วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567

"ณพลเดช" งงผู้ใหญ่บ้านมอบโฉนดเป็นที่ น.ส.ล. เผยสามารถสร้างวัดได้



เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567  เวลา 11.00 น. ที่วัดป่าสักเหนือ อ.พาน เชียงราย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับหนังสือร้องเรียน จาก น.ส.ธวัลรัตน์ ตั๋นคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เย็น และตัวแทนหมู่บ้าน ได้ยื่นร้องเรียนว่า สำนักสงฆ์ หมู่ 5 ต.แม่เย็น ที่ประชาชนได้รวบรวมเงินซื้อที่ดิน ที่เป็น น.ส.3 เพื่อวัตถุประสงค์จัดสร้างวัดประจำหมู่บ้าน แต่เมื่อทำการโอนเอกสารสิทธิ์ ปรากฏว่าได้โอนไปในชื่อของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เป็นการคล่องตัว แต่ภายหลังผู้ใหญ่บ้านเข้าใจผิดว่า การที่จะตั้งวัด จะต้องโอนที่เป็นที่ดินประชาชนสามารถใช้ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง)

ผู้ใหญ่บ้านดังกล่าวจึงได้ไปยื่นคำร้องโดยสำคัญผิด ให้โอนที่เป็น น.ส.ล. แต่หลังจากโอนที่แล้ว ปรากฏว่า ที่ดิน น.ส.ล. ไม่สามารถจะนำมาจัดสร้างวัดได้ จึงได้มายื่นเสนอต่อประธานกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษาพิจารณา ว่ามีกระบวนการใดบ้างสามารถ เปลี่ยนที่ดิน น.ส.ล. ให้กลับ เป็นที่ดิน นส.3 หรือโฉนดที่ดิน ดังเดิม เพื่อสามารถดำเนินการสร้างวัดตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ได้ลงขันร่วมมือกันจัดซื้อที่ดินดังกล่าวกลับคืนมา

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า หากพิจารณาตามกฏหมาย  ที่ดิน น.ส.ล. จะไม่สามารถสร้างวัดได้ เหตุการณ์แบบนี้อาจใช้ช่องกฎหมายในการสำคัญผิดเพื่อให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นเอกสารสิทธิ์ดั้งเดิม เพราะเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญ อีกทั้งมีช่องกฎหมายตามมาตรา 8 ของกฎหมายที่ดินมีช่องทางที่พอจะมีทางออกได้ อย่างไรก็ตามตนได้รับหนังสือดังกล่าวก็จะเสนอต่อประธานกรรมาธิการฯ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป จากประเด็นที่ดินของ น.ส.ล. มีระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่เขียนกำกับไม่ให้ใช้ที่ น.ส.ล. ให้หน่วยงานราชการเช่นสำนักงานพุทธศาสนานำมาใช้เพื่อเป็นวัด ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายอื่นๆ ระเบียบมหาดไทยข้อนี้ เห็นว่าควรต้องปรับปรุง เพื่อขจัดปัญหาในกรณีวัดที่จัดตั้งมายาวนาน แต่มีการออก น.ส.ล. ครอบที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างมาก และข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรค ต่อการจัดตั้งวัด อันเป็นศูนย์รวมใจของประชาชน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบศาสนาพิธี การดำเนินการของชาวบ้านที่เป็นศูนย์กลางของประเพณีต่างๆ อันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ได้ปฏิบัติตามกันมายาวนาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...