วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นักวิชาการมะกันหวั่นพวกสุดโต่ง 'นักการเมือง-สื่อ-ผู้นำศาสนา' ปั่นกระแสทำสังคมแตกแยก




          2 พ.ย.61 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ รายงานว่า ที่สหรัฐอเมริกามีการเผยแพร่ผลสำรวจที่จัดทำโดย New America foundation and the American Muslim Initiative พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 เห็นว่าศาสนาอิสลามไปกันได้กับค่านิยมหลักของชาวอเมริกัน ส่วนร้อยละ 42 เห็นว่าไปกันไม่ได้ เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60 เห็นว่าชาวอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีความรักชาติไม่ต่างจากผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ส่วนร้อยละ 38 ไม่เชื่อเช่นนั้น
          
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันร้อยละ 74 จะรับได้ที่มีชุมชนชาวมุสลิมเกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศ แต่ร้อยละ 56 ก็กังวลกรณีชุมชนมุสลิมที่มีแนวคิดไปทางหัวรุนแรงสุดโต่ง นอกจากนี้เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างโดยอิงมุมมองทางการเมือง พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงลบต่อชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม เห็นได้จากร้อยละ 71 ระบุว่าศาสนาอิสลามไปกันไม่ได้กับค่านิยมหลักของชาวอเมริกัน และร้อยละ 56 รู้สึกกังวลเมื่อทราบว่ามีการก่อสร้างมัสยิดใกล้ชุมชนที่ตนพักอาศัย
          
โรเบิร์ต แม็คเคนซี (Robert McKenzie) นักวิจัยอาวุโสของ New America foundation ในฐานะ 1 ในผู้จัดทำโพลเรื่องนี้ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมกระแสต่อต้านศาสนาอิสลามในสหรัฐและไม่ได้มีเฉพาะผู้สนับสนุนการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เช่นกรณีฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ตัวแทนพรรคเดโมแครตที่เคยลงชิงชัยศึกเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ ก่อนพ่ายแพ้ให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ยังเคยกล่าวถึงความกังวลกรณีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
          
ผลการสำรวจยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันเกือบครึ่งรู้จักผู้นับถือศาสนาอิสลามจริงๆ และพบว่าคนกลุ่มนี้มีมุมมองเชิงบวกต่อชาวมุสลิมเพิ่มขึ้น ขณะที่ ราเบียห์ อาห์เหม็ด (Rabiah Ahmed) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสังคมชาวมุสลิม กล่าวว่า กระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) ส่วนหนึ่งมาจากชุมชนชาวมุสลิมเอง อย่างไรก็ตามปัญหานี้เป็นปัญหาที่ชาวอเมริกันทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ถึงกระนั้นชุมชนมุสลิมก็ต้องเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างมุสลิมกับชุมชนอื่นๆ เพื่อลดทัศนคติเชิงลบด้วย
          
อาห์เหม็ด ยังกล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือมีทั้งนักการเมือง สื่อมวลชนตลอดจนผู้นำศาสนาอื่นๆ ที่พยายามปลุกกระแสต่อต้านศาสนาอิสลาม โดยเป็นการกระทำที่สอดคล้องกันทั้งจากฝ่ายหัวรุนแรงสุดโต่งและฝ่ายที่สร้างกระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลาม ดังนั้นเพื่อจะหยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้คนในสังคมอเมริกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ต้องไม่สนับสนุนผู้นำศาสนาของตนที่ชี้นำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนต่างศาสนา
          
รายงานของอัลจาซีรา ระบุว่า ผลสำรวจของ New America foundation ถูกเผยแพร่ท่ามกลางกระแสต่อต้านศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้นไปทั่วในทางการเมืองและสื่อต่างๆ ในสังคมอเมริกัน โดยมีรายงานของผู้สนับสนุนศาสนาอิสลาม กล่าวว่านับจำนวนได้ถึง 80 กรณีเมื่อเดือน ต.ค. 2561 ในจำนวนนี้มีการกล่าวสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เช่น อ้างว่ามีการปลุกกระแสจากชาวมุสลิมให้ใช้กฎหมายอิสลามในสหรัฐ
          
รวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐคนปัจจุบัน ยังแสดงจุดยืนต่อต้านศาสนาอิสลามตั้งแต่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง จนมาถึงการกำชับให้เจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็งอย่างเข้มงวดไปที่การตรวจตราในกลุ่มชาวมุสลิม รวมถึงการห้ามชาวมุสลิมจากหลายประเทศเดินทางเข้าสหรัฐ ด้าน ไซนาบ อาเรน (Zainab Arain) สมาชิกสภาความสัมพันธ์อเมริกันและโลกมุสลิม ระบุว่า บุคคลระดับสูงหลายคนในรัฐบาลทรัมป์มีมุมมองต่อต้านศาสนาอิสลาม
          
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสังคมอเมริกันเกิดเหตุรุนแรงที่เกี่ยวกับการเมือง สีผิวและศาสนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เหตุมือมืดส่งระเบิดไปข่มขู่ทั้งนักการเมือง สื่อมวลชนและผู้คนที่ไม่ชอบ ปธน.ทรัมป์ เหตุคนร้ายกราดยิงโบสถ์ของชาวยิวจนมีผู้เสียชีวิต 11 ศพ และเหตุชาวอเมริกันผิวสี 2 คนถูกยิงที่รัฐเคนตักกี้ ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ชนกลุ่มน้อยและผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ยังได้รับผลกระทบจากการปั่นกระแสความเกลียดชังด้วย
          
วอลเตอร์ รูบี้ (Walter Ruby) จาก Greater Washington Muslim-Jewish Forum ให้ความเห็นว่า มีความเหมือนกันระหว่างกระแสเกลียดชาวยิวกับชาวมุสลิม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับท่าทีของ ปธน.ทรัมป์และคณะ ซึ่งมันทำให้สถานการณ์ในสหรัฐขณะนี้อันตรายมาก
          
ขอบคุณเรื่องจาก https://www.aljazeera.com/news/2018/11/americans-islam-incompatible-values-181101185805274.html ที่มา: http://www.naewna.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“หลวงพ่อเณร” ยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมรัฐบาล ปรับภูมิทัศน์บูรณะพระประธานประจำพุทธมณฑล

วันที่ 19 พ.ย. 67  ที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร  แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร  ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตร...