วันที่ 24 พ.ย.2561 พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก pramote od pantapat ความว่า #ร้องไห้ด้วยสติหัวเราะด้วยสติชีวิตของเราหัวเราะบ้างร้องไห้บ้างก็ได้
กระแสสังคมที่กำลังพูดถึงกันมากในตอนนี้ คือ #กรณีพระในหนังเรื่องหนึ่งร้องไห้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร จึงมีการแสดงความเห็นแบบเอกังสวาทีบ้างและวิภัชชวาทีบ้างคือ มองมุมเดียวบ้าง มองแบบแยกแยะบ้าง ทุกคนมีวิธีมองได้ แต่การที่มนุษย์จะร้องไห้หรือหัวเราะนั้นล้วนมาจากความรู้สึกภายในเป็นภาวะของการได้รับการกระทบทั้งมุมบวกและมุมลบ อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการร้องไห้ของใครบางคน อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการหัวเราะของใครบางคน บุคคลที่ร้องไห้เกิดจากความดีใจหรือเสียใจเจ็บปวด สิ่งเดียวที่จะแสดงออกได้เมื่อดีใจสุดๆ เสียใจเจ็บปวดสุดๆ คือการร้องไห้ออกมา เพราะมันคือความรู้สึกภายใน ในช่วงขณะนั้นอาจจะขาดสติ จึงต้องตระหนักว่า ทำอย่างไรเมื่อชีวิตเจอเรื่องที่เจ็บปวดสุดเราจะต้องมีสติให้มากที่สุด โดยเฉพาะการที่เราเจอเรื่องของ #การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักย่อมนำไปสู่การร้องไห้ แต่จะร้องไห้อย่างไรให้มีสติ รู้เท่าทันเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะบางครั้งสาเหตุที่ #น้ำตาไหลออกมานั้นตากำลังอธิบายในที่ปากพูดออกมาไม่ได้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะ ธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา " แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้าถึงแม้พระองค์จะปรินิพพานยังสอนเป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า"ห่วงใยคนทั้งโลก ว่าอย่าประมาทในชีวิต" ทำให้ปราชญ์ท่านหนึ่งเสนอวิธีการรับมือกับความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งแบ่งออก 5 ประการ พร้อมแสดงทัศนะของผู้เขียนเพิ่มเติม คือ
#1.ปฏิเสธความจริง หมายถึง ไม่ยอมรับความจริงว่าบุคคลอันเป็นที่รักของเราสูญเสีย ด้วยคำกล่าวว่า ไม่จริง ไม่เชื่อ เป็นไปไม่ได้ บุคคลอันเป็นที่รักของเรายังไม่ตายหรอก เป็นเรื่องโกหกหลอกลวง เราทุกคนจะปฏิเสธความจริงเสมอเมื่อเกิดเหตุการณ์พลัดพรากบุคคลอันเป็นที่รัก ลักษณะแบบนี้ เรียกว่า ปฏิเสธความจริง
#2.ประวิงเวลา หมายถึง การถ่วงเวลาในการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักด้วยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา อธิษฐานเพื่อประวิงเวลา เหมือนหมอบอกว่าเป็นโรคระยะสุดท้าย เมื่อไปรักษาโรคแผนปัจจุบันไม่ได้ ก็ประวิงเวลาด้วยการไปหาหมอแผนสมุนไพร ทำทุกวิถีทางเพื่อประวิงเวลาให้กับตนเองไม่ให้สูญเสีย ถือว่าเป็นการประวิงเวลา เพื่อทำใจยอมรับในการสูญเสีย
#3.โทษเทวดาฟ้าดิน " หมายถึง เมื่อมีการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักก็จะโทษเทวดา โทษกรรม ว่าทำไมต้องเป็นเรา หรือ บางคนอาจจะโทษพ่อแม่ ว่าเกิดมาจนเลยเป็นแบบนี้ นักเรียนนักศึกษาบางคนโทษครูอาจารย์ ที่ตนเองเป็นแบบนี้เพราะครูอาจารย์ หรือ ถ้าบุคคลที่รักของเราสูญเสียก็โทษหมอพยาบาล ว่าดูแลรักษาอย่างไรถึงเป็นแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ ถือว่าโทษเทวดาฟ้าดิน โทษทุกอย่างที่สามารถโทษได้ยกเว้นตนเอง
#4.ถวิลหาร่ำไห้ หมายถึง เกิดความเศร้าโศกร่ำไห้ ดังพุทธพจน์ว่า " โสเกหิ ปะริเทเวหิ ทุกเขหิ โทมะนัสเสหิ อุปายาเสหิ แปลว่า โดยความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย " ล้วนแต่เป็นความทุกข์ ความสูญเสียจึงทำให้เกิดการร้องไห้ เป็นภาวะจากภายในใจที่ระบายออกมาเพราะความรัก เมื่อสูญเสียจึงถวิลหาร่ำไห้ออกมาซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์
#5.ทำใจยอมรับ หมายถึง การเจริญมรณัสสติ รู้เท่าทันว่า เราจะต้องพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดาสิ่งมีชีวิต เราจึงไม่ควรหลอกตนเองว่าเขายังไม่ตาย ยอมรับความเป็นจริงของกฎไตรลักษณ์ คือ " ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน มันไม่ได้ดั่งใจทุกเรื่อง มันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ " วิธีการยอมรับ คือ การทำบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ซึ่งหมอจะพูดคำว่า " อาการไม่คงที่ และ ติดเชื้อในกระแสโลหิต" เป็นประโยคที่ต้องเตรียมใจ ทำใจยอมรับความเป็นจริงของโลกว่าต้องตาย ถ้าหมอกล่าวประโยคนี้ขึ้นมา
บุคคลที่เป็นคนต้นแบบของการทำใจยอมรับในสมัยพุทธกาลคือ "นางกีสาโคตมี" ไม่ยอมรับว่าลูกตนเองเสียชีวิต นางกีสาโคตมีเริ่มตั้งแต่ปฏิเสธความจริง ซึ่งมีคนบอกว่าลูกนางตายแล้วนางก็ไม่เชื่อ ปฏิเสธความจริงว่าไม่ตาย นางจึงประวิงเวลา ด้วยการเดินไปผู้คนในการชุบชีวิตลูกของตนเอง เพื่อประวิงเวลาว่าใครจะรักษาลูกให้คืนชีพได้ ไปหาใครๆ ก็ไม่สามารถช่วยได้ นางกีสาโคตมีจึงโทษเทวดาฟ้าดิน ว่าทำไมต้องเป็นของนางด้วย เป็นเวรกรรมอะไรกันถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ โทษเทวดาฟ้าดิน จึงทำให้นางถวิลหาร่ำไห้ เกิดความเศร้าโศก ร้องไห้ ทุกข์ใจ หมดหวัง ในขณะที่นางร้องไห้อยู่นั้น มีคนบอกว่า มีบุคคลหนึ่งที่สามารถชุบชีวิตลูกของนางได้บุคคลผู้นั้นคือ "พระพุทธเจ้า" จึงทำให้นางอุ้มลูกไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า บอกว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นจะช่วยลูกเธอได้
พระพุทธเจ้าจึงใช้พุทธวิธีเพื่อจะช่วยให้นางกีสาโคตมี "ทำใจยอมรับ " ซึ่งพระองค์ตรัสว่า สามารถช่วยชีวิตลูกเธอได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องไปหาเมล็ดผักกาดในบ้านที่ไม่มีใครตายเลย เพื่อจะได้ประกอบพิธีในการชุบชีวิตของลูกนาง นางกีสาโคตมีดีใจมาก เดินอุ้มลูกไปขอเมล็ดผักกาดจากบ้านต่างๆ ที่ไม่มีคนตาย ซึ่งทุกบ้านมีเมล็ดผักกาด แต่ก็มีคนตาย บางบ้านพ่อเพิ่งตาย บางบ้านแม่เพิ่งตาย บางบ้านลูกเพิ่งตาย ทุกบ้านมีคนตายทั้งนั้น จึงทำให้นางกีสาโคตมี มีสติรู้เท่าทัน ทำให้เกิดอาการรู้ตัวของการ #ร้องไห้ด้วยสติ ว่าไม่ใช่แต่ลูกเราที่ตาย ทุกคนก็ตายเหมือนกัน จึงทำให้นางกีสาโคตมี #ทำใจยอมรับ ในกฎของไตรลักษณ์ กฎธรรมดาของธรรมชาติ แล้วขอบวชเป็นภิกษุณีสำเร็จพระอรหันต์ พระพุทธเจ้ายกย่องเป็นผู้เลิศด้านทรงจีวรเศร้าหมอง "ไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เห็นธรรม " ถือว่าเป็นการสอนของพระพุทธเจ้าที่สุดยอดมาก โดยมีเมล็ดผักกาดเป็นอุปกรณ์ในการสอนเรื่องความตาย
ดังนั้น เราต้องฝึกทำใจยอมรับ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ยอมรับว่าเราจะต้องตาย ยอมรับว่าเราจะต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ยอมรับว่าเราจะต้องแก่ชรา ยอมรับว่าเราจะต้องจากกันไม่วันนี้ก็วันหน้า เมื่อฝึกการยอมรับ เราจึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นสร้างบุญให้ทาน รักษา ภาวนา ปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นหนทางแห่งการเกิดสันติสุขภายใน จึงย้ำเตือนว่า " ห้ามปากของใครไม่ได้ จงห้ามที่ปากเรา ห้ามใจของใครไม่ได้ จงห้ามที่ใจเรา ห้ามกายของใครไม่ได้ จงห้ามที่กายเรา " กรณีพระร้องไห้ #จงมองคุณค่ามากกว่าดราม่า จงมองว่า เพราะความพลัดพรากนี่เองที่ทำให้เป็นสาเหตุให้เกิดการร้องไห้ เราทุกคนต้อง เจอแน่นอน บางครั้งหนังก็เป็นบทเรียนสอนเราว่าอย่าประมาทในชีวิต จึงต้องเตรียมตัวกับ #การร้องไห้ด้วยสติฝึกการเผชิญกับความตายและการพลัดพราก เราทุกคนเจอแน่นอนไม่ว่าจะพระหรือบุคคลทั่วไป
Cr.ภาพจากhttps://thestandard.co/thi-baan-the-series-2-2-censorship-lesson-learned/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น