วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567

ปลัด มท. Kick Off อารยเกษตร อุบลราชธานียั่งยืน



ปลัด มท. Kick Off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เน้นย้ำ ขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่น ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567     เวลา 09.00 น. ที่สนามกีฬาโรงเรียนบ้านวังอ้อ (ยอดสังข์วิทยา) บ้านวังอ้อ หมู่ที่ 9 ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรม Kick Off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเมตตาจากพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระปัญญาวชิโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระครูโสภณอาภากร เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน พระครูปิยจันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าจันทราวาส ร่วมกิจกรรม โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ นายสมศักดิ์ บุญประชม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี นายกานต์ กัลป์ตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี นายสมชาติ พงคพนาไกร ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่กว่า 500 คนร่วมกิจกรรม



โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะฯ เยี่ยมชมนิทรรศการโคก หนอง นา จังหวัดอุบลราชธานี และนิทรรศการการขับเคลื่อนงานของส่วนราชการและหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทั้งร่วมรับชมการแสดงชุด "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอารยเกษตรอย่างยั่งยืน" โดยพี่น้องประชาชน และเด็ก เยาวชนในพื้นที่ตำบลหัวดอน ซึ่งเป็นการแสดงประกอบบทเพลงศาสตร์พระราชา ที่สะท้อนถึงความรัก ความอบอุ่นของประชาชนในการดำรงชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันนำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืนของชีวิต

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนมีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาเยือนพื้นที่ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นพื้นที่ต้นแบบการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ "ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับทราบจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญพระราชดำรัสองค์นี้ เพื่อประพันธ์เป็นบทเพลงหมอลำ สำหรับสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนและสังคมไทยโดยรวม ควบคู่กับการจัดทำป้ายพระราชดำรัสไปประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ เพราะการที่ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข เป็น 2 สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะหากประเทศชาติไม่มั่นคง ประชาชนก็จะไม่มีความสุข หรือหากประเทศชาติมั่นคงแต่ประชาชนไม่มีความสุข และถ้าหากประชาชนมีความสุขแต่ประเทศไม่มั่นคงจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ในสังคมมีแต่คนติดยาบ้า ยาเสพติด ชายแดนมีศึกสงคราม ภาวะบ้านเมืองคนในสังคมมีความแตกแยก ท้ายที่สุดความสุขแต่ละครัวเรือนก็ไม่เกิด การทำมาหากินก็ไม่สะดวก ยิ่งบ้านไหนมีการลักขโมย ลักทรัพย์ ไม่มองหน้า ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ท้ายที่สุดความทุกข์ก็จะกลับมา



"จังหวัดอุบลราชธานีเป็นดินแดนแห่งความโชคดี เพราะมีคณะสงฆ์เป็นหลักชัย นับเนื่องแต่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ผู้มีมาตุภูมิเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ทุ่มเทช่วยเหลือจังหวัดอุบลราชธานีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การอนุโมทนาสาธุ จนทำให้เห็นได้ว่าคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองช่วยกันทำบุญใส่บาตรและนำเข้าของไปเยี่ยมผู้ยากไร้และผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนถึงท่านเจ้าคุณพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้เมตตาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายบ้านเมือง ขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้มีความร่วมมือกับคณะสงฆ์ทั้ง 3 ฉบับ อันได้แก่ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้คนเที่ยวกลางคืน ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น   

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นประการที่สำคัญ คือ จังหวัดอุบลราชธานีในฐานะมหานครโคก หนอง นา ที่พี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ล้วนแต่มีความสุขที่ยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทยไว้ว่า "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน" โดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อันเป็นหลักการที่องค์การสหประชาชาติ ได้น้อมนำหลักการทรงงานและพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาถอดบทเรียนจนกลายเป็น 17 ตัวชี้วัดดังกล่าว เพื่อทำให้พลเมืองทั่วทั้งโลกได้มีความสุขที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One Left Behind) ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งใน 6 จังหวัดนำร่องที่เป็นต้นแบบให้กับอีก 70 จังหวัด ลุกขึ้นมาไม่ยอมแพ้ในการที่จะ Change for Good ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่จังหวัด เพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ "ประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้ง 70 ล้านคน" ที่จะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เห็นต้นแบบพื้นที่แห่งความยั่งยืนในทุกถิ่นที่ต่าง ๆ และประการที่สำคัญอันเป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายของพวกเราชาวมหาดไทย คือ การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ตาม SDGs ข้อที่ 17 ด้วยการหนุนเสริมภาคีเครือข่ายภาคเอกชนได้มาศึกษาเรียนรู้เพื่อพิจารณาต่อยอดการลงทุนต่อ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมช่วยต่อยอดทางเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และร่วมกับภาคสื่อสารมวลชน สื่อสารกันอย่างชัดเจนในทางเดียวกันเพื่อทำให้สังคมไทยได้รับรู้รับทราบว่า สิ่งที่พวกเรามาทำกันวันนี้เป็น การ Kick Off สิ่งที่เป็นรูปธรรมในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้กับพวกเรา

"เรากำลังร่วมกันสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เพราะอุบลราชธานี คือ มหานครแห่งโคก หนอง นา หรือ อารยเกษตร ที่เป็นต้นแบบอยู่แล้วว่าพี่น้องประชาชนมีความสุข ดังเช่น การแสดง "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอารยเกษตรอย่างยั่งยืน" ทำให้เราได้เห็นว่าภาคีเครือข่ายทุกท่านได้สื่อสารอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เป็นความมั่นคงของประชาชนทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการทำมาหากิน การใช้ชีวิต ล้วนแต่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้นำด้วยการที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวพระราชดำริให้พวกเราน้อมนำมาทำโดยไม่ต้องอายที่ได้ทำ เพราะเป้าประสงค์ของพระองค์ท่านอยากเห็นพี่น้องคนไทยทุกคนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง ตลอดจนถึงนิทรรศการโคก หนอง นา อุบลราชธานี ที่สะท้อนทำให้เราได้เห็นว่าประชาชนคนอุบลราชธานีมีรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 100 บาทต่อวัน ถ้าคิดในภาพรวมทุกครอบครัวในจังหวัดก็ตกเดือนละประมาณ 30 ล้านบาท และสามารถลดรายจ่ายอย่างน้อยวันละ 50 บาท คิดเป็นภาพรวมทั้งจังหวัดก็ประมาณเดือนละ 15 ล้านบาท ทั้งยังเป็นการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ วันนี้เรามา Kick Off กันที่อำเภอเขื่องใน แต่หลังจากนี้อีก 24 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนถึงอีก 70 จังหวัดนอกเหนือจากจังหวัดนำร่อง ต้องช่วยกันร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา แสวงหาจุดที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เราต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เราต้องการให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีและพสกนิกรผู้จงรักภักดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ช่วยกันเพิ่มเติมพื้นที่แห่งความยั่งยืนนี้ให้ครบทุกอำเภอตามกำลัง ตามภูมิสังคม หากมีพื้นที่เยอะก็ทำเยอะ มีพื้นที่น้อยก็ทำน้อย ทำให้เป็นต้นแบบว่า ทำ 1 ได้มากกว่า 2 มากกว่า 3 ด้วยการบูรณาการองค์รวม ขยายผลโครงการให้ครบทุกจังหวัด เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ดินแดนแผ่นดินไทยเป็นสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา นครนายก จันทบุรี กาญจนบุรี สตูล และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตร มาดำเนินการ

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำในที่ดิน นสล. 2 แปลง ที่ดินราชพัสดุ 1 แปลง ที่สาธารณประโยชน์ "ห้วยงิ้ว" ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และที่ดินของประชาชนที่ยินยอมให้ใช้ที่ดิน รวมเนื้อที่ประมาณ 62 ไร่ โดยบูรณาการงบประมาณ เครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ต้นกล้าเมล็ดพันธุ์จาก อบจ.อุบลราชธานี อบต.หัวดอน องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน พร้อมด้วยจิตอาสาและภาคีเครือข่าย

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...