้นิสิตมีส่วนร่วมในการทำวิจัยเพื่อการเรียนรู้ นิสิตได้ความรู้ เป็นองค์ความรู้ร่วม แต่อย่านำงานวิจัยของนิสิตมาเป็นของตนเอง อาจารย์กับนิสิตควรมีการทำวิจัยร่วมกันอยากรู้เรื่องอะไรทำวิจัยร่วมกัน"   อธิการบดี มจร  กล่าวและว่า


ปัจจุบันมหาจุฬาทำงานวิชาการระดับโลก คือ "พระไตรปิกฏฉบับสากลเป็นภาษาไทย" ความหนาถึง 1,000  กว่าหน้าถือว่าเป็นงานวิชาการระดับโลก ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยานซึ่งจะแจกในงานวิสาขบูชาโลกที่มหาจุฬาฯในเดือนพฤษภาคมนี้ งานวิจัยวิชาการต้องมีต่อเนื่อง ในนามคณะมนุษยศาสตร์เราจะฝากอะไรไว้บ้างให้กับโลก การก่อสร้างอาคารเราเพียงพอมากพอแล้ว เรามาช่วยกันพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและสังคมประเทศชาติต่อไป



ผู้สื่อข่าวรานงานว่า รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ได้จัดงานเฉลิมฉลองที่ศูนย์ประชุมสหประชาติ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.  โดยรูปแบบการจัดงานจะเชิญผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมือง รวมถึงผู้อำนวยการของ  UN และ UNESCO ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย พร้อมด้วยชาวพุทธจากทั่วโลกประมาณ  1,500 รูป/คน เดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ พร้อมทั้งร่วมงานสัมมนานานาชาติที่มหาจุฬาฯ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง 25-26 พฤษภาคม 2561

........................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรย

  หนังสือนิยาย: พิราบโรย 1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข...