วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

สันติศึกษามหาจุฬาฯมุ่งเชิงรุก พัฒนายกระดับหลักสูตรใหม่สดสมสมัยสอดรับการโลก



เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เข้ารับการพัฒนาและเรียนรู้เพื่อยกระดับหลักสูตรสันติศึกษาตามโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๕ แนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcome-Based Education : OBE)” เพื่อยกระดับหลักสูตรสันติศึกษา มจร   ให้มีคุณภาพโดยมุ่งเน้นนิสิตเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พร้อมการให้บริการนิสิต ซึ่งจัดการพัฒนาและฝึกอบรมโดย คณะมนุษยศาสตร์ร่วมกับสำนักประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยหลักสูตรสันติศึกษา มจร มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม 

พระมหาเผื่อน กิตฺติโสภโณ, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา มจร  เป็นประธานกล่าวเปิดและแลกเปลี่ยนสะท้อนว่า สำนักงานประกันคุณภาพ มจร เห็นความสำคัญในการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน ๒๕๖๕ ในปัจจุบันมีหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช้เกณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน ๓๖ หลักสูตร เป็นการกำกับมาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เช่น มาตรฐานคณาจารย์ คุณภาพบัณฑิต การประเมินผล จึงมุ่งเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพต่อไป   

อาจารย์ ผศ.ดร.นิคม มูลเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะวิทยากรแลกเปลี่ยนการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๕ แนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcome-Based Education : OBE) สะท้อนสาระสำคัญว่า ทำไมเราต้องปรับเพราะกฎกระทรวงมาตรฐานจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๕ มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๕ มีคำว่า “ผลลัพธ์การเรียนรู้” เป็นผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษา ฝึกอบรม  ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ 

โดยผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ๔ ด้านประกอบด้วย ๑)ด้านความรู้ (Knowledge) ระดับปริญญาโทเป็นความรู้ที่จำเป็นและเพียงพอต่อการนำไปใช้ปฏิบัติ ต่อยอดความรู้และเชื่อมโยงความรู้ใหม่เพื่อการค้นพบและสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นที่ยอมรับ ๒)ด้านทักษะ (Skills) ระดับปริญญาโทเป็นทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและทักษะการสร้างความรู้ในการปฏิบัติ การคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่เพื่อสร้างความรู้ใหม่เชิงวิชาการวิชาชีพ รวมถึงทักษะดิจิทัลสำคัญมากทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ๓)ด้านจริยธรรม (Ethics) ระดับปริญญาโทเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำระดับบุคคลที่สะท้อนถึงความเป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวส่วนรวมมุ่งทำตามกติกาของสังคมหลีกเลี่ยงการทำสิ่งผิดกฎหมาย ๔)ด้านคุณลักษณะ (Character) ระดับปริญญาโท มองถึงบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ค่านิยม มองถึงลักษณะทั่วไปและลักษณะตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น มีสันติภายใน มีความเป็นผู้นำ บริหารจัดการอารมณ์ได้ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น เคารพในความแตกต่างหลากหลาย สามารถสื่อสารอย่างสันติ เป็นต้น

โดยมุ่งตามกรอบประกอบด้วย ๑)มาตรฐานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) ๒)กฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมุ่งไปที่ “ผลลัพธ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ การบริหารหลักสูตร คณาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา การประเมินผลการเรียน เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา การประกันคุณภาพหลักสูตร ระบบกลไกในการพัฒนาหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตรรายวิชาหน่วยกิต  ปรัชญาวัตถุประสงค์  ชื่อปริญญา” จึงต้องมีการตรวจสอบหลักสูตรการศึกษา

(Outcome-Based Education : OBE) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นการออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยมีหลักสำคัญคือ “การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ : Learning Outcomes” หรือเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งแสดงถึงที่คาดหวังให้ผู้เรียนจะเป็น หรือทำได้เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ ใน AUN QA ใช้คำว่า Expected Learning Outcomes และเน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการสอนเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียน ตลอดถึงการประเมินที่สอดคล้องกันและนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้  โดย OBE จะทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของการให้การศึกษาคืออะไร สามารถวัดผลได้ ปรับปรุงได้ ทำงานเป็นทีม  มีการเชื่อมโยง ทำให้หันมาสนใจที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นอนาคตของตนเองได้ชัดเจน โดย OBE ไม่ได้มุ่งเน้นปริมาณความรู้หรือเนื้อหาที่สอนให้ผู้เรียน แต่เน้นไปที่หลักการที่ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดได้ สามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ หรือ ค้นหาความรู้ใหม่ๆได้ด้วยตนเองเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว

โดยการออกแบบหลักสูตรตามมาตรฐาน ประกอบด้วย ๑)วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง หา Need ของผู้เรียน ๒)คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ หมายถึง เมื่อจบไปแล้วมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างไร ๓)การเขียนผลลัพธ์การเรียนรู้หลักสูตรขึ้นมา ๔)ขยาย PLO ถ้าจะให้บรรลุจะต้องขยายอย่างไร จึงนำไปสู่รายวิชา ๕)ทำแผนที่เพื่อให้เกิดความสำเร็จถือว่าเป็นตัวที่สำคัญมาก เพราะทุกวิชาจะสอดคล้องกันมีการผลักดันไปสู่การบรรลุเป้าหมาย  ๖)มีการประเมินผลอย่างไรในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร  ๗)บรรลุความสำเร็จมากน้อยเพียงใด  โดยจะต้องได้รายวิชาตลอดหลักสูตรเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน มีการวัดผลประเมินผลออกมา 

การสร้างหลักสูตรจะต้องมอง ๕ มิติ ประกอบด้วย ๑)Qualification Framework and Professional Bodies มองถึงกรอบมารตฐานคุณวุฒะดับอุดมศึกษา (มคอ.๑ TQF๑) และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิมหาวิทยาลัย ๒)วิเคราะห์สถานการณ์และบริบทของโลก ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของโลก ความสอดคล้องกับพันธกิจแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย  การวิเคราะห์คู่แข่ง การออกแบบหลักสูตร และศักยภาพความพร้อมของหลักสูตร                     ๓)Stakeholder Analysis การวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย จะต้องผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลักสูตรเป็น Demand Driven  ๔)Graduate Attributes คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ สามารถวาดภาพของ Perfect Graduate ได้ว่าจะมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างไร ๕) Philosophy ปรัชญาของหลักสูตร เป็นปรัชญาการศึกษาเป็นพื้นฐานในการออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนให้ผู้เรียนในหลักสูตร  

Stakeholder Analysis ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มี ๔ ขั้นตอน ประกอบด้วย 

๑)การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหลักสูตร (Identify Stakeholder) มีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหลักสูตร มีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากหลักสูตร ผู้ใช้บัณฑิตในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญ กลุ่มที่มีผลต่อหลักสูตรต่อการตัดสินใจ “มีเกณฑ์ในการเลือก Stakeholder อย่างไร และมี Stakeholder ในอนาคตเราจะเลือกใคร อย่างไร”  ใครมีอิทธิพลต่อหลักสูตรทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 

๒)การวิเคราะห์และจัดลำดับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหลักสูตร (Prioritize Stakeholder) กลุ่มที่มีอำนาจในการออกแบบหลักสูตรสูง (HPLI HPHI LPLI LPHI) เป็นการวิเคราะห์เพื่อจัดหมวดหมู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีกลุ่มด้านอิทธิพล (Power) ผลกระทบต่อหลักสูตร (Impact) จะต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพมีวิธีการในการเก็บข้อมูลอย่างไร  

๓)การวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหลักสูตร (Stakeholder Need Analysis) โดยทำเป็นตารางให้ชัดว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือใคร และข้อมูลที่สะท้อนมาถึงความต้องการที่แท้จริง” หน้าตาของบัณฑิตที่เราจะพัฒนาควรมีหน้าตาอย่างไร คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตควรมีคุณลักษณะอย่างไร จึงต้องวิเคราะห์การมีส่วนร่วมน้อยและส่วนร่วมมาก

๔)ตรวจสอบข้อมูล สรุป สังเคราะห์ผล (Conclusion) จะต้องมีการสังเคราะห์ออกมาอย่างเป็นระบบ สรุปออกมาเป็นตารางให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร การออกแบบแผนการสอน วิธีการเรียนสอน และเครื่องมือประกอบการเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันจะมุ่ง “มิติการสื่อสารเป็น การทำงานเป็นทีมเป็น ความคิดสร้างสรรค์เป็น แต่ไม่ได้มิติของความรู้” 

เรามองอนาคตในการพัฒนาหลักสูตรแต่อย่าลืมอดีตว่าเราเคยมีปัญหาอะไรในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งการฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องมองว่า “อะไรคือความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ อะไรที่เป็นข้อมูลที่ต้องนำมาบริหารจัดการหลักสูตรให้การบริการผู้เรียนที่พึงพอใจมากที่สุด” โดยการฟังเสียงจึงมีความจำเป็นมากที่สุด จะนำไปสู่ Perfect Graduates


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกาะติดงานวิสาขบูชาโลก มจรแม่งาน 19-20 พค.นี้ เจ้าคุณประสารย้ำพร้อมแล้ว

เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 โดยปีนี้ชาวพุทธทั่วโลกมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 16  – 20 พฤษภาคม 2...