วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

"อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย" แนะการเรียนบาลีแบบไม่ยอดด้วน


เมื่อวันที่ 4 เมษายน  2567  หลังจากแม่กองบาลีสนามหลวงได้ประกาศผลสอบประจำปี 2567  โดยเฉพาะมีพระภิกษุและสามเณรสอบได้มากถึง 76 รูปในจำนวนนั้นมีสามเณรอายุ 17 ปีรวมอยู่ด้วยถือว่า เป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่สอบบาลีสนามหลวงได้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงหลักสูตรบาลีสนามหลวงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อย่างเช่น พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป, ป.ธ.9, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตร บาลีพุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัว “Wat Pan Ken” ตั้งคำถามว่า หลักสูตรบาลีสนามหลวง  เรียนพระไตรปิฎก เล่มไหน หน้าไหน ซึ่งสรุปความว่า  พระไตรปิฎก มี 27,289 หน้า  หลักสูตรบาลีสนามหลวง เรียน 149 หน้า  คิดเป็น 0.54% ของจำนวนหน้า  หรือ คิดเป็น 0.44% ของจำนวน 45 เล่ม พร้อมฝาก “แม่กองบาลี” พิจารณานั้น 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ทองย้อย แสงสินชัย" ความว่า  "การเรียนบาลีแบบยอดด้วน กรณีหลักสูตรการเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทยที่กำลังวิจารณ์กันในเวลานี้ จับประเด็นได้ว่า  ๑ มีผู้วิจารณ์ว่า ตามหลักสูตรตั้งแต่ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ.๙ นักเรียนบาลีเรียนพระไตรปิฎกน้อยไป หรือแทบจะไม่ได้เรียนเลย

๒ มีผู้วิจารณ์แตกประเด็นออกไปอีกว่า นักเรียนบาลีที่จบ ป.ธ.๙ ตามหลักสูตรและตามรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำกันอยู่ ไม่ได้เป็นผู้ทรงภูมิรู้สูงและสุดยอดในพระพุทธศาสนาอย่างที่ยกย่องกัน ขอจับแค่ ๒ ประเด็นนี้ก่อน

ตามข้อ ๑ คือยังคงมีความคิดหรือความเข้าใจกันอยู่ว่า พระไตรปิฎกนั้นเรียนกันเฉพาะในหลักสูตรการเรียนบาลีเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเข้าใจกันว่า หลักสูตรการเรียนบาลีของเราเปิดขึ้นมาเพื่อเรียนพระไตรปิฎก 

ครั้นพอตรวจสอบดูแล้ว พบว่าเรียนตัวพระไตรปิฎกน้อยอย่างยิ่ง หรือแทบจะไม่ได้เรียนเลย ก็จึงยกขึ้นมาวิจารณ์ 

ตามข้อ ๒ คือยังคงมีความคิดหรือความเข้าใจกันอยู่ว่า หลักสูตรการเรียนบาลีของเราเปิดขึ้นมาเพื่อสอนพระภิกษุสามเณรหรือผู้เรียนบาลีให้เป็นผู้ทรงภูมิรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา 

ครั้นพอตรวจสอบดูแล้ว พบว่า กระบวนการเรียนการสอนบาลีทุกชั้นไม่มีขั้นตอนใด ๆ ที่เป็นการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะให้นักเรียนบาลีเป็นผู้ทรงภูมิรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ก็จึงยกขึ้นมาวิจารณ์

ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนบาลีของคณะสงฆ์ไทยก็ดี ข้อวิจารณ์ทั้ง ๒ ประเด็นก็ดี ถ้าเรียกให้สุภาพก็ว่าเป็นการมองต่างมุม แต่ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็ต้องบอกกันตรง ๆ ว่าเป็นการมองการเรียนบาลีแบบยอดด้วน

การเรียนบาลีที่ถูกต้อง ยอดไม่ด้วน คือการเรียนรู้ฝึกฝนให้เชี่ยวชาญในกระบวนภาษาบาลี แล้วใช้ความรู้บาลีนั้นไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกต่อไป

พูดให้ชัด ๆ การเรียนบาลีมีงานที่จะต้องทำอยู่ ๒ ตอน

ตอนหนึ่ง เริ่มเรียน เรียนให้เชี่ยวชาญในกระบวนภาษาบาลี ตอนนี้เหมือนต้นไม้ มีต้นแต่ยังไม่มียอด

ตอนสอง เรียนจบ เอาความเชี่ยวชาญภาษาบาลีไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก เหมือนต่อยอดไม้

อุปมาให้เห็นชัด ๆ การเรียนบาลีเหมือนการเรียนหมอ

เรียนหมอคือเรียนวิชาการในกระบวนการรักษาคนป่วย

เรียนจบตามกระบวนการแล้ว เอาความรู้ที่เรียนมาไปรักษาคนป่วย

นี่คือกระบวนการเรียนหมอที่ถูกต้อง

เรียนบาลีคือเรียนให้รู้เข้าใจกระบวนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้บันทึกพระไตรปิฎก 

เรียนจบตามกระบวนการแล้ว เอาความรู้ที่เรียนมาไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก

นี่คือกระบวนการเรียนบาลีที่ถูกต้อง

พระไตรปิฎกอุปมาเหมือนคนป่วยที่รอการรักษา

เรียนบาลีจบแล้วไม่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก

อุปมาเหมือนเรียนหมอจบแล้วไม่รักษาคนป่วย

การเรียนบาลีของเราผิดพลาดถึงขั้นหลงทางหรือยอดด้วน เพราะเราเรียนตามหลักสูตรเพื่อให้จบตามหลักสูตร ได้ศักดิ์และสิทธิ์ตามชั้นประโยค แล้วด้วนอยู่เพียงแค่นั้น 

ไม่ได้จัดการให้ผู้เรียนจบแล้วไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกต่อยอดไปอีก 

เทียบกับผู้เรียนหมอจบแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอ แต่ไม่รักษาคนป่วย-ซึ่งไม่มีคนจบหมอที่เป็นปกติคนไหนทำอย่างนั้น 

แต่คนจบบาลีของเราทำอย่างนั้นกันแทบทั้งหมด เพราะเราเรียนแบบยอดด้วน เรียนรู้ภาษาบาลี แต่ไม่ได้เอาความรู้ไปทำงานบาลี

โปรดเข้าใจว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ใช่-และไม่ควรทำด้วยวิธีการเปิดเรียนเปิดสอนในชั้นเรียน เพียงแค่ ๙ ปี ๑๐ ปี (ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ.๙) ก็จบบริบูรณ์ 

การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกต้องเป็นการเรียนตลอดชีวิต-และไม่ใช่เรียนเฉพาะในชั้นเรียน

และโปรดเข้าใจว่า ถ้าต้องการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะให้คนของเราเป็นผู้ทรงภูมิรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ก็ต้องทำด้วยวิธีเปิดโรงเรียนฝึกฝนอบรมบ่มเพาะ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีเปิดการเรียนการสอนบาลีอย่างที่คณะสงฆ์ไทยทำอยู่ 

เพราะฉะนั้น การจะหวังให้นักเรียนบาลีของเราจบ ป.ธ.๙ แล้วเป็นผู้ทรงภูมิรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา จึงไม่ถูกเรื่อง-เหมือนปลูกขนุนแล้วหวังว่าจะออกลูกมาเป็นมะม่วง

แล้วจะทำอย่างไร?

จะทำอย่างไร ต้องตั้งหลักให้ถูก

หลักของเราก็คือ-เรามีพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อันเป็นตัวพระศาสนารอการศึกษาค้นคว้าอยู่

พระไตรปิฎกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เราจึงต้องการคนรู้บาลีเพื่อจะได้ศึกษาพระไตรปิฎกได้ถึงระดับ primary sources 

เราจึงเปิดการศึกษาภาษาบาลี (๑) เพื่อผลิตผู้มีความรู้ภาษาบาลี (๒) แล้วส่งไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกที่รอการศึกษาค้นคว้าอยู่-เหมือนคนป่วยรอหมอ

แต่เราพลาดตรงที่-ผลิตผู้มีความรู้ภาษาบาลีออกมาแล้ว แต่ไม่มีแผนหรือโครงการหรือเป้าหมายใด ๆ ที่จะส่งไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก

การเรียนหมอมีแผนอันชัดเจนและทำได้ตามแผน คือจบหมอแล้วส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาคนป่วยทั้งหมด

แต่การเรียนบาลีของเรา จบบาลีแล้วไม่มีแผนใด ๆ ที่จะส่งเข้าสู่กระบวนการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ผิดกันตรงนี้

เป้าหมายของการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คือ

(๑) เพื่อให้รู้เข้าใจหลักคำสอนที่ถูกต้อง

(๒) เอาหลักคำสอนที่ถูกต้องนั้นมาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง

(๓) แล้วเผยแผ่ให้แพร่หลายสู่สังคม

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาของเรามีนโยบายว่า พระพุทธศาสนาในสังคมไทยไม่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ และจะไม่ทำอย่างนี้

ก็จบแค่นี้ 

จะเรียนบาลีเพื่ออะไร หรือจะไม่เรียนเพื่ออะไร-เลิกพูดกัน

เก็บพระไตรปิฎกไว้ในตู้ เอาไว้บูชากันในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมืองต่อไป

แต่ถ้าเราเห็นว่า พระพุทธศาสนาในสังคมไทยจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกตามเป้าหมายทั้ง ๓ ข้อนั้น ก็ขอให้ช่วยกันคิดว่า จะมีวิธีไหนบ้าง-ทำให้นักเรียนบาลีของเรา-เมื่อเรียนจบแล้วหรือเมื่อเรียนจนพอมีความรู้แล้วก็มุ่งหน้าไปสู่กระบวนการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก-เหมือนคนเรียนหมอ เรียนจบแล้วมุ่งหน้าไปสู่กระบวนการรักษาคนป่วย

ช่วยกันคิดตรงนี้ครับ

จะวิจารณ์การเรียนบาลีว่าอย่างไรก็เชิญว่ากันให้เต็มสติเถิด

แต่ต้องช่วยกันคิดเรื่องนี้ด้วย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๔ เมษายน ๒๕๖๗

๑๘:๕๗

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...