วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มุมมองอาจารย์'มศว'ต่อปฏิรูปสอนพุทธในร.ร.สพฐ.มีสติศึกษาเป็นฐาน




วันที่ ๑ พ.ย.๒๕๖๑  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย สุธาสิโนบล ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อนุกรรมการด้านหลักสูตรการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เสนอมุมมองหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค.๒๕๖๑ ความว่า 



การจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับผู้เรียนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน



ท่ามกลางวิกฤติทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาของไทยที่มีความสับสนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทราในตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ครูผู้สอนพระพุทธศาสนา และพระสอนซีลธรรมที่ขาดความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนครู ผู้บริหาร และผู้สนใจในการศึกษาทุกท่านครับ จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการด้านหลักสูตร ซึ่งทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์เนื่อหา สาระ และกำหนดจุดเน้นเนื้อหาสาระ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในทุกระดับชั้น (ป.๑ – ม.๖) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด สาระที่ ๑ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่เป็นสาระสำคัญในการพัฒนาความรู้ คุณธรรม จริยธรรม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของผู้เรียน สภาพปัญหาต่างๆ ที่สอดคล้องกับกระบวนการปฏิรูป 



แต่เมื่อมองไปในสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบัน พบว่า สภาพปัญหาการใช้ชีวิตของเยาวชนในยุคดิจิทัลมีความสับสนวุ่นวาย ไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครี่องยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งสาเหตุของปัญหามีมากมาย ได้แก่ ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้าง ติดสิ่งเสพติด อาศัยอยู่กับตายายซึ่งฐานะยากจน พฤติกรรมของเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากข่าวสารที่นำเสนอในสังคม เมื่อมองมาในสถานศึกษา โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ในด้านพระพุทธศาสนา เด็กๆ กลับมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งครูผู้สอนขาดทักษะและเทคนิคการสอนที่เข้าถึงความสนใจของผู้เรียน การเรียนการสอนไม่มีความหมายต่อชีวิตของเด็ก การเรียนการสอนส่วนใหญ่มักจะให้เด็กท่องธรรม มากกว่าจะสอนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง โดยนำพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีในสังคม ดังนั้น ครูผู้สอน แลละพระสอนศีลธรรมควรเปลี่ยนมุมมองในการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่ให้เด็กได้คิดและนำไปดำเนินชีวิตโดยใช้กระบวนการทางปัญญา ควรปรับตัวให้เป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้อยู่ในใจของเด็ก เรียนรู้ร่วมกันกับเด็กๆ หันกลับมาคิดค้นรูปแบบการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาพฤติกรรมที่ดีของเด็ก พัฒนาจิตใจของเด็ก และเสริมสร้างปัญญาให้กับเด็ก หันกลับมาคิดค้นสื่อการสอนและใช้สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายและทันสมัย เพื่อให้เด็กๆ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข



ในด้านเนื้อหาในการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่า เนื้อหามากและยากเนื่องจากนำหลักธรรมมาใช้มากเกินไป เวลาที่ใช้สอนมีน้อย มีความซ้ำซ้อนไม่เหมาะกับบริบทของผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาต้องหันกลับมาให้ความสำคัญของการเพิ่มเวลาในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนให้มากขึ้น และบูรณาการการสอนโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการบวนการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาจจะบูรณาการในลักษณะของการพัฒนาทักษะชีวิตที่ใช้หลักธรรมมาเป็นฐานในการเรียนรู้



ส่วนในด้านกระบวนการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้การสอนแบบบรรยายเป็นหลักซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบ Passive Learning มากกว่าที่จะจัดการเรียนการสอนที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติ Active Learning ไม่ได้สอนให้เด็กเรียนรู้ถึงคุณค่าแท้จริงของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แนวทางการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา ควรมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ชัดเจน สนุกสนาน ให้เด็กๆ ได้ใช้กระบวนการคิดระดับสูง โดยเฉพาะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะของผู้ที่มีพฤติกรรมในการละอายชั่วกลัวบาป เป็นผู้มีผู้มีเบญจศีล เบญจธรรมในตน ธำรงความเป็นคนไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของคนไทย ๔.๐ ที่สามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนให้กับประเทศ ตามเป้าหมายของมาตรฐานของชาติที่กำหนดไว้



สำหรับในด้านสื่อการเรียนการสอนนั้น ควรมีกระบวนการฝึกครูผู้สอนให้สามารถใช้สื่อใกล้ตัวมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาพระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มสมรรถนะ ควรจัดทำฐานข้อมูลสื่อที่สามารถนำไปใช้ได้จริง พร้อมทั้งมีตัวอย่างสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเป็น Best Practice ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ สื่อประเภทสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือเรียนพระพุทธศาสนาควรมีการปรับปรุงให้มีความกระชับ เนื้อหาไม่ควรอัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น และบูรณาการสื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  


ในด้านการวัดและประเมินผลในวิชาพระพุทธศาสนา ไม่ควรตัดเกรด เนื่องจากเป็นวิชาชีวิตที่ควรใช้รูปแบบการประเมินเชิงพัฒนาการในการเรียนรู้และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความดีงามในชีวิตประจำวัน



ข้อเสนอแนะอื่นๆ พบว่า ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรบ่อย อันเป็นการสร้างภาระให้กับครูผู้สอนที่ต้องมาจัดทำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ ซึ่งควรเป็นเวลาของการเตรียมกิจกรรมในการสอนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ ควรสนับสนุนงบประมาณในการผลิตครูผู้สอนพระพุทธศาสนา และครูพระสอนศีลธรรม รวมทั้งการพัฒนาครูผู้สอนและครูพระสอนศีลธรรมให้มีประสิทธิภาพในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน



ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีคำถามที่น่าสนใจที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการเรียน Learning Outcome คือ อยากเห็นเด็กไทยเป็นอย่างไร พฤติกรรมใดที่อยากให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ข้อสรุปพบว่า อยากเห็นเด็กมีเบจศีลเบญจธรรม คือมีความเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น อยากเห็นเด็กมีความสุจริต เคารพในตนเองและผู้อื่น มีสัจจะ และมีสติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ประยุกต์ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม


เพื่อนครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกท่านครับ วันนี้พระพุทธศาสนาถูกจับตาในสังคมโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาเพื่อการพัฒนาเด็กๆ และเยาวชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในทุกระดับการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญ และหันกลับมาปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการทางปัญญาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ให้สามารถเป็นที่พึ่งในกายและใจของเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ยึดมั่นค่านิยมร่วมของสังคมเป็นฐานในการพัฒนาตนให้เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะเป็นผู้เรียนที่มีความเพียร ใฝ่เรียนรู้ และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวทันโลกยุคดิจิทัลและโลกในอนาคต และมีสมรรถนะ (Competency) ที่เกิดจากความรู้ ความรอบรู้ด้านต่างๆ มีสุนทรียะ รักษ์และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย มีทักษะชีวิต บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เสริมสร้างทักษะทางปัญญา และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง รักชาติ รักท้องถิ่น มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองไทยและพลโลก มีปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เป็นแสงสว่างให้ตนเองและโลกต่อไป ในฐานะผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยความประพฤติที่ถูกต้อง จิตใจที่ดีงาม และปัญญาที่เฉียบแหลมในการดำเนินชีวิตอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ .........หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดในบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจทุกท่านนะครับ.......ขอบพระคุณที่ติดตามและเป็นกำลังใจกันมาโดยตลอด.......

Cr.สายลม จริยธรรม  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เขียนธรรม

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เขียนธรรม แนวคิดหลัก: หนังสือ "เขียนธรรม" เป็นการผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องราวของตัวละครกับแนวคิดธรร...