วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567

มุมมอง "ดร.สุกัญญา สุขธรรมิกา เจริญวีรกุล บ.ศ.9" : หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีควรเป็นไปในทิศทางใด ควรปรับปรุงจริงหรือไม่?



เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแม่กองบาลีสนามหลวงได้ประกาศผลสอบประจำปี 2567  โดยเฉพาะมีพระภิกษุและสามเณรสอบได้มากถึง 76 รูปในจำนวนนั้นมีสามเณรอายุ 17 ปีรวมอยู่ด้วยถือว่า เป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่สอบบาลีสนามหลวงได้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงหลักสูตรบาลีสนามหลวงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อย่างเช่น พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป, ป.ธ.9, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตร บาลีพุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว “Wat Pan Ken” ตั้งคำถามว่า หลักสูตรบาลีสนามหลวง  เรียนพระไตรปิฎก เล่มไหน หน้าไหน ซึ่งสรุปความว่า  พระไตรปิฎก มี 27,289 หน้า  หลักสูตรบาลีสนามหลวง เรียน 149 หน้า  คิดเป็น 0.54% ของจำนวนหน้า  หรือ คิดเป็น 0.44% ของจำนวน 45 เล่ม พร้อมฝาก “แม่กองบาลี” พิจารณา 

@siampongs

เปิดประวัติ #นาคหลวง อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ พระมหาเด็กกำพร้า ชาวเมียนมาสอบได้ #ป.ธ.9 #เณรออกัส ไม่พลาด สอบป.ธ. 4 ได้ #ข่าวtiktok #tiktokshop สนใจหนังสือบาลี คลิกที่ตะกร้าด้านล่างได้เลย

♬ เสียงต้นฉบับ - สยามพงษ์ช้อป

พร้อมกันนี้ได้มีผู้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางในจำนวนนั้นมี  ดร.สุกัญญา สุขธรรมิกา เจริญวีรกุล บ.ศ.9, สำนักเรียนวัดสามพระยา ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดสามพระยา  ได้แสดงความเห็นผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว "Sukanyāpema Sukhadharmikā Charoenwerakul" ขณะอยู่ที่กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ความว่า " หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีควรเป็นไปในทิศทางใด ควรปรับปรุงจริงหรือไม่?

ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า พระธัมมเจ้า พระสังฆเจ้า คณาจารย์ผู้สืบทอดพระพุทธพจน์มาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน และครูบาลีทุกแผนกในสยามประเทศ ทั้งบาลีใหญ่ บาลีสนามหลวง และบาลีสากล โดยไม่แบ่งแยก เนื่องจากการศึกษาบาลีในแง่มุมดังกล่าวมานี้ล้วนแต่เกื้อกูลแก่การเรียนพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น ฯ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีแบบปัจจุบันในสยามประเทศ เพื่อความเข้าใจอันดีของบุคคลทั่วไป ฯ

ก่อนจะแสดงทัสสนะว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีควรเป็นไปในทิศทางใด ควรปรับปรุงจริงหรือไม่ สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจคือหลักสูตรนี้สอนอะไร สิ่งใดคือจุดเด่นและสิ่งใดไม่ใช่จุดเด่นในหลักสูตรนี้ ข้อความเรื่องหลักสูตรฯ ดังต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์ของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับหลักสูตรนี้มากว่าครึ่งชีวิต เป็นนักเรียนบาลีศึกษาในหลักสูตรนี้นาน ๑๐ ปี เมื่อเรียนจบแล้วก็เป็นครูสอนบาลี วิทยากรอบรมบาลี และกรรมการสอบบาลีศึกษา นอกจากนี้ ยังได้ผ่านการเรียนบาลีในแง่มุมอื่น คือ หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต (ภาษาบาลีและสันสกฤต) อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศาสนศึกษา) และทำงานด้วยภาษาพระปริยัติธรรมอื่นที่มิใช่ภาษาบาลีอีกด้วย

 โดยสรุป หลักสูตรบาลีสนามหลวงคือหลักสูตรที่สร้างพื้นฐานอันดีในการศึกษาพระพุทธพจน์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

- เริ่มต้นตั้งแต่สอนบาลีไวยากรณ์ฉบับ simplified ที่ปรับให้มีระบบคล้ายกับตะวันตก ไม่ใช่ไวยากรณ์ตามจารีตบาลีใหญ่ และไม่ใช่ไวยากรณ์ที่อิงภาษาศาสตร์แบบบาลีสากล แต่เป็นทางลัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เรียนรู้และฝึกแปลได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก (เมื่อเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้แล้ว จะไปเรียนบาลีในมุมอื่นๆ เพิ่มเติมก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น) 

- สอนเรื่องความสัมพันธ์ (syntax) เพื่อใช้ในการแปล

- สอน “วิธีการเข้าถึงพระไตรปิฎก” อันประกอบไปด้วยพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม แม้ว่าจะมิได้เรียนเนื้อหาในพระไตรปิฎกทั้งหมด แต่ก็เป็นการเรียนอรรถกถา (อธิบายความในตัวบทพระไตรปิฎก) และคัมภีร์อธิบายชั้นรองลงมา (ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์วิเสส) ที่จำเป็นต้องทราบเนื้อหาจากพระไตรปิฎกบาลีในฐานะที่เป็นตัวบท 

๐ ชั้น ป.ธ.๔ / บ.ศ.๔ เริ่มเรียนคัมภีร์มังคลัตถทีปนี (พระสิริมังคลาจารย์ ชาวล้านนา รจนา) ภาค ๑ เป็นวิชาแปลมคธเป็นไทย นี้คือก้าวแรกที่เป็นการประมวลความรู้ไวยากรณ์ วากยสัมพันธ์ และการแปลเข้าด้วยกันเพื่อจะศึกษาพระไตรปิฎก เนื่องจากคัมภีร์นี้รวมทั้งข้อความจากพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาที่แก้ข้อความนั้นๆ และคัมภีร์อธิบายชั้นรองลงมา อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งอ้างอิงที่มา (อาคตสถาน) 

นี้คือขั้นตอนที่ฝึกฝนให้นักเรียนในหลักสูตรนี้สามารถศึกษาพระไตรปิฎกเถรวาท โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎก ในเชิงลึกที่ประกอบด้วยการค้นคว้าคัมภีร์อธิบายในเรื่องนั้นๆ ได้ “ด้วยภาษาบาลีที่บันทึกพระไตรปิฎกเถรวาท” แตกต่างจากการอ่านพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยที่ต้องอาศัยผู้รู้บาลีแปลมาให้อ่าน และผู้อ่านอาจติดขัดในการค้นคว้าด้วยข้อจำกัดทางภาษา 

๐ ชั้น ป.ธ.๖ / บ.ศ.๖ เริ่มเรียนคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาอธิบายพระวินัยปิฎก (พระพุทธโฆสะ ชาวอินเดีย รจนา) ทำให้นักเรียนได้ศึกษาพระวินัยปิฎกในประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งคัมภีร์อธิบายในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอดทางพระวินัย

๐ ชั้น ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ เริ่มเรียนคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (พระสุมังคลเถระ ชาวลังกา รจนา) หนังสืออธิบายพระอภิธัมมัตถสังคหะ สามารถนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอดเรื่องพระอภิธรรม

- สอนการแต่งฉันท์ (ป.ธ.๘ / บ.ศ.๘) และการสอนการแต่งภาษาบาลีให้สละสลวย (ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙)

 จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเน้นเรื่องภาษาและการแปล (เช่น แปลมคธเป็นไทย แล้วนำกลับมาแปลไทยเป็นมคธ) ทำให้นักเรียนผู้ผ่านหลักสูตรนี้มีพื้นฐานทางภาษาแข็งแกร่งเป็นกุญแจนำไปสู่การค้นคว้าพระไตรปิฎกได้ และเป็นหลักสูตรที่ผลิตนักแปลให้คนไทยอื่นๆ สามารถศึกษาพระไตรปิฎกได้ในภาษาไทย 

 นอกจากหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเห็นหลักสูตรพระปริยัติธรรมภาษาทิเบตในวัดที่ตนเองอยู่ และเห็นจุดเด่นที่แตกต่างอย่างชัดเจน 

- นักเรียนพระปริยัติธรรมในวัดทิเบต (นิกายณิงม่า) เรียนพระปริยัติธรรมด้วยภาษาทิเบต เรียนพุทธปรัชญาต่างๆ ตรรกะ และหัวข้อธรรมะที่แตกต่างจากนักเรียนบาลีในไทย สามารถโต้วาทะธรรม (debate) ได้ พวกท่านไม่ได้เรียนพระพุทธพจน์ปิฎกทิเบตทั้งหมด ๑๐๐ กว่าเล่ม แต่เรียนเนื้อหาสำคัญตามหัวข้อที่กำหนดไว้ การที่ท่านเรียนเนื้อหาได้เช่นนี้ เพราะพวกท่านไม่ต้องใช้เวลามาเรียนภาษาดังที่นักเรียนพระปริยัติธรรมในไทยต้องทำ นี้คือหลักสูตรที่มีจุดเด่นด้านเนื้อหา แต่ไม่ใช่หลักสูตรผลิตนักแปลคัมภีร์

- นักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในไทย ต้องลงทุนเวลาสร้างพื้นฐาน เรียนภาษาและฝึกฝนทักษะการแปล นี้คือหลักสูตรที่มีจุดเด่นด้านภาษาและการแปล ผลิตนักแปลคัมภีร์ไปพร้อมกับการเรียนเนื้อหา ส่วนด้านเนื้อหานั้น เมื่อจบ ป.ธ.๙ / บ.ศ.๙ สามารถค้นคว้าได้ตามที่ตนเองสนใจ

จากที่กล่าวมานี้ การจะสร้างหลักสูตรที่มีจุดเด่นทั้งด้านการแปลและด้านเนื้อหาพร้อมกันจึงเป็นไปได้ยาก นักเรียนไม่สามารถเรียนทุกสิ่งทุกอย่าง “ในเชิงลึก” พร้อมกันได้ในขณะเดียวกัน หากท่านต้องการให้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเน้นด้านเนื้อหาทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก็ควรคำนึงถึงว่าจะเพิ่มเติมสิ่งนี้เข้ามาโดยที่สามารถรักษาจุดเด่นด้านภาษาและการแปลไว้ได้อย่างไร แต่การสร้างทักษะด้านการแปลเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วจะทำได้ในทันทีทันใด 

อนึ่ง เนื่องจากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำแปลเดิมเข้าใจยากสำหรับคนยุคต่อไป จึงจำเป็นต้องผลิตนักแปลเพื่อสื่อสารส่งต่อพระพุทธพจน์ถึงคนรุ่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนเนื้อหาในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องดี แต่เราจำเป็นต้องผลิตนักแปลให้คนอ่านคำแปลเนื้อหาในพระไตรปิฎกรู้เรื่องด้วย และจำเป็นต้องมีหลักสูตรการศึกษาเช่นนี้ไว้รองรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาเนื้อหาในพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีได้โดยใช้เวลาไม่นานและอยู่กึ่งกลาง ไม่ใช่การศึกษาแบบจารีตทั้งหมด และไม่ใช่สากลทั้งหมด แต่สามารถจะเชื่อมโยงกับการศึกษาแบบจารีต และศาสตร์อื่นที่เป็นสากล เช่น ภาษาศาสตร์ที่มีผลต่อการตีความคำศัพท์บาลี ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการเผยแผ่พระศาสนาและพระวินัย ฯลฯ

ข้าพเจ้ามิได้คาดหวังว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจะต้องมีทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเข้าใจวัตถุประสงค์เฉพาะของหลักสูตรนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำความต้องการส่วนตนไปเรียกร้อง เมื่อข้าพเจ้าต้องการศึกษาสิ่งที่ไม่มีในหลักสูตรนี้ ข้าพเจ้าก็ไปศึกษาตามหลักสูตรนั้นๆ ต่างหาก พวกเรามีเสรีภาพทางการศึกษา ไม่มีใครสามารถห้ามพวกเรามิให้เรียนวิชาใดๆ ได้มิใช่หรือ? 

เมื่อเห็นว่ามีสิ่งอื่นที่นักเรียนควรทราบเพิ่มเติมจากหลักสูตร ครูผู้สอนก็สามารถสอนเพิ่มเติมได้ทันทีแม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าสอนนักเรียนในแผนกบาลี บางครั้งข้าพเจ้าก็บอกนักเรียนว่าการสร้างคำนี้ ตำราในหลักสูตรเรามองว่าอย่างนี้ แต่หากวิเคราะห์ด้วยบาลีแบบสากล จะมีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง คนสอนเพียงแต่นำเสนอให้ทราบไว้ว่าผลลัพธ์เดียวกันนี้ ทฤษฎีต่างกันทำให้มีมุมมองและวิธีการหาคำตอบต่างกัน แต่นักเรียนจะเชื่อตามทฤษฎีใดนั้นเป็นการตัดสินใจของนักเรียนเอง

การวัดคะเนว่าหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมีเนื้อหาพระไตรปิฎกกี่เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่ทำยาก มิใช่เพียงแต่ดูหัวข้อแล้วเทียบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ยังต้องดูเนื้อหาทุกเล่ม “แต่ละเรื่อง แต่ละคำ” ซึ่งอยู่ตามที่ต่างๆ ในพระไตรปิฎกด้วย และจะวัดค่ากันเป็นอักษรใด อักษรไทย อักษรโรมัน อักษรเทวนาครี หรืออักษรอื่น? จะวัดค่ากันเป็นหน้าตามหน้าฉบับใด เมื่อพระไตรปิฎกบาลีมีฉบับพิมพ์เผยแผ่หลากหลายที่มิใช่แต่พระไตรปิฎกบาลีในไทยอย่างเดียว

การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่หนทางธรรมไม่อาจวัดค่าได้ด้วยตัวเลข จริงอยู่ว่าเราต้องรักษาเนื้อหาพระพุทธพจน์ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันให้ครบถ้วนเท่าที่ได้รับมาและส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป แต่มิได้หมายความว่าทุกผู้คนบนหนทางธรรมจะต้องเรียนทุกศาสตร์ทุกสิ่งในพระศาสนานี้ แต่ละคนสามารถเรียนและปฏิบัติตามความถนัด ความสนใจ และจริตของตน แม้มิได้เจนจบทุกคำสอนในบรรดา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แม้จะศึกษาเพียงคำสอนเดียว แต่หากปฏิบัติให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลงจนกระทั่งสิ้นสุดได้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง มิพักต้องสงสัยและวัดค่าด้วยตัวเลขใดๆ 

ถึงผู้ที่เสนอให้ปรับปรุงหลักสูตร ขอขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นและน้ำใจปรารถนาดี แต่จะเป็นการดีกว่านี้หากการข้อเสนอในการปรับปรุงหลักสูตรจะมาจากบุคลากรและนักเรียนผู้ใช้ชีวิตอยู่กับหลักสูตรนี้เอง หากท่านผู้เสนอให้ปรับปรุงหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้เข้ามาศึกษาหลักสูตรนี้ มองเห็นแจ่มแจ้งประจักษ์ถึงจุดเด่น จุดที่ควรแก้ไข วิธีที่ควรปรับปรุง และสามารถเสนอหลักสูตรที่ผลิตบุคลากรได้ทั้งด้านเนื้อหาและภาษาพร้อมกันในเวลาอันจำกัด เพิ่มเติมสิ่งสำคัญอื่นๆ โดยที่ยังคงจุดเด่นของการศึกษาหลักสูตรนี้ไว้ได้ ก็จะเป็นคุณูปการนัก แต่หากยังหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ ก็มีวิธีอื่น คือนำเสนอหลักสูตรการศึกษาแบบอื่นที่เพิ่มเติมสิ่งสำคัญนอกจากหลักสูตรนี้ เพื่อผลิตบุคลากรตามวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นทางเลือกให้นักเรียนบาลีสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามความสมัครใจของตนเอง

ขออนุโมทนาในกุสลเจตนาของทุกท่านที่พากเพียรศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาในแผนกต่างๆ และทุกท่านที่ปฏิบัติธรรมในสายการปฏิบัติต่างๆ พวกเราล้วนแต่ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ “ตามจริตและหนทางที่เหมาะสมกับเรา” มิใช่จะมีทางใดดีกว่าทางใด และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ เราเคารพเสรีภาพทางศาสนาของกันและกัน และในฐานะศาสนิกร่วมพระศาสนา เรามุ่งเน้นการเรียนการปฏิบัติของตนเอง และเคารพการเลือกหนทางธรรมของบุคคลอื่น

ด้วยบุญกุศลอันเกิดจากการชี้แจงนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จถึงที่สุดในด้านปริยัติและปฏิบัติตามหนทางที่ตนได้เลือกแล้วเถิด ฯ

ป.ล. วิทยานิพนธ์ ป.เอก ของข้าพเจ้า เรื่อง “พระสูตร 9 เรื่องใน BKA' 'GYUR และพระปริตรบาลี : การศึกษาเปรียบเทียบ (9 SUTRAS IN BKA' 'GYUR AND PALI PARITTAS: A COMPARATIVE STUDY)” ที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบพระสูตร 9 เรื่องในพระพุทธพจนปิฎกทิเบต กับพระปริตรบาลีที่คาดว่าเป็นต้นฉบับ สำเร็จได้เพราะความรู้ที่ได้เรียนมาจากทั้งหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี, หลักสูตรภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์พุทธศาสน์ศึกษารังจุง เยเช ม.กาฐมาณฑุ ฯลฯ ข้าพเจ้ามิได้เรียกร้องให้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต้องสอนทุกสิ่งแทนทุกหลักสูตรที่กล่าวมา ข้าพเจ้าเรียนหลักสูตรอื่นเพิ่มเติมจากพระปริยัติธรรมแผนกบาลีตามฉันทะของตนเอง และยังได้ใช้ความรู้จากหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็นพื้นฐานตั้งต้นสำหรับการศึกษาหลักสูตรอื่นๆ ด้วย

...

ดร.สุกัญญา สุขธรรมิกา เจริญวีรกุล บ.ศ.๙, สำนักเรียนวัดสามพระยา

ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดสามพระยา

๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ ณ กาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล"

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เปิดให้ตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เตรียมพร้อมสมัครเลือกสว.

  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567    สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการประชุมชี้แจงให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังห...