กระทรวงการคลังร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯเดินหน้าพัฒนา“โครงการข้อตกลงคุณธรรม” หวังลดทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เผยมี 96 โครงการจาก 53 หน่วยงาน ใช้ข้อตกลงคุณธรรม ช่วยประหยัดงบได้ 6.8 หมื่นล้านบาท
วันที่ 20 พ.ย.61 กระทรวงการคลังร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจัดสัมมนา “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact Conference 2018)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวทางดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้สังเกตการณ์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า สำหรับโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 – 2562 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้จำนวนทั้งสิ้น 96 โครงการ จาก 53 หน่วยงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท สามารถประหยัดงบได้ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สังเกตการณ์อยู่ในบัญชีรายชื่อ จำนวนทั้งสิ้น 201 ราย
“กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางจะนำข้อตกลงคุณธรรมและการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมเสนอราคา จะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำในการป้องกันการทุจริตมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มคะแนนการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน(Corruption Perceptions Index : CPI) ให้สูงกว่า 50 คะแนน ในปี พ.ศ. 2564” นางสาวสุทธิรัตน์กล่าว
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในฐานะเป็นตัวแทนภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความอิสระและเป็นกลาง จากสภาวิชาชีพต่าง ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่ขั้นตอนร่าง TOR จนถึงการส่งมอบงาน และเพื่อเป็นการวางรากฐานและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโครงการข้อตกลงคุณธรรม องค์กรยังได้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันให้บรรจุข้อตกลงคุณธรรมเข้าไว้ใน พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา
“ขอขอบคุณในความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะกรมบัญชีกลาง ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนข้อตกลงคุณธรรมในประเทศ ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และขอบคุณหน่วยงานที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า สร้างวัฒนธรรมการ “ตื่นรู้ สู้โกง” ไม่ยอมให้ใครแสวงหาประโยชน์จากการใช้งบประมาณของภาครัฐ” นายประมนต์กล่าว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการข้อตกลงคุณธรรมยังเป็นเครื่องมือให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ตั้งใจดำเนินโครงการอย่างสุจริตใช้สนับสนุนในการทำงาน ช่วยทำให้ข้าราชการที่สุจริตสามารถทำงานด้วยความสบายใจ ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแทรกแซงจากภายนอก ก่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามมา
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ถ้าโครงการนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เช่น งบลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจปี 2562 จำนวนกว่าล้านล้านบาท หากสามารถประหยัดได้เพียง 20% คิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ได้อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ ช่วยยกระดับคะแนนการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศได้” นายวิชัยกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น