วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2567

"ศิษย์เก่าสันติศึกษา มจร" อัพเดทเครื่องมือ เรียนหลักสูตรระยะสั้นตายอย่างสันติ



วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นวิทยากรกระบวนการสร้างกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรสันตินวัตกรรม ภายใต้หลักสูตร "ตายอย่างสันติ" โดยมีศิษย์เก่าของหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาโท รุ่น ๑ รุ่น ๓ มาเรียนเพื่ออัพเดทเครื่องมือด้านสันติภาพในการพัฒนาชีวิตและป้องกันความขัดแย้ง พร้อมยกระดับจิตใจในภาวะที่มีความเปราะบาง โดยมีอดีตประธานชมรมสันติศึกษารุ่น ๑ ซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกของหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้เข้ามาเรียนในครั้งนี้ด้วย พร้อมศิษย์ปัจจุบันทั้งโทและเอกมาเรียนหลักสูตรใบไม้กำมือเดียว

สิ่งที่น่ากลัวมากในปัจจุบันซึ่งผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญคือ Dead inside เป็นภาวะตายจากข้างในแบบไม่รู้ตัว เวลาใช้ชีวิตหรือทำงานจึงใช้คำว่า "เล่นตามน้ำ" หรือ "อยู่เป็น" หรือ "เอาที่สบายใจ" ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประกอบด้วย ๑)ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต ๒)หมดอารมณ์เฉยชากับทุกอย่าง สะท้อนว่า

๑) #ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต เป็นการไม่มีเป้าหมายของการลืมตาดูโลกใบนี้ ด้วยการตั้งคำถามกับตนเองว่าฉันใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร หรือ ใช้คำว่าไฟข้างในมันหมด ไม่รู้ว่าเป้าหมายจริงๆของชีวิตคืออะไร ทำงานไปเพื่อเงินเท่านั้น ถือว่าเป็นความตายจากภายใน โดยมีภาวะของการซึมๆ ซึ่งเป็นอาการของคนขาดเป้าหมายชีวิต เราจึงต้องถามตนเองว่า อะไรคือแรงขับให้เราขับเคลื่อนในแต่ละวัน คำว่า Dead inside จึงไม่ได้แค่หมดไฟเท่านั้น จึงต้องเรียนรู้พัฒนาตนเข้าพบครูอาจารย์กัลยาณมิตรหรือโค้ช เพื่อหาคำตอบชีวิต 

๒) #หมดอารมณ์เฉยชากับทุกอย่าง  เกิดมาจากที่เราโตมาในชีวิตที่มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือ เผชิญกับความเจ็บในปัจจุบัน พอเจอความเจ็บปวดบางคนใช้วิธีการฉีดยาชาให้หัวใจตนเอง จึงมีความเฉยๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะฉีดยาชาเข้าไปในหัวใจเรียบร้อย  เช่น ต้องการความรัก ถ้ารักต้องคาดหวัง ฉันไม่รักเธอจึงไม่ต้องคาดหวัง โดยบางคนถูกสอนว่าต้องเข้มแข็งตลอดเวลา แต่แท้จริงทุกคนอนุญาตให้ตนเองร้องไห้ได้ ท้อแท้ได้ บางคนเข้มแข็งทุกอย่างจนนำไปสู่ความก้าวร้าวแบบไม่รู้ตัว เพราะนิยามของการร้องไห้แสดงว่าฉันเป็นคนอ่อนแอฉันแพ้ นำไปสู่การติดเกราะความก้าวร้าวทำให้ความสัมพันธ์พังลง จึงต้องพิจารณาตนเองว่าถ้าวันนี้เราเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร เรากำลังเดินไปหาอันตรายที่สุดในชีวิต จึงต้องพยายามอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกได้ ร้องไห้ได้ หัวเราะได้ เศร้าได้ เพราะมนุษย์แท้จริงใต้ภูเขาน้ำแข็งมีความรู้สึก 

จึงตั้งคำถามว่าตามกรอบของอริยสัจ ๔ ในทางพระพุทธศาสนาโดยมองว่า ปัญหาคือขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต หรือ หมดอารมณ์เฉยชากับทุกอย่าง มีสาเหตุมาจากอะไร วิธีการเครื่องมือกระบวนการที่เราจะแก้ไขควรวิธีการ ขั้นตอนอย่างไร ชีวิตควรมีเป้าหมายอย่างไรในแต่ละวันละเดือนละปี เพราะถ้าชีวิตมีนิโรธมีเป้าหมายจะทำให้เราพยายามลืมตาดูโลกแล้วลงมือทำในสิ่งนั้นให้สำเร็จ แม้มันไม่สำเร็จเราได้ชื่อว่าลงมือทำในสิ่งที่เราวางไว้ คำถามคือเป้าหมายของชีวิตเราคืออะไร แล้วเราจะกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร ถือว่าเป็นคำถามที่ชีวิตควรหาคำตอบก่อนตาย   

จึงสะท้อนว่า Dead inside เป็นภาวะของการตายจากข้างในแบบไม่รู้ตัว เป็นโรคของการไม่มีเป้าหมายของการลืมตาดูโลกใบนี้ เพราะชีวิตที่ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิตและการทำงาน  เป็นภาวะหมดอารมณ์เฉยชากับทุกอย่างจนใช้คำว่า เอาที่สบายใจ จึงจำเป็นต้องใช้กรอบอริยสัจ ๔ มองไปสู่เป้าหมายของชีวิต และมีพลังในทางพระพุทธศาสนาคือ พละ ๕ เป็นฐานของการพัฒนาคือ ศรัทธาคือมีแรงปรารถนาอย่างแรงกล้ามีความเชื่อมั่นในตนเอง  วิริยะคือมีความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  สติคือระลึกได้ว่ากำลังอยู่กับปัจจุบันทั้งเชิงรับและเชิงรุก  สมาธิคือคิดเรื่องเดียวมีจิตใจแน่วแน่มั่นคงโฟกัสกับเป้าหมาย  และปัญญาคือสามารถเลือกระหว่างสิ่งดีกับไม่ดีในการดำเนินชีวิตและทำงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะชนะคำว่า Dead inside เป็นภาวะตายจากข้างในแบบไม่รู้ตัว ตลอดไป 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...