วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ท้าทายโลก 4.0 สจล.เปิดสอนโหราศาสตร์




          “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน” ep 37 พาไป สจล.ดูความกล้า ท้าทายโลก ยุค 4.0 ด้วยการเปิดสอนวิชาโหราศาสตร์ ให้เป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
          
ในยุคที่ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” กำลังมาแรง ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกให้มีความก้าวหน้าและพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น จะมีใครเชื่อว่า สถาบันอุดมศึกษาชื่อดังอย่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. จะกล้าท้าทายความก้าวหน้า ยุค 4.0 ด้วยการเปิดสอนวิชาโหราศาสตร์ ให้เป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพบว่าได้รับความสนใจจากนักศึกษาอย่างน่าแปลกใจ
          
วันนี้ รายการ “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน” โดยทีมข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จะพาไปดูและฟังเหตุผลกันถึง สจล. โดย ดร.อำภาพรรณ ตันตินาครกูล ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. บอกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดให้มีการจัดการเรียนการสอนวิชานี้ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาเลือก นั้น ทางสำนักวิชาฯ ได้รับนโยบายจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. โดย ให้ไปดูว่า รอบโลกเป็นอย่างไร มีวิชาอะไรใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่เด็กบ้าง ทางสำนักวิชาฯก็ไปทำการบ้านแล้วเห็นว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีการเปิดสอนโหราศาสตร์กันมานานแล้ว ซึ่งเมืองไทยก็น่าจะทำได้ เพื่อให้เด็กได้เข้าใจและเรียนรู้ตัวตน ที่สำคัญให้เด็กคิดเป็น และมีวิจารณญาณในการคิด ไม่ใช่เชื่อเรื่องงมงาย จึงคิดว่าน่าจะเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่อยู่ในความสนใจ และเด็ก ๆ ก็น่าจะอยากรู้ และน่าจะเป็นความรู้ใหม่อีกแขนงหนึ่งสำหรับเด็กได้
          
จากการสัมภาษณ์อาจารย์ผู้สอน ก็ทราบว่า เป็นเรื่องของหลักวิชาการ ทางสถิติ ซึ่งมีการเก็บและรวบรวมสถิติมาอย่างยาวนาน ถ้าเด็กได้เรียนวิชานี้จะได้ฝึกคิดอย่างเป็นระบบ เพราะวิชานี้อยู่ในกลุ่มของศาสตร์แห่งการคิดเป็นวิชาบูรณาการที่ดึงความสนใจของเด็กไปอยู่ที่เรื่องที่มีความน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องของตัวเลข ดวงดาว และหลักคิดที่ได้จากการรวบรวมในเชิงสถิติแล้วถ่ายทอดออกมาในแง่ของการผูกดวงชะตาอย่างมีหลักการ
          
“ในการเรียนเด็กจะได้ลงมือคิดคำนวณคิดวิเคราะห์จากองค์ประกอบของดวง ที่สำคัญ ฝึกคิดไตร่ตรองทำให้มีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณว่า เรื่องของดวงดาวกับเรื่องของอนาคตจะมีความเป็นไปได้อย่างไร เป็นการคิดอย่างมีกระบวนการและมีองค์ความรู้ที่ดี เป็นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งสุดท้ายแล้วเด็กจะได้รู้ว่าผลของการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นอย่างไร การที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชานี้ไม่ใช่เอาเรื่องความงมงายมาสอนเด็ก แต่เพราะวิชาศึกษาทั่วไป เป็น วิชาที่สอนให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความเป็นคนที่รู้รอบด้าน มีองค์ความรู้หลากหลาย เพื่อให้อยู่กับโลกปัจจุบันได้ และ เติบโตเป็นบุคลากรที่มีความสามารถเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมโลกได้ เพราะฉะนั้นเทรนด์ความรู้อะไรที่เกิดมาและเป็นประโยชน์กับเด็กทางสำนักวิชาก็พยายามจะนำเสนอให้เด็กได้เรียน ซึ่งก็พบว่าเด็กให้ความสนใจลงเรียนมากกว่า 100 คน จนต้องแบ่งเป็น 2 ห้อง”ดร.อำภาพรรณทิ้งท้าย
          
ด้าน อ.ธาตรี เทียมทอง ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์วิทยา กล่าวว่า วิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาทางสถิติผนวกกับเรือนชะตา สิ่งที่นำมาสอนก็เป็นเรื่องของสถิติที่มีการเก็บสั่งสมกันมาแต่โบราณ โดยวิชาที่สอนจะเป็นวิชาพื้นฐานง่าย ๆ คือ วิชาคัมภีร์มหาสัตตเลข เป็นเรื่องของเลข 7 ตัว วิชาโหราศาสตร์ไทยเป็นของการตั้งดวง และ วิชาเลขศาสตร์เป็นเรื่องของตัวเลขที่ใช้กับบ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น โดยหลักในการสอนจะเน้นเรื่องของสถิติและหลักวิชาการ ไม่เน้นเรื่องความเชื่อ หรือความงมงาย สิ่งสำคัญถ้านักศึกษาได้เรียนและนำไปใช้จะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้
          
“คนที่เรียนจะรู้ว่า ดาวแต่ละดวงมีความหมายอย่างไร แทนเรื่องราวอะไรได้บ้าง ยังมีเรื่องของเรือนชะตาที่จะบ่งบอกเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประสมกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะสามารถใช้เป็นหลักในการบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า สามารถเตือนให้ระมัดระวัง หรือมีสติในการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน เด็กบางคนเรียนไปยังไม่ทันจบหลักสูตรก็สามารถเอาไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ได้แล้ว” อ.ธาตรีกล่าวและว่า จริง ๆ ต่างประเทศมีสอนในสถาบันการศึกษากันมานานแล้ว อย่างที่ อินเดีย อังกฤษ เยอรมนี แต่ของประเทศเราเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นนิมิตรที่ดีเด็กยุคใหม่ให้ความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้วงการโหราศาสตร์พัฒนาขึ้นได้ เพราะจะมีการเก็บสติถิใหม่ ๆ และมีตำราใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก รวมถึงจะมีนักโหราศาสตร์ ซึ่งก็คือ นักบำบัดจิตใจ นักปลอบโยน เป็นผู้แนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี เกิดขึ้นอีก เพราะนักโหราศาสตร์จะใช้สถิติให้เป็นประโยชน์ในการบอกกับคนที่เข้ามาหาและแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องต่าง ๆ ได้
          
ลองมาฟังน้อง ๆ นักศึกษากันบ้าง ทุกคนเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงสนใจลงเรียนวิชาโหราศาสตร์กัน เริ่มกันที่ น้ำ น้ำฝน จักขุจันทร์ บอกว่า สนใจ เพราะเป็นวิชาที่แปลกใหม่ ไม่เคยได้ยินว่ามหาวิทยาลัยไหนเปิดมาก่อน ที่เรียนมาก็ไม่ได้งมงาย เพราะอิงจากหลักสถิติ เป็นเรื่องความน่าจะเป็น มีทั้งจริงและไม่จริง อยู่ที่วิจารณญาณ ก็ลองไปดูให้เพื่อนแล้ว เพื่อนก็ว่าแม่นบ้าง
          
ธนากร สะสูรย์ หรือ อู๋ บอกว่า หลังจากเรียนจนรู้หลักการแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ก็ค่อนข้างตรงประมาณ 60-70% ทำให้เรารู้ว่าจะเกิดอะไร จะมีอุบัติเหตุอะไร อย่างน้อยเราก็จะได้เตรียมตัวไว้ก่อน ถ้าถามว่างมงายหรือไม่ ตอนแรกก็คิดว่างมงาย เพราะผมเชื่อในวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ แต่พอได้เรียนก็เห็นว่าเป็นเรื่องของสถิติจริง ก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิดแล้วมาศึกษาจริงจังมากขึ้นก็รู้ว่ามีส่วนที่ตรง และส่วนไหนไม่ตรง อีกอย่างก็สอนให้เรารู้ว่าควรต้องระมัดระวังอะไรช่วงไหน เรียนก็รู้สึกว่าดี เอาไปเป็นอาชีพเสริมได้ รับดูก็มีรายได้ ตอนนี้มีเงินสะสมส่วนหนึ่งแล้ว โดยจะบอกคนที่มาให้เราดูว่าถ้าแม่นก็ส่งเงินมาถ้าไม่แม่นก็ไม่ต้องส่งมา ซึ่งส่วนมากก็ส่งมา
          
ขณะที่ ธิยารัตน์ ธนากูลอิทธิพัทธ์ (จูเนียร์) บอกว่า ที่เลือกเรียนวิชานี้ เพราะสะดุดที่ชื่อวิชา และเป็นวิชาที่ต้องไปหาเรียนข้างนอก แต่นี่โอกาสเข้ามาถึงแล้วก็เลยลองเรียนดู เราเป็นเด็กวิศวะแล้วมาเลือกเรียนวิชานี้บางคนอาจะมองเป็นเรื่องงมงาย แต่หนูไม่มองอย่างนั้นเพราะเป็นความเชื่อของแต่ละคน เค้าไม่ได้บังคับว่าต้องเชื่อ พอเรียนไปแล้วก็รู้สึกสนุกเพราะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ทำให้เรารู้ล่วงหน้าว่าควรจะทำอะไร เมื่อไหร่ เวลาไหน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิต หลังจากเรียนแล้วพอมีความรู้บ้างก็ไปทดลองดูเบอร์โทรศัพท์ให้แม่ ให้น้องเค้าก็เชื่อ เพราะเบอร์เดิมของแม่ตัวเลขไม่ดี พอเปลี่ยนแล้วการงาน การเงินดีขึ้น ส่วนพ่อตอนแรกไม่เอาเรื่องนี้เลย แต่พอแม่เปลี่ยนแล้วดีขึ้น พอก็อยากลองบ้าง พอเปลี่ยนแล้วก็ดีขึ้นจริง
          
สำหรับ เบสท์ ธนารัชฏ จวนจรูญ บอกว่า ที่มาเรียนก็ด้วยความสงสัย เพราะผมเป็นสายวิทย์จ๋า ผมเชื่อในวิทยาศาสตร์มาก และก็สงสัยว่าทำไมถึงมีศาสตร์นี้ขึ้นมา ก็เลยเข้ามาเรียน ทำให้รู้ว่าเป็นการใช้ตัวเลข สถิติ ในการให้เหตุผลในการดู ซึ่งก็ค่อนข้างตรง และจากที่เอาไปทดลองดูให้เพื่อน เพื่อนก็บอกว่าตรง ซึ่งก็รู้สึกประหลาดใจเหมือนกันว่าทำไมถึงตรง ก็ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
          ติดตามชมรายการ “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน” ย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube: DailyNews Live-TH หรือ ชมสดทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.30 – 12.00 น.

Cr.https://www.dailynews.co.th/education/678331

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...