วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
'พระว.วชิรเมธี' วอน'สื่อมวลชนไทย ควรหาความรู้ให้แน่ ใช่แค่มโน' ปมสอนเรื่องการฆ่าเวลาแปลงสารเป็นเรื่องฆ่าคน
วันที่ 16 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
ได้โพสต์ข้อความว่า “สื่อมวลชนไทย ควรหาความรู้ให้แน่ ใช่แค่มโน” (สอนเรื่องการฆ่าเวลา ใยแปลงสารออกมาเป็นเรื่องฆ่าคน)
ในรอบหลายปีที่สังคมไทยตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง คนต่างกลุ่มต่างพวกที่มีความเห็นแตกต่างกัน ต่างก็ตกอยู่ในห้วงแห่ง ความโกรธ เกลียด ชิงชัง และต่างก็งัดเอาสารพัดวิธีมาทำลายกัน เพื่อพิทักษ์ รักษาไว้ซึ่งความคิดความเชื่อของตน ผู้คนทั้งประเทศถูกลากเข้าไปสู่ความขัดแย้ง ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า
ในท่ามกลางความขัดแย้งนั้น มีนักคิด นักเขียนมากมายเข้าร่วมวงด้วย บางคนก็เป็นนักคิดนักเขียนตัวจริงที่เป็นคนใจซื่อถือสัตย์ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง แต่บางคนก็มีเจตนาชัดเจนในทางยุให้รำตำให้รั่ว ยั่วให้แย้ง แกล้งให้เป็นประเด็นจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ในขณะที่คนทั้งสังคมเบื่อหน่ายความขัดแย้ง พยายามหาวิธีสร้างสมานฉันท์ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่บางคนกลับพยายามทำทุกอย่างในทางตรงกันข้าม และพยายามสร้างเงื่อนไขให้คนขัดแย้งกันอยู่เสมอ บางคนทำดังหนึ่งว่า ถ้าประเทศไทยสงบสุขตัวเองจะหมดความหมาย ดังนั้นจึงต้องหาเรื่อง สร้างเรื่อง เพื่อเบียดเบียนคนอื่นอยู่ตลอดเวลาอันยาวนาน เรื่องไม่มีก็ขยันสร้างขึ้นมา บางเรื่องขาดความสมเหตุสมผล ขาดบริบท ขาดความจริงรองรับทุกอย่าง ก็ยังดันทุรังจะให้เป็นเรื่องเสียให้ได้
ที่เกริ่นมาข้างต้นนี้ก็เพื่อจะบอกว่ามีนักวิชาการ “บางคน” จาก “บางค่าย” พยายามจะสร้างเรื่องมาโยนใส่ผู้เขียนครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆ ที่เรื่องที่สร้างขึ้นมานั้น ขาดความสมเหตุสมผลในตัวมันเองและตลอดชีวิตของผู้เขียน ก็ไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าเค้ากับที่พยายามจะหาเรื่องเลยแม้แต่น้อย
นานมากแล้ว ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นหนึ่ง จำได้ว่าชื่อ “มายาการของหลอดด้าย” เนื้อหาหลักยังจำได้แม่นเพราะเขียนเองกับมือ ประเด็นสำคัญของบทความนี้ก็คือ
ต้องการ “ชี้ให้เห็นคุณค่าของเวลาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า” ที่ทรงสอนว่า “เราควรใช้เวลาแต่ละวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าประมาทเวลา อย่าฆ่าเวลา
การฆ่าเวลาต้องนับว่าเป็นบาปชนิดหนึ่ง (ไม่ใช่บาปจริงๆ แต่เป็นการเปรียบเทียบ) พอๆ กับการฆ่าคน จะพูดว่า ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคนก็ได้ (ไม่ได้หมายความว่า “ฆ่าคนไม่บาป” จุดเน้นอยู่ที่ “ฆ่าเวลา” ไม่ใช่เรื่อง “ฆ่าคน” อย่าลืมว่าประเด็นของเรื่องคือการใช้เวลาให้เกิดคุณค่า)
ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น เพราะคนที่ขาดสติ มักจะฆ่าเวลาโดยไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว มักจะพร่าผลาญเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่รู้จักใช้เวลาแต่ละวินาทีให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิต เขาแค่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นแก่นสารของชีวิตที่แท้จริง เวลาแต่ละวันจะไหลผ่านเราเพียงครั้งเดียว ผ่านแล้วผ่านเลยชั่วนิรันดร์ ดังนั้น เราจึงต้องใช้เวลาแต่ละวันให้คุ้ม เหมือนที่พระพุทธองค์ท่านว่า “อโมฆัง ทิวะสัง กะยิรา อัปเปนะ พหุเกนะ วา แปลว่า “เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ต้องได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อย ขโณ โว มา อุปัจจะคา แปลว่า “ขณะ (เวลา) อย่าผ่านไปเปล่า” และ/หรือเหมือนกับที่อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีซีไรท์ เขียนเตือนเอาไว้ว่า
“น้ำไหลอายุไขก็ใหลล่วง
ใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
ฆ่าเวลาคือพร่าค่าคืนวัน
จะกำนัลโลกนี้มีงานใด”
เนื้อหาของบทความก็มีแค่นี้ แก่นมีแค่นี้ บริบทเป็นอย่างนี้ ต้องการชี้เรื่อง การเห็นคุณค่าของเวลา แม้เนื้อหาจะไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง แต่ผู้เขียนเป็นคนเดียวกัน เขียนเองกับมือ ประเด็นจึงไม่หลุดไปจากนี้ เรื่องก็มีแค่นี้ จำได้ว่า บทความนี้ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ก็เคยเอามาอ้างอิงลงในนิตยสารมติชนแบบเต็มเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความชื่นชมว่าพูดถึงคุณค่าของเวลาได้เป็นอย่างดี
แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ก็มีนักวิชาการบางคน ยกข้อความบางส่วนจากฉบับเต็มมาอ้าง แล้วก็พูดขึ้นมาเองเลยว่า “ผู้เขียนบทความนี้” เขียนหรือสอนกระตุ้นความรุนแรง
เพราะสอนว่า “การฆ่าคนไม่บาป” (เรื่องเดิมเขาพูดเรื่อง ฆ่าเวลา ไปหยิบเรื่องฆ่าคนมาชูได้อย่างไร ไม่มีใครเขียนเลยเถิดไปขนาดนั้นเลย บริบทก็ไม่ใช่)
เรื่องนี้ถ้ามันจะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้นโดยตัวมันเอง บุคคลระดับอดีตรัฐมนตรี นักการศึกษาและนักเขียนชื่อดังท่านคงไม่นำมาอ้างอิงเป็นแน่
ปัญหาที่เกิดขึ้น สันนิษฐานว่า
๑.คนที่นำมากล่าวหาผู้เขียน ว่าสอนวิปริตผิดเพี้ยนส่งเสริมความรุนแรง คงจะ น่าจะ อาจจะ “ไม่ได้อ่านฉบับเต็ม” ข้อน่าสังเกตก็คือ ถ้าไม่ได้อ่านฉบับเต็ม แล้วยกบางข้อความมากล่าวหาคนอื่นได้อย่างไร ขอถามหน่อยว่า นักวิชาการมืออาชีพ เขาทำกันไหม ยกบางข้อความมาโดยไม่สนใจบริบทรอบข้าง นี่เป็นจรรยาบรรณอย่างต่ำที่สุดของนักวิชาการด้วยซำ้ไป
๒.คนที่นำมากล่าวหาผู้เขียนคง “อ่านหนังสือไม่แตก” (ขออภัยที่ใช้คำนี้) เขาเขียนเรื่องหนึ่ง ไปสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ทำนองไปไหนมาสามวาสองศอก ข้อความเขามุ่งอุปมา แต่ไพล่ไปมองหาข้อเท็จจริง
๓.ถ้าเคยอ่านบทความฉบับเต็มก็จะรู้ว่า บริบทของเรื่องทั้งหมดไม่เกี่ยวกับการสังหารผลาญชีวิตใครเลย เป็นเรื่องการฆ่าเวลาเท่านั้น มองยังไงก็ไม่ชวนให้ลากไปสู่การสังหาญผลาญชีวิตคนได้
๔.บางคนก็ไปจับเอาข้อความเรื่อง “ฆ่าเวลา” เป็นต้นนี้แหละมาจากทวิตเตอร์ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้โพสต์ ช่วงนั้นไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ผู้เขียนอยู่ที่อังกฤษ แล้วก็ยกมากล่าวหาผู้เขียนเป็นวรรคเป็นเวรว่า ผลิตคำสอนส่งเสริมความรุนแรง หาว่าผู้เขียนสอนเรื่องฆ่าคนได้ไม่เป็นไร (พูดเอาเองทั้งนั้น) ในแง่นี้ก็ขอถามหน่อยว่า นักวิชาการสมัยนี้เขาเขียนบทความวิชาการ ด้วยการอ้างจากทวิตเตอร์เพียงวรรคเดียว โดยไม่สนใจ “ต้นเรื่อง”และ “บริบทแวดล้อม” กันเลยหรือ งานสุกเอาเผากินอย่างนี้เป็นงานของนักวิชาการอย่างนั้นหรือ หรือให้ตรงกว่านั้นก็ต้องว่า กล้าเรียกตัวเองว่านักวิชาการอย่างนั้นหรือ ?
พูดเรื่องบริบทกันบ้าง
เมื่อเกิดความขัดแย้งกลางเมืองในปี ๒๕๔๓ จำได้ว่า ผู้เขียนนี้เอง เป็นคนร่วมกันคิดกับพระไพศาล วิสาโล ว่าควรจะจัด “บิณฑบาตความรุนแรง” จากนั้นก็ไปชวนแม่ชีศันสนีย์ ท่านเจ้าคุณวัดพระราม ๙ มาแถลงข่าวร่วมกันที่อุทยานเบญจสิริมีสื่อมวลชนมาทำข่าวมากมาย ฐานข้อมูลในกูเกิลก็มีอยู่
คำถามก็คือ พระที่เป็นหัวหอกในการจัดบิณฑบาตความรุนแรง เพื่อเตือนสติสังคมไม่ให้เข้าไปสู่ความรุนแรง จะเป็นพระรูปเดียวกันกับที่สอนว่า ฆ่าคนไม่บาปเช่นนั้นหรือ จะเป็นพระรูปเดียวกันที่ส่งเสริมความรุนแรงกระนั้นหรือ ?
นี่ยังไม่ต้องพูดว่า ผู้เขียนเป็นพระ มีวิถีชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนามาตลอด ไม่เคยมีประวัติในทางเข่นฆ่าราวีใครมาก่อน ข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ ไม่ต้องอ้างงานวิจัยให้ดูเท่ ใช้แค่ common sense เอาก็ได้
ผู้เขียนเขียนหนังสือไว้หลายร้อยเล่ม บรรยายธรรมไว้หลายพันเรื่อง หาอ่าน หาฟังไม่ยากเลย ถ้าจะมีจิตวิญญาณนักวิชาการที่รักความจริงกันสักนิด ก็ควรจะไปหามาอ่าน มาฟัง หากมีเรื่องไหนส่อไปในทางส่งเสริมความรุนแรงจะบอกจะเตือนกันก็ได้ หรือมิเช่นนั้นจะโทรศัพท์มาถามก็ได้ เช็คข้อมูลให้แน่ ให้ชัด ให้จริง ฐานของงานวิชาการคือข้อมูล ไม่ใช่จินตนาการหรือมโน อนึ่ง ผู้เขียนเป็นบุคคลสาธารณะ ถ้ารักจะเอาความจริง ก็มานั่งคุยกันถามกันได้ทุกเมื่อ
แต่ที่ผ่านมา นักวิชาการบางคน บางค่าย ตั้งใจแต่จะหาเรื่องพระ มีความสุขกับการวิจารณ์พระ เห็นพระทั้งประเทศเงียบกริบ เวลาถูกว่าถูกถากถาง ก็คิดว่าตัวแน่ คิดว่าตัวฉลาดรอบรู้ และนานเข้าก็คิดว่า สิ่งที่ตนพูดเป็นความจริงไปเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายเรื่องเป็นเพียงฟูมฟองของจินตนาการที่คิดเองเออเอง
ผู้เขียนมั่นใจว่า ตลอดชีวิตสมณะไม่เคยสอนใครให้ไปฆ่าใคร ไม่เคยสอนนอกพระธรรมวินัย (ป.ธ.๙) มีชีวิตอยู่ในที่แจ้ง ไม่ใช่ขุนขลังขมังเวทย์ และตั้งใจทำหน้าที่ของสมณะมาโดยตลอด แม้ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแท่งทองชมพูนุท นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน ซึ่งก็วิจารณ์ได้ วิพากษ์ได้ สอนได้ เห็นต่างได้ แต่...เราไม่ควรสับสนระหว่างเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ กับเสรีภาพในการใส่ร้ายป้ายสี ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
สังคมของเรามีปัญหาหมักหมมมากมาย เพราะมีนักวิชาการบางคนทำงานอย่าง “สุกเอาเผากิน” จ้องแต่จะสร้างตัวตนบนหน้าสื่อ โดยไม่คำนึงถึงแม้แต่ความจริงหรือจรรยาบรรณพื้นฐานของการเป็นนักวิชาการที่ดี ตัดสินคนอื่นง่ายๆ บริภาษคนอื่นง่ายๆ โดยไม่สนใจว่า สิ่งที่ตัวทำจะบั่นทอนสติปัญญาของประชาชนอย่างไร จะก่อให้เกิด “ความเข้าใจผิด” และ สร้าง “ความเกลียดชัง” ตกค้างไปสู่คนรุ่นหลังอย่างไร
นักวิชาการที่ชอบทำงานลวกๆ ไม่สนข้อเท็จจริง มุ่งแต่จะกล่าวหาคนอื่นนั้น เขาไม่ได้ทำร้ายคนอื่นที่กำลังกล่าวหาเท่านั้น แต่เขากำลังทำลายวงวิชาการของเขาเองด้วย ทำลานคนอ่านที่เสพงานของเขาด้วย และทำร้ายหนักที่สุดก็คือ ทำร้ายทางปัญญาต่อคนที่เชื่อข้อมูลเท็จที่เขาสร้างมันขึ้นมา คนที่รักปัญญา รักความรู้ รักประเทศชาติบ้านเมืองและหวังจะเป็นนักวิชาการที่ดีนั้น เบื้องต้นที่สุด ต้อง “รักความจริง” เสียก่อน หากมองข้ามความจริง นึกจะพูดจะเขียนอะไรก็โพล่งขึ้นมา อาศัยแต่ความกล้าแสดงออกล้วนๆ คนอย่างนี้ นำพาชะตากรรมของประเทศไปได้ไม่ไกลหรอก สร้างงานที่ยิ่งใหญ่ก็คงไม่ได้ เพราะไม่ใส่ใจข้อเท็จจริงอันเป็นฐานของความคิดเสียแล้ว ที่เหลือจะเอาความน่าเชื่อถือมาจากไหน ?
ใครก็ตามที่ชอบสร้างเรื่องกล่าวหาว่า อาตมาสอนให้คนใช้ความรุนแรงมาเข่นฆ่ากัน อาตมาขอถามกลับว่า “เคยอ่านบทความฉบับจริง และ ฉบับเต็ม ที่อาตมาเขียนแล้วหรือยัง” หรือว่านักวิชาการสมัยนี้ ใช้แค่ขยะข้อมูลบนโซเชี่ยลมีเดีย ก็ผลิตงานวิชาการได้แล้ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง อาตมาก็ใคร่จะกล่าวว่า เพราะเราทำงานกันอย่างสุกเอาเผากินและมักง่ายเช่นนี้เอง หลายปีมานี้ ประชาชนเขาถึงหันไปฟังหมอดูทำนายทายทักบ้านเมือง แทนที่จะฟังสติปัญญาจากนักวิชาการอย่างที่ควรจะเป็น
ข้อเขียนนี้ อาจพูดถึงนักวิชาการเยอะหน่อยแต่ก็พึงทราบว่า มุ่งถึงนักวิชาการบางคนที่ทำงานแบบมักง่ายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัวจริงเสียงจริงทั้งหลายแต่อย่างใด
(ว.วชิรเมธี)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รับถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งอันทรงเกียรติระดับโลก และวันที่ 19 พฤศจิกายน สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้จัดงานมุทิตาจิตพระพระมหาวุฒิชัยเป็นการพิเศษด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22
วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ อั...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น