วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
'พระว.วชิรเมธี'ชี้แนะ! 'โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน : แนวคิดและพลังในการสร้างสันติภาพโลก'
วันที่ 19 พ.ย.2561 อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ มีการจัดงานแสดงมุทิตาจิต แก่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ในโอกาสที่ UNHCR ถวายตำแหน่ง ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เว็บไซต์ UNHCR ได้เผยแพร่ข้อความว่า ตำแหน่ง ผู้อุปถัมภ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นตำแหน่งที่มอบให้แก่ผู้อุทิศตนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและส่งเสริมการทำงานของ UNHCR รวมทั้งเผยแพร่ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยต่อสังคม พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมสนับสนุนด้านการเงินเพื่อให้เรามีงบประมาณเพียงพอในการทำงานเพื่อช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยในปี พ.ศ. 2561 UNHCR ริเริ่มตำแหน่งผู้อุปถัมภ์โดยมอบให้บุคคลที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยและสร้างการรับรู้ถึงวิกฤติผู้ลี้ภัย รวมถึงการสนับสนุนการทำงานของ UNHCRผู้อุปถัมภ์คือบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจโดยไม่เหน็ดเหนื่อยในการให้ความร่วมมือกับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ผู้อุปถัมภ์ UNHCRพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ ท่าน ว.วชิรเมธี ให้ความกรุณาต่อ UNHCR ในการร่วมสนับสนุนแคมเปญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” Nobody Left Outside เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ และระดมทุน แก่ผู้ลี้ภัยที่ขาดแคลนที่พักอาศัยเป็นจำนวน 2 ล้านคน
เจ้าหญิงซาร่า ซิด แห่งประเทศจอร์แดน ด้วยความทุ่มเทในการทำงานเพื่ออุทิศตนในการให้ความช่วยเหลือแม่และเด็กผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบาง โดยมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพของแม่และทารกแรกเกิด
พร้อมกันนี้เพจ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ได้โพสต์ข้อความว่า “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน : แนวคิดและพลังในการสร้างสันติภาพโลก” (ว.วชิรเมธี)
.
๑
.
พื้นฐานของโลกก็คือ ความหลากหลาย เป็นความหลากหลายทั้งในเชิงวัตถุและเชิงจิตวิญญาณ พูดสั้นๆ ก็คือ คนก็หลากหลาย สิ่งมีชีวิตก็หลากหลาย วัตถุธาตุก็หลากหลาย
ในเมื่อโลกประกอบกันขึ้นมาจากความหลากหลาย ก็จึงเป็นการเรียกร้องให้มีศาสนา ที่เหมาะสมสำหรับผู้คนที่หลากหลายตามไปด้วย และนี่แหละคือเหตุผลที่โลกนี้ จำเป็นต้องมีหลายศาสนา โลกมีหลายศาสนา ก็เพราะว่าชุมชนโลกประกอบกันขึ้นมาจากผู้คนที่หลากหลาย ความหลากหลายของศาสนา เกิดขึ้นมาเพราะต้องการตอบสนองความหลากหลายของผู้คน ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมพื้นฐานข้อนี้ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีกับคนที่ถือศาสนาแผกแตกต่างไปจากเราได้อย่างสบายใจ ไม่ไปเที่ยวไล่ต้อนให้ใครๆ ต้องมาถือศาสนาเดียวกันกับเรา แต่เราจะเคารพคนที่ถือศาสนาแตกต่างจากเราจากใจจริง
๒
.
อย่างไรก็ตาม แม้ศาสนาในโลกจะมีมากมาย แต่ถ้าเราพิจารณาถึงคุณค่าแท้ที่อยู่ภายในก็จะพบว่า ทุกศาสนาล้วนมีเจตจำนงร่วมกันในหลักใหญ่ใจความแห่งศาสนาที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ทุกศาสนาล้วนก่อเกิดขึ้นมาจากความเมตตาปรารถนาดี อยากจะให้โลกนี้มีแต่สันติภาพและสันติสุขของปวงศาสดา อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
“เมตตาการุณย์ สันติภาพ และสันติสุข คือ เจตจำนงร่วมกันของทุกศาสนาประดามีในโลก”
๓
.
เจตนารมณ์พื้นฐานที่ว่า “ศาสนาทุกศาสนา ล้วนก่อตั้งขึ้นมาบนความเมตตาการุณย์ต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์เป็นที่ตั้ง” เป็นสิ่งที่ศาสนิกของทุกศาสนาไม่ควรจะมองข้าม เพราะหากแก่นของทุกศาสนาหรือกิจการทางศาสนาทั้งปวง ไม่วางรากฐานอยู่บนเมตตากรุณาแล้ว ศาสนานั้นๆ ก็จะสูญเสียคุณค่าพื้นฐานของการเป็นศาสนาที่ดีไปโดยปริยาย
๔
.
ย้ำอีกทีหนึ่งว่า “เมตตาการุณย์ คือ คุณค่าพื้นฐานของศาสนาทั้งปวง”
๕
.
ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในยุคสมัยของเราเคยกล่าวว่า “ศาสนาของข้าพเจ้านั้นง่ายมาก ศาสนาของข้าพเจ้าก็คือเมตตาการุณย์”
(My religion is very simple,My religion is kindness)
๖
.
ทำไมเมตตาการุณย์จึงเป็น “ศาสนาที่ง่ายมาก ปราศจากความซับซ้อนใดๆ ใครๆ ก็ปฏิบัติได้” คำตอบก็เป็นเพราะว่า “เมตตาการุณย์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในใจของเราทุกคน” เมตตาการุณย์เป็นศักยภาพพื้นฐานที่มีติดตัวเรามาแต่กำเนิด เป็นธรรมชาติที่สุกสว่างและแสนงดงามที่ธรรมชาติมอบให้เป็นของขวัญแด่มนุษย์ทุกคน
เด็กทารกทุกคนเกิดมาจากความรักความปรารถนาดีของพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนรักหรือปรารถนาดีต่อลูกจากดวงใจที่บริสุทธิ์ โดยยังไม่ทันถูกสอนให้เมตตา มนุษย์ก็เกิดมาจากและเกิดมาพร้อมกับเมตตาอยู่แล้ว จะกล่าวว่า “เมตตาการุณย์ คือ สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน” ก็คงไม่ผิด “เมตตาการุณย์ คือ สัญชาตญาณพื้นฐานของเราทุกคน” (ไม่ใช่ความโกรธ ไม่ใช่ความเกลียดชัง ไม่ใช่ความรุนแรง) โปรดอย่าหลงลืมความจริงข้อนี้เป็นอันขาด
๗
.
ในเมื่อมนุษยชาติทุกคน มีศักยภาพที่จะเมตตาการุณย์เป็นพื้นฐานประจำอยู่ในเรือนใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทำไม บางคนจึงยากที่จะเมตตาต่อผู้อื่น อะไรคืออุปสรรคของเมตตาการุณย์
๘
.
อุปสรรคของเมตตาการุณย์มีอย่างน้อย ๘ ประการ ๑.ความคิดเชิงแบ่งแยก อันทำให้ไม่อาจเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้อย่างที่ควรจะเป็น (เช่น แยกคนออกเป็นชาติต่างๆ สัญชาติต่างๆ ผิวสีต่างๆ ถือศาสนาต่างๆ หรือเห็นต่างไปจากเรา เป็นต้น)
๒.ความเห็นแก่ตัวหรือความกลัวว่าตนจะเสียผลประโยชน์ (เช่น เห็นว่าตัวเองดีกว่าเหนือกว่าคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นมาเกี่ยวข้องปะปนกับตน หรือผลประโยชน์ของตน เป็นต้น)
๓.ความยึดติดถือมั่นในตัวเองและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเอง (เช่น หวงแหนชนชั้นวรรณะและผลประโยชน์ไว้เฉพาะในกลุ่มตน เป็นต้น)
๔.ความเข้าใจผิดอันเนื่องมาแต่ถูกสอนหรือถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าคนอื่นเป็นอันตราย เป็นภัยคุกคามหรือเป็นศัตรูต่อตน กลุ่มของตน ชาติ/ประเทศ/ศาสนาของตน
๕.ความอาฆาตบาดหมาง ความเกลียดชัง ความโกรธ ความไม่ยอมให้อภัย
๖.ผลประโยชน์ เงิน อำนาจ อหังการ ความขัดแย้งทางการเมือง
๗.การไม่เคยฝึกให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยเมตตา
๘.การเติบโตมาในวัฒนธรรม หรือ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความเกลียดชัง แบ่งแยก และสงคราม
.
๙
.
ในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราฝึกเมตตาขั้นพื้นฐานด้วยวิธีคิดในเชิง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เช่น พระองค์ทรงสอนว่า “ทอดตามองไปทั่วทุกทิศแล้ว ย่อมมองไม่เห็นว่า ใครจะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตน ส่ำสัตว์ล้วนรักตน (รักชีวิต) เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว จึงไม่ควรเบียดเบียนตน ไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น ชั้นแต่มดและปลวก” หรือบางบทก็สอนว่า “สรรพสัตว์ล้วนกลัวต่อโทษทัณฑ์ หวั่นหวาดต่อความตาย บุคคลรู้อย่างนี้แล้ว (เอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างนี้แล้ว) จึงไม่ควรฆ่าใคร ไม่ควรสั่งใครให้ไปฆ่า” “มารดารักและเมตตาบุตรน้อยกลอยใจของตน ฉันใด เราทั้งหลายควรเมตตาต่อกัน ฉันนั้น”
๑๐
.
ในขั้นที่สูงกว่านั้น ทรงสอนให้เรารู้จักมองอย่างลึกซึ้ง จนสามารถก้าวข้าม “หีบห่อ” หรือ “ป้ายชื่อ/ยี่ห้อ/สัญลักษณ์/สมมุติบัญญัติ” ที่ปิดบังความเหมือนกันของมนุษยชาติออกให้หมด จนกระทั่งมองเห็นถึง “ความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของมนุษยชาติทุกคน” ด้วยการพิจารณาเข้าไปยังเนื้อแท้ของมนุษย์ทุกคนว่า
“มนุษย์ทุกคน แม้จะมีชื่อที่ต่างกัน เพศ ผิว เผ่า พันธุ์ วรรณะ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ สัญชาติ ประเทศ ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยภายนอก หากมองลึกเข้าไปข้างในก็จะพบว่า คนทุกคนก็เป็นคนเหมือนกันกับเรา น้ำตาของทุกคนมีรสเค็ม เลือดของทุกคนมีสีแดง เมื่อดีใจก็หัวเราะ เมื่อเสียใจก็ร้องไห้ เราทุกคนต่างก็รักสุข เกลียดทุกข์ กลัวตาย เสมอเหมือนกัน...
ความจริงและความต้องการพื้นฐานดังกล่าวมานี้ มีเหมือนกันหมดในมนุษย์ทุกคน ทุกเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้น หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เราทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนกัน เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายของกันและกัน เป็นชาวโลกเหมือนกัน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของเราก็เท่ากัน ดังนั้น เราจึงควรอยู่ร่วมกันด้วยเมตตาการุณย์ดังหนึ่ง คนในครอบครัวเดียวกัน”
หากเรามองเห็น “ความเหมือน” ที่เป็นเนื้อแท้ของคนทุกคนอย่างทะลุปรุโปร่งจนหยั่งและโยงถึงความจริงแท้ของสรรพชีวิตได้แล้ว ความคิดในเชิงแบ่งแยกก็ดี ความถือเขาถือเราก็ดี ความรังเกียจเดียดฉันท์กันด้วยเหตุแห่งเพศ ผิว เผ่า พันธุ์ สัญชาติ เป็นต้นก็ดี ก็จะเบาบางหรืออันตรธานไป เหมือนคนที่รู้จักเกลือเม็ดเดียวเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะรู้จักเกลือทุกก้อน (แม้จะมีขนาด หรือ สีต่างกัน) ในโลกนี้ว่า ล้วนมีรสเค็มเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น ดังนั้น ต่อให้โลกนี้จะมีคน ๗๐๐๐ ล้านคน แต่สำหรับคนที่มองจนทะลุสมมุติบัญญัติที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกของมวลมนุษย์ได้แล้ว ก็จะถือเสมือนว่า โลกนี้มีคนเพียงคนเดียวเท่านั้น และคนเพียงคนเดียวที่ว่านั้น ล้วนมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกัน กล่าวคือ รักสุข เกลียดทุกข์ และกลัวตาย ไม่ต่างกันเลย
๑๑
.
วิธีคิดหรือโลกทัศน์ข้างต้นนี้เองคือฐานคิดแบบ “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” ในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการปลูกฝังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหมู่ชาวพุทธผ่านการแผ่เมตตาประจำวันด้วยบทที่ว่า “สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกเมื่อเทอญ”
ขอให้สังเกตคำว่า “สพฺเพ” ที่เป็นคำคุณศัพท์ของสัตว์ทั้งหลายให้ดี (คำนี้แปลว่า “ทั้งปวง,ทั้งหมด, ทั้งสิ้น”) เพราะหน้าที่ของคำนี้บ่งชี้ไปยัง “ขอบเขต” ของการแผ่เมตตาการุณย์ว่า มุ่งหมายให้แผ่เมตตาออกไปอย่างไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัด ไม่มีประมาณ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการฝึกใจให้อบร่ำด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ไร้พรมแดน ปราศจากการแบ่งแยก ปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชังอย่างสิ้นเชิง เป็นการสอนให้มองและให้ปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างเป็นองค์รวม
๑๒
.
ในบางพระสูตร ทรงสอนว่า ในห้วงมหรรณพแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันแสนยาวนานเกินกรอบของการคำณวนนับได้ด้วยเครื่องมือนับของมนุษย์ (อสงไขย) นั้น...
“มนุษยชาติทั้งผอง ล้วนเคยเวียนว่ายตายเกิดกันมาแล้ว นับภพนับชาติกันไม่ถ้วนเกิด ตาย ตาย เกิด ถมแผ่นดิน จนไม่มีผืนแผ่นดินถิ่นไหนในโลกนี้ที่มนุษย์ไม่เคยทอดร่างวางขันธ์มาก่อน น้ำตาของมนุษย์ที่คร่ำครวญหวนไห้เพราะพลัดพรากจากคนรักและของรักตลอดอนันตกาลนั้น หากเอามารวมกันยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทุกแห่งรวมกันเสียอีก...
ท่ามกลางกาลเวลาอันแสนยาวนานอย่างนี้เอง มนุษยชาติทั้งหลาย อาจเคยเวียนเกิดเวียนตาย เคยเป็นสามีภริยา พ่อแม่พี่น้อง บุตรธิดา วงศาคณาญาติกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โอกาสที่เราทุกคนจะเคยเป็นญาติกันมาก่อนในชาติใดชาติหนึ่งนั้น มีอยู่สูงมาก
ดังนั้น...เราจึงควรอยู่กันด้วยความรัก ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยเมตตาการุณย์ต่อกัน อย่าทำร้ายกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าเข่นฆ่าราวีกัน เพราะบางที คนที่เรากำลังคิดจะทำร้าย หรือกำลังเบียดเบียนอยู่ อาจเคยเป็นญาติของเรามาก่อน อาจเคยเป็นมารดาบิดา บุตรภรรยาของเรามาก่อน
เมื่อเรากำลังปฏิสัมพันธ์กับใครก็ตาม ก็ให้มองเห็นความเป็นญาติ หรือความเป็นส่วนหนึ่งของเราที่แฝงอยู่ในคนอื่นด้วยเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “พึงเห็นคนอื่นที่อยู่ในตัวเรา และเห็นตัวเราที่อยู่ในคนอื่น” หากคิดได้อย่างนี้ เราจะพบว่า คนทุกคนในโลกนี้ ก็คือ ญาติพี่น้องของเราเอง ไม่มีใครเลยที่คู่ควรแก่ความโกรธ เกลียดชิงชังของเรา เพราะทอดตามองไปทางไหน ทุกคนไซร้คือคนในวงศาคณาญาติของเราเอง ไม่มีใครเลยที่เป็น “คนนอก” แม้แต่คนเดียว เราทุกคนต่างก็เป็น “คนใน” ของครอบครัวโลกทั้งสิ้น
๑๓
.
พระสูตรที่มีเนื้อหาสาระทำนองนี้ ก็เป็นอีกฐานคิดหนึ่งของคำสอนเรื่อง “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ประเด็นของพระสูตรนี้ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง แต่สาระสำคัญอยู่ที่ประโยชน์ของวิธีคิดแบบนี้ที่สามารถเชื่อมโยงคนทั้งโลกให้กลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันที่ชื่อว่า “ครอบครัวโลก” หรือเป็นการย่อโลกให้เหลือเพียงชุมชนเดียว หมู่บ้านเดียว และตระกูลเดียว ที่ทุกคนรักกัน เมตตาการุณย์กัน เห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะทั้งหมดต่างก็เป็นเครือญาติกัน หากเราคิดได้อย่างนี้ ความรู้สึกในเชิงเป็นปฏิปักษ์ระหว่างมนุษย์จะเบาบางห่างหายไป ความใกล้ชิด ความผูกพันจะเข้ามาแทนที่ จากนั้นความสมานฉันท์ และสันติภาพสันติสุขจะตามมา
๑๔
.
แต่รากฐานอันแข็งแกร่งอย่างยิ่งของเมตตาการุณย์ในพุทธศาสนา ก็คือ สัจธรรมที่ว่า “สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน” (อิทัปปัจจยตา)
๑๕
.
หลักอิทัปปัจจยตา มีสาระสำคัญว่า “ทุกสิ่งในเอกภพนี้ ไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่อย่างเอกเทศ สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน เชื่อมโยงกัน ขึ้นต่อกันและกัน ดำรงอยู่ในกันและกัน หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทำหรือเคลื่อนไหวอย่างไรก็ตาม ล้วนส่งผลต่อสิ่งอื่น (คนอื่น) เสมอไป ดังนั้น เราทุกคนจึงควรดำรงชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อชีวิตอื่น สิ่งอื่น ด้วยจิตใจและพฤติกรรมที่เปี่ยมด้วยเมตตาการุณย์เสมอ
เมตตาการุณย์ ที่แสดงออกมาต่อผู้อื่น ชีวิตอื่น และสิ่งอื่น (เช่น สิ่งแวดล้อม เป็นต้น) คือ คุณค่าเชิงจริยธรรมของหลักอิทัปปัจจยตา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พฤติกรรมที่คนคนหนึ่งทำ จะส่งผลถึงคนอีกคนหนึ่งเสมอไป (ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่หมายถึงคนอื่นนอกจากตัวเองอีกมากมายอเนกอนันต์) ดังนั้น จะทำอะไรก็ตาม เราจึงต้องสังวรระวังอย่างมีสติ และเลือกทำเฉพาะกรรมดีเท่านั้น อาจกล่าวด้วยภาษากวีก็ได้ว่า “ความมีสติ ความมีเมตตาการุณย์ของคนคนหนึ่งจะส่งผลถึงคนอีกคนหนึ่งเสมอไป ในทำนองกลับกัน ความขาดสติ ความขาดเมตตาการุณย์ของคนคนหนึ่งก็จะส่งผล (เสีย) ถึงคนอีกคนหนึ่งเสมอไป” หรือ
“ความสุขของคนคนหนึ่ง จะส่งผลถึงความสุขของคนอีกคนหนึ่งเสมอไป ความทุกข์ของคนคนหนึ่ง จะส่งผลถึงความทุกข์ของคนอีกคนหนึ่งเสมอไป”
(ความเมตตา ความเกลียดชัง ความรุนแรง ก็เช่นเดียวกัน หากแผ่ออกมาจากบุคคลใดย่อมส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างแยกกันไม่ออก)
ตัวอย่างหนึ่งของหลักการที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ เมื่อมีเด็ก ๑๓ คนไปติดอยู่ในถ้ำหลวงดอยนางนอน จังหวัดเชียงราย ต่อจากนั้นเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก นี่แหละคือพลังแห่งความเป็นเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์และสรรพสิ่งหรือปัจจยาการ
ด้วยเหตุที่มนุษยชาติล้วนถูกเชื่อมโยงอยู่ในกฏธรรมชาติอันมิอาจแบ่งแยก ชีวิตของเรากับชีวิตของคนอื่นเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกันและกันเสมอ เพราะฉะนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตนี้บนฐานของสติ ความรู้สึกตัว และเมตตาการุณย์ คือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์อยู่เสมอ เพราะผลสะเทือนของเมตตาการุณย์ก็คือ สันติภาพและสันติสุข
จากหลักการแห่งความอิงอาศัยซึ่งกันและกันเช่นที่กล่าวมา จึงสรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่า
“เราไม่อาจแยกสันติภาพและสันติสุขของโลกออกจากสันติภาพและสันติสุขของปัจเจกบุคคลได้เลย สันติภาพโลกจึงเริ่มจากสันติในใจคน และจากสันติในใจคนย่อมส่งผลสะเทือนถึงสันติภาพโลกโดยอัตโนมัติ”
ภาวะที่สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน อันทำให้ชะตากรรมของคนทั้งโลกถูกเชื่อมโยงเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างแยกกันไม่ออกนี้ อาจสรุปด้วยกวีนิพนธ์บทนี้
“เราต่างมีกันและกันในสรรพ์สิ่ง
เราต่างอิงองค์อื่นอีกหมื่นหมาย
เราต่างถ้อยธำรงจึงทรงกาย
เราต่างคล้ายเป็นส่วนหนึ่งที่ถึงกัน”
หรือหากที่กล่าวมายังไม่ชัดเจนพอ ก็ขอให้เราลองจินตนาการถึงผลสะเทือนของสงครามในตะวันออกกลางในรอบหลายปีที่ผ่านมาดูก็ได้ ว่ามันส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อโลกอย่างไร ผู้ลี้ภัยกี่ล้านคนที่ได้รับผลกระทบ กี่ประเทศ กี่รัฐบาล ต้องมาร่วมแบกรับปัญหา หรือใกล้เข้ามาอีกนิดการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาจากพม่าสู่บังคลาเทศ มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย มีผลสะเทือนที่ตามมากว้างไกลเพียงไร ใครบ้างต้องมาแบกรับชะตากรรมร่วมกันไปกับพวกเขา มองไกลไปกว่านั้นก็จะพบว่า ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่สะท้อนปรากฏการณ์ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในที่นี้คิดว่าเพียงพอแก่ความเข้าใจแล้ว
๑๖
การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ดี
การมองสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้งจนทะลุความแตกต่างไปสู่ความเหมือนกันก็ดี
การมีสำนึกในความเป็นครอบครัวโลกก็ดี
การมีปัญญาเห็นความเชื่อมโยงของชีวิตและสรรพสิ่งก็ดี
การมีความรับผิดชอบต่อโลกด้วยการรับผิดชอบชีวิตของตัวเองอย่างมีสติก็ดี
ทั้งหมดนี้ คือ ฐานคิดเรื่องโลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน คือเหตุผลที่เราชาวโลกต้องอยู่ร่วมกันด้วยเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้ง และคือหลักประกันของสันติภาพโลกที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน ซึ่งสมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงของเราทุกคน ที่นี้ และเดี๋ยวนี้
๑๗
สำหรับผู้ที่สงสัยว่า แนวคิด “โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” ที่อภิปรายมาทั้งหมดนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ในภาคปฏิบัติ พลังของเมตตาการุณย์เพียงพอหรือเปล่าที่จะรังสรรค์โลกแห่งสันติสุขและสันติภาพ ผู้เขียนก็ขอเชิญชวนให้เราลองย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวของ “เยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี” จำนวน ๑๓ คน ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงดอยนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๖๑ แล้วลองตอบตัวเองดูสิว่า ในปฏิบัติการครั้งนั้นอุดมคติเรื่อง “เมตตาการุณย์ ความรักไร้พรมแดน โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่ในทางปฏิบัติหรือในชีวิตจริงของเราทุกคน และ/หรือในโลกสมัยใหม่อันแสนซับซ้อน สับสน และวุ่นวาย
๑๘
วันหนึ่ง...
ขณะกำลังเตรียมตัวจะออกเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ต่างประเทศ
ชายคนหนึ่งถามผู้เขียนเชิงประชดประชันว่า “ไปช่วยโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนชาติอื่นทำไม”
ผู้เขียนหันไปตอบเขาว่า
“อาตมาไม่ได้ไปช่วยชาวโรฮิงญา แต่อาตมาไปช่วยมนุษย์เหมือนกันกับเรา”
และอีกประโยคหนึ่ง “
“อาตมาไม่ได้ไปช่วยคนชาติอื่น แต่ไปช่วยคนชาติเดียวกัน นั่นคือคนที่เป็น ‘มนุษยชาติ’ เหมือนกันกับเรา”
(ว.วชิรเมธี)
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"ดร.เฉลิมชัย" ดันโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้างวัดต้นแบบเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศ "ชูศักดิ์" ดันตั้งคกก.ระดับชาติแก้ปัญหาที่ดินวัดที่ซับซ้อน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
คุณต้องการเงินกู้ถ้าสัญญา En. แอนโธนีผู้ช่วยฉันด้วยเงินกู้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนฉันต้องแบ่งปันโลกนี้เพื่อบอกต่อสาธารณชนว่ายังมีคนดีในโลกนี้ ฉันทั้งหมดเสียเงินสำหรับกลโกงออนไลน์ทั้งหมดที่ฉันหมดหวังที่จะได้รับเงินกู้ จนกว่าฉันจะเห็นความคิดเห็นเกี่ยวกับเธอติดต่อเธอไม่ได้เป็นความผิดพลาด แต่ความฝันมาหาฉัน ตอนนี้ฉันเป็นคนที่มีความสุขกับครอบครัวของฉัน ติดต่อเขาหากคุณต้องการกู้เงินที่: inforamzanloan@gmail.com
ตอบลบ
ตอบลบคุณต้องการสินเชื่อธุรกิจเงินกู้ส่วนบุคคลเงินกู้อัตโนมัติสินเชื่อเพื่อการเกษตรหรือการระดมทุนของโครงการหรือไม่? เรามีข่าวดีสำหรับคุณ จอร์จ negga รับประกันเงินกู้ติดตั้งสถาบันสินเชื่อแห่งชาติเพื่อให้การสนับสนุนแก่ บริษัท มหาชนและ บริษัท ภาคเอกชนและยังบุคคลนี่คือการสนับสนุนสถานะทางการเงินทั่วโลกสมัครเงินกู้ยืมวันนี้เรามั่นใจคุณ offer.your ความสุขที่ดีที่สุดของคุณ เป็นความสำคัญของเราเราเสนอเงินกู้ให้แก่ส่วนต่างๆของโลก เอเชียออสเตรเลีย / โอเชียเนียยุโรปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และแอฟริกาแอนตาร์กติกาหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณา {georgeneggaguaranteeloan@gmail.com หรือ vist https://georgenegga.wixsite.com/guaranteeloan}
คุณต้องการเงินกู้หรือคุณต้องการรีไฟแนนซ์บ้านจ่ายบิลเรียกเก็บขยายธุรกิจของคุณด้วยอัตราดอกเบี้ย 3%? ไม่ต้องมองหาที่อยู่ติดต่อเพิ่มเติมทาง: Peterheymannloanoffer@gmail.com
ตอบลบ