วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เมื่อพระสงฆ์:ไม่เข้าใจบริบทการผลิตสื่อ



          “สื่อ” ถือเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการหรือบุคคลที่ต้องการให้ข่าว กับ กลุ่มเป้าหมาย สื่อมีหลายประเภท เช่น วิทยุ, โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์, ป้ายโฆษณา หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ ก็มีสื่อหลายประเภทให้กิจการเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าว ซึ่งปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำและได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน เนื่องจากสามารถอ่านข่าวในมือถือหรือในคอมพิวเตอร์ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุ เพราะหากจะว่าไปแล้วโทรทัศน์กับวิทยุ ความทันข่าว ไม่สามารถสู้สื่อออนไลน์ได้

 ผมมักได้ยินบ่อยคำพูดที่ว่า “ข่าวร้ายฟรี ข่าวดีเสียเงิน” หมายถึงว่าถ้าเป็นข่าวที่ไม่ดี สื่อมวลชนยินดีที่จะไปทำข่าวให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่หากเป็นข่าวสื่อดีมักไม่ลงข่าวให้

กรณีนี้คณะสงฆ์เราเอง ยังไม่เข้าใจว่า เวลาตัวเองทำกิจกรรม จัดงานดี ๆ ทำไมสื่อไม่มาทำข่าวหรือไม่เสนอข่าว  อยากให้พระคุณเจ้าเข้าใจการทำงานของสื่อแบบนี้

สื่อมวลชนบ้านเรามี 2 ประเภท คือ สื่อของรัฐ เช่น สื่อในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 หรือวิทยุ อันนี้ท่านสามารถขอใช้บริการเขาฟรีได้ แต่การขอขึ้นอยู่กับ “ประเด็นเนื้อหา” เป็นประการสำคัญ รวมทั้งกิจกรรมที่จัดนั่นมี “ผู้ใหญ่” ฝ่ายบ้านเมืองเข้าร่วมหรือไม่ หากมีเฉพาะพระสงฆ์จัด และประเด็นก็ไม่ได้เรื่อง เช่นจัดกิจกรรมอบรมสัมมนา จัดปฎิบัติธรรม งานผ้าป่ากฐิน แบบนีทั้งประเด็นและเนื้อเรื่อง มันไม่น่าติดตาม หากพระคุณเจ้าจัดแบบนี้ “ไม่มีสื่อรัฐทีไหนจะไปทำข่าว”  เว้น    “คุณขอมา”

ส่วนอีกสื่อประเภทหนึ่งคือ เอกชน ซึ่งเป็นสื่อส่วนใหญ่ พระคุณเจ้าต้องเข้าใจว่า ทุกสื่อมันมี “ต้นทุนการผลิต” เริ่มตั้งแต่ ค่ารถเดินทางไปทำข่าว ช่างภาพ คนตัดต่อ คนลงเสียง คนอ่านข่าว การเสนอข่าวทุกอย่างเป็นเงินหมด ผมถามต่อว่า หากพระคุณเจ้าเป็นเจ้าของกิจการ “ยอมให้คนของตัวเองไปทำข่าวแบบนี้หรือไม่” เพราะเวลาสื่อเสนอออกไป นอกจากไม่มีสาระสำคัญหรือประเด็นใหม่ ๆ แล้ว ประชาชนคนดูก็ไม่สนใน ตรงนี้  “สปอนเซอร์ที่ไหน” จะสนับสนุน ยิ่งเสนอข่าวแบบนี้บ่อย สถานีนั่น ๆ “เรตติ้งตก” เวลาผู้สนับสนุนเขาซื้อโฆษณาเขาดูเรตติ้งแบบหลัก เรตติ้งก็คือ จำนวนคนดูนั่นเอง มันวัดได้ด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีว่า ช่องแต่ละช่องมีเรตติ้งจำนวนคนดูเท่าไร

และสื่อมวลชนไม่เฉพาะบ้านเราทั่วโลก หน้าที่ของสื่อมวลชนที่ฝั่งอยู่ในจิตวิญญาณ คือ “ตรวจสอบการทำงาน” มิได้มีหน้าที่ในการบริการเสนอข่าวประเภท “ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ประเด็นทำมีอะไรบ้าง” แล้วก็จบ อย่างที่คณะสงฆ์ทำ

ด้วยประสบการณ์ทำงานสื่อมา 15 ปี อธิบายให้พระคุณเจ้าทราบว่า สื่อรัฐ หากประเด็นของพระคุณเจ้าไม่มีอะไรเลย มีแต่กิจกรรม เขาก็ไม่ไป เว้นแต่ มีผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองสั่งให้ไปทำ แบบนีอาจจะทำนนไป หรืออีกประเภทหนึ่งคือ บริษัทเอกชนที่ไปเช่าเวลาผลิตในการอยู่ในสื่อรัฐ หากพระคุณเจ้า “ซื้อสื่อ” หมายถึงจ่ายเงินให้ไปผลิตรายการให้ไม่ว่าจะเป็นสกู๊ปข่าว  ข่าวอ่านหรือไม่ก็การสนทนา แบบนีก็ได้ แต่ต้องเสียเงินและค่อนข้างแพง ในช่อง 11 ค่าเช่าเวลาชั่วโมงละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท แล้วแบบนี้หากพระคุณเจ้าไม่ยอมจ่ายเงิน “ผู้ผลิตที่ไหน” จะไปให้ ช่วงแรก ๆ  อาจไปแต่หากขอมาบ่อย ๆ เงินก็ไม่จ่าย  ผู้ผลิตรายการ ก็คงไม่อยากรับโทรศัพท์ท่านแล้ว

สำหรับสื่อเอกชน อย่างที่บอกทุกอย่างมีต้นทุนการผลิต สื่อบ้านเรามันวัดกันด้วยเรตติ้ง คือจำนวนคนดู ยิ่งเรตติ้งดีมาก ผู้สนับสนุนยิ่งต้องการ และยินดีซื้อราคาแพง ๆ เขาขายเป็นนาที ๆ ละ เป็นแสนบาท ช่องที่เรตติ้งดี ๆ  อย่างช่อง 3 ช่อง 7 ช่วงคนดูมากโฆษณานาทีหนึ่ง 3 -4 แสนบาท  พระคุณเจ้าฟังแบบนี้อาจตกใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงในธุรกิจสื่อบ้านเรา

เรื่องเหล่านี้พระภิกษุบางรูปอาจไม่รู้ แต่ก็มีหลายรูป “ยอมเสียเงินบริการสื่อ” ไม่ว่าจะเป็นการไปออกรายการหรือการถ่ายทอดสดหรือการไปซื้อข่าว   ทุกอย่างมีต้นทุนการผลิตหมด บางช่องที่เรตติ้งดี ๆ  แม้แต่พระคุณเจ้าจ่ายเงินให้ราคาแพง แต่หากประเด็นไม่ได้ ประเด็นไม่น่าสนใจ เขาก็ไม่รับเงินและไม่ทำให้ อยากให้พระคุณเจ้าเข้าใจแบบนี้ “การเสนอข่าวทุกอย่างมีต้นทุน การเสนอข่าวทุกอย่างต้องใช้เงิน”    มีแต่คนอย่างพวกผมนี้แหละ ที่พระคุณเจ้าขอฟรีได้ แต่ทุกอย่างมันก็มีต้นทุน  แต่พวกผมไม่พูด เพราะเดียวจะโดนข้อครหาว่า “ไม่รักพระพุทธศาสนา ลืมบุญคุณผ้าเหลือง” แต่พวกผมก็จะรอดูว่า “พระคุณเจ้าจะมีน้ำใจบ้างไหม” แค่นั้น..

Cr.นายสัจจวาที http://thebuddh.com/?p=38118#.XAXSRYpF_jI.lineme

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...