วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มองและฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านมานุษยวิทยา



เกริ่นนำ
                  เมื่อได้ฟังมิวสิกวิดีโอ (Music video) ประเทศกูมีครั้งแรก ผมคิดในใจว่าเพลงนี้นี่แหละ ที่กำลังพูดและทำในสิ่งที่หลายคนอึดอัดและอยากทำแต่ไม่มีโอกาสหรือความกล้าพอที่จะทำ  โดยเฉพาะเนื้อหาของเพลงที่ระบุถึงปัญหาร่วมสมัยทางการเมืองของไทยเอาไว้ ผ่านชั้นเชิงการเสียดสีและประชดประชัน  เพลงนี้จึงมีลักษณะของการเป็นวาล์วระบายปะทุทางการเมือง ขณะเดียวกันมันยังช่วยเปิดพื้นที่ความกล้าหาญในการยืนยันสิทธิทางการเมือง  ทว่า นี่เป็นผลจากการฟังครั้งแรกเท่านั้น

                  หลังจากได้ฟังรอบที่สองและสาม ผมกับพบว่าความคิดในครั้งแรกมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด  เอาเข้าจริงเพลงนี้มิได้มีความแรงโดยตัวของมันเอง ซ้ำยังเริ่มเรื่องด้วยเรื่อง “เสือดำ” ซึ่งค่อนข้างจะมีความชอบธรรมในการวิจารณ์ในระดับหนึ่ง แม้ว่าเนื้อหาต่อมาจะมุ่งเน้นการ “หงายกะลา” ให้ความจริงทางการเมืองปรากฏ  ประเทศไทยอาจคุ้นเคยกับเพลงแร็ปว่าด้วยความรักและความขำขันมากกว่า  ขณะที่แร็ปการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินมาโดยตลอดในสายธารของการก่อเกิด  เนื้อหาที่กระแทกกระทั้น, การตัดเสียงจังหวะหรือ beat คือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แร็ปมีการพลังในการผลักคนให้ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าการหยุดครุ่นคะนึงกับที่  การแร็ปโดยตัวมันเองจึงไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านเนื้อหาในตัวบทของเพลง แต่คือการผลักให้ตัวบทกลายเป็นเสียงประเภทหนึ่ง ที่ทำงานร่วมกับเครื่องดนตรีกำหนดจังหวะอีกหลายชนิด  เพลงแร็ปจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในยามที่เรานึกถึงเพลงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการนิพนธ์เรื่องราวผ่านเสียงหรือ Sound ethnography  ดังนั้น การพิจารณา “ประเทศกูมี” ผ่านการวิเคราะห์ตัวบทเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและขัดต่อการแร็ปไปสักนิด  และเราอาจไม่เข้าใจเลยก็ได้ว่าทำไมการร้องเพลงการเมืองยามนี้ต้องเป็นแร็ปและต้องเป็นแร็ปที่ทำผ่านมิวสิกวิดิโอ เพื่อให้ผู้ชมฟังผ่านโลกออนไลน์

                  การฟังครั้งที่สี่ของผมเกิดขึ้นในตลาดสดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่  แม่ค้าขายผักลวกกับสารพัดน้ำพริก จำพวก น้ำพริกฮ้า, น้ำพริกหนุ่ม, น้ำพริกข่า, และน้ำพริกน้ำปู๋ เธอกับเพื่อนร่วมแผงวางลำโพงเล็กๆ ตัวหนึ่งติดกับกะละมังน้ำพริก แล้วเปิดประเทศกูจากมือถือผ่านบูลทูธ  เสียงแร็ปดังลั่นไปครึ่งตลาด เธอสองคนขายน้ำพริกไปด้วยโยกตัวไปด้วย  ครั้นถามว่าทำไมจึงเปิด พวกเธอก็ตอบว่า เปิดให้คนในตลาดฟัง  จากนั้นไม่นาน แผงขายไส้อั่วกับสารพัดของย่างก็เปิดประเทศกูมีตาม  เช้าวันนั้น ประเทศกูมี ไม่ได้ดังขึ้นหรือเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันแต่ในโลกออนไลน์ หรือจำกัดวงเฉพาะกลุ่มเพียงอย่างเดียว ทว่า มันเป็นการสื่อสารที่เชื่อมโยงกันระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์  โลกในพื้นที่ซึ่งมองไม่เห็นกับโลกทางกายภาพล้วนเชื่อมโยงกัน  โดยเฉพาะในประเด็นสำนึกทางการเมืองและวัฒนธรรม

                  กลับถึงบ้านผมจึงย้อนกลับไปฟังประเทศกูมีซ้ำอีกหลายรอบ เพื่อนึกถึงสิ่งที่อาจตกหล่นไปจากการคิดในครั้งเบื้องต้น  ครั้งนี้ผมได้หยิบประเด็นทางมานุษยวิทยาติดเพิ่มมาด้วยเพื่อตอบคำถามที่ว่าทำไมประเทศกูมีจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประเด็นดังกล่าวสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้



เทคโนโลยี, เสียง และปริมณฑลสาธารณะแห่งชาติ
                  งานศึกษาด้านเทคโนโลยีทางสังคมศาสตร์ซึ่งผูกโยงกับประเด็นการสร้างพื้นที่สาธารณะจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับบทบาทของ “สื่อและเทคโนโลยี” ซึ่งถูกผลิตขึ้นในฐานะการช่วยสร้างปริมณฑลสาธารณะแห่งชาติ (National public sphere) ตลอดจนระบอบแห่งความเป็นพลเมือง (Regimes of citizenship) ขึ้นมา  งานศึกษาอันเป็นหมุดหมายและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ชุมชนจินตนากรรม (Imagined communities) ของ แอนเดอร์สัน (Anderson 1983)  งานชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่สื่อสิ่งพิมพ์ (Print media) และเทคโนโลยีการพิมพ์ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ดวงตารับรู้เอาชุดจินตนากรรมต่างๆ เข้ามาในความคิด โดยมิได้พิจารณารูปแบบของสื่อและเทคโนโลยีประเภทอื่น  นักวิชาการซึ่งได้รับอิทธิพลในความคิดเช่นนี้อย่าง มร์าเซก (Mrázek 2002) และ ฮาดโลว์ (Hadlow 2004) ได้เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกงานศึกษาอย่างจริงจังในภายหลัง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสื่อในประเภทของเสียงและบทบาทของสถานีวิทยุหรือคลื่นความถี่ต่างๆ กับการสร้างจินตนาการแห่งชาติ

                  ทำไมเสียงและเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงจึงสำคัญต่อการสร้างชุมชนชาติ?  หนังสือเรื่อง Radio fields: Anthropology and Wireless Sound in the 21st Century (2012) อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า วิทยุและการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุนั้น เป็นสื่อกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่กว้างไกลและแพร่หลายที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน  เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่แพง ทั้งยังตัดข้ามผ่านข้อจำกัดในแง่ของสถานที่, ความอัตคัดขัดสน, และการเมืองซึ่งจำกัดผ่านเทคโนโลยีด้านสื่ออื่นที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า  โดยเฉพาะสื่อทางด้านภาพอย่างโทรทัศน์, ภาพยนตร์, และการรับชมทางอินเตอร์เน็ต  การกระจายเสียงวิทยุนั้น สามารถทำได้ผ่านการส่งสัญญาณจากสถานที่หนึ่งสู่เครื่องรับในอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์, ในห้องเรียน , และสถานที่อื่นทั่วไป รวมไปถึงมือถือทั้งในรูปแบบธรรมดาและสมาร์ทโฟน  หนังสือเล่มนี้ เปิดประเด็นซึ่งออกจะขัดกับความเข้าใจส่วนใหญ่ของคนจำนวนมากซึ่งเชื่อว่าบทบาทของวิทยุนั้นเริ่มน้อยลง  ทว่า รายละเอียดการศึกษากลับค้นพบว่าวิทยุมีบทบาทสูงมากกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนพื้นถิ่นและชนส่วนน้อยที่ต้องการสร้างตัวตนของตนเองไปพร้อมกับการต่อต้านอำนาจ

                  สิ่งชวนคิดจากหนังสือเล่มนี้คือ การให้ความสำคัญกับการกระจายเสียงในฐานะปฏิบัติการทางอุดมการณ์ของมวลชน  เทคนิคการกระจายเสียงได้กลายเป็นสิ่งที่แปรผันรูปแบบของเทคโนโลยีและสัมพันธ์กับการทำงานทางอุดมการณ์ในพื้นที่สาธารณะเสมอ  ในช่วงทศวรรษที่ 1920 โดยประมาณนับเป็นช่วงเวลาแห่งการ “ตื่นวิทยุ” กันเป็นอย่างกว้างขวาง และในปี 1926 การกระจายเสียงวิทยุได้กลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของชีวิตสาธารณะในยุโรปและอเมริกา (p.5)  การทำงานของวอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) ในฐานะผู้ผลิตและกระจายเสียงให้กับวิทยุในแฟรงค์เฟิร์ตและเบอร์ลิน ช่วงปลายทศวรรษ 1920 ถึง ต้นทศวรรษ 1930 ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีถึงบทบาทของการกระจายเสียงในปริมณฑลสาธารณะซึ่งเขามีความเชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนการพินิจตัดสินเชิงวิพากษ์ (the training of critical judgment) (Benjamin 1999, 585)

                  อย่างไรก็ตาม การกระจายเสียงสู่สาธารณะมิได้เป็นปฏิบัติการเชิงบวกเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นเสมือนการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับรัฐอีกด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นจะเป็นในสมัยนาซี  วิทยุเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ทั้งยังได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้ประชาชนมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเรียกในภาษาเยอรมันว่า Volksempfanger หรือ เครื่องรับสารของประชา  (the people’s receivers)  ในระหว่างปี 1933 ถึง 1939 มีรายงานว่ามีเครื่องรับสารนี้ถูกผลิตมากกว่าเจ็ดล้านเครื่อง ทั้งยังประทับตราด้วยเครื่องหมายสวัสติกะและนกอินทรี (Aylett 2011)

                  การกระจายเสียงและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี จึงมิได้สะท้อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว  ทว่า เป็นสิ่งซึ่งทำให้เกิดการฝังตัวทางอุดมการณ์ผ่านผัสสะด้านการได้ยิน  เสียงเป็นยิ่งกว่าการสื่อสารหากเป็นการขัดเกลาและบ่มเพาะสร้างกรงขังทางจินตนาการว่าด้วยชุมชน, ชาติ, ความรู้สึกเป็นพวกพ้อง, และการสร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ



สื่อใหม่อันดาษดื่น
                  การกระจายเสียงมิได้เกิดขึ้นแต่เพียงวิทยุเท่านั้น  การแปรผ่านทางเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถกระจายเสียงโดยมิต้องพึ่งพาคลื่นวิทยุเพียงอย่างเดียว  ในโลกดิจิทัล เสียงได้ถูกส่งออกมาผ่านสัญญาณแบบไร้สายในลักษณะของช่องวิทยุดิจิทัล, ช่องยูทิว์บ, และช่องทางอื่นบนโลกออนไลน์  เครื่องรับสาร (หากเราจะใช้คำนี้) ก็มีความหลากหลายของราคา ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมือถือได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อกันติดต่อกันเป็นชุมชนอย่างมิอาจปฏิเสธได้  เฟย์ กินส์บูรก์ (Faye Ginsburg) นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อเรียกลักษณะการเช่นนี้ว่าการชุมนุมในเชิงเทคโนโลยี (technological assemblages) (Ginsburg 2012 ,273) เนื่องจากมนุษย์ได้ติดต่อและสร้างชุมชนขึ้นมาผ่านอุปกรณ์การสื่อสาร  ทั้งยังเป็นรับรู้ความเป็นจริงของโลกผ่านเทคโนโลยี

                  สื่อใหม่หรือ new media คือสัญลักษณ์ของการใช้สื่อในโลกดิจิทัล  ทว่า ความใหม่ของมันมิได้มีลักษณะเฉพาะที่จำกัดเพียงบางกลุ่มหรือบางชนชั้นอีกต่อไป  เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นสื่อประเภทนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างดาษดื่นและกลายเป็นความสัมพันธ์ชุดใหม่ในสังคมของเรา  นอกจากนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้ยังได้กลายเป็น เครือข่ายผู้กระทำการ (actor network) (Latour 2005) ซึ่งส่งผ่านอุดมการณ์และสร้างชุมชนจินตนากรรมทางการเมืองให้ขยายกว้างไกลออกไปผ่านองคาพยพอันไม่ตายตัวและความหลากหลายของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น มือถือ,คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, หน้าจอทีวีที่บ้าน, รวมไปถึงในรถยนต์  สิ่งสำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเสมือนดั่งการสื่อสารซึ่งซ่อนระดับความหลากหลายไว้อย่างมากมาย มิได้มีสถานะของเครื่องรับสารเพียงอย่างเดียว

                  เทคโนโลยีในฐานะเครือข่ายผู้กระทำการนี้อยู่ในสถานะไหนในปริมณฑลสาธารณะแห่งชาติ โดยเฉพาะในบริบทของรัฐไทยหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด?

                  แน่นอน มันคือเวทีของการประลองอำนาจและฉวยใช้เพื่อสร้างจินตนากรรมชาติ  การผุดขึ้นมาของบทเพลงและมิวสิกวีดิโอจากภาครัฐเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย  ทว่า นั่นก็มีลักษณะที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อความมั่นคงของรัฐ และมีลักษณะของการมุ่งเน้นสื่อสารทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นคืนความสุขให้ประเทศไทยและเพลงอื่นซึ่งถูกแต่งขึ้น ในแง่นี้ ยิ่งไม่ต่างจากการกระจายเสียงของรัฐเผด็จการซึ่งเน้นการกระจายอำนาจให้แผ่คลุมอย่างทั่วถึง  รัฐเผด็จการในลักษณะนี้จึงใช้เทคโนโลยีเป็นเสมือนสื่อกลางในการถ่ายทอดความคิดและคำสั่ง  แม้ว่าจะอยู่ในโลกดิจิทัลก็ตาม  รวมไปถึงลักษณะการสอดส่องแบบดิจิทัล (digital surveillance) ซึ่งมักตรวจสอบควบคุมการใช้และเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์แบบทางเดียว

                  ตรงข้ามกับประเทศกูมีหรือเพลงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน  เพลงเหล่านี้ หากไม่พิจารณาที่เนื้อหา  เรากลับพบว่าบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลนี้มีส่วนสำคัญในการปลุกชีพ (animate) ให้กับการเมืองและอารมณ์ความรู้สึกผ่านประสบการณ์ของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในระบอบเผด็จการ  ทั้งยังมีส่วนในการเชื่อมต่อให้การเมืองและความรู้สึกของผู้คนเคลื่อนผ่านไหลเวียนไปมาระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์  ชีพที่ถูกปลุกขึ้นมานี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของสภาวะที่เรียกว่า อวัตถุสภาพทางดิจิทัล (digital im-materiality) ในรูปของไฟล์ข้อมูลภาพและเสียงซึ่งถูกบีบอัดและสามารถส่งต่อได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว  เทคโนโลยีจึงกลายเป็นวัตถุสภาพที่มีความลื่นไหล เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีอวัตถุสภาพทางดิจิทัลไหลเวียนอยู่ เป็นผลให้เกิดการนำไปสู่การดัดแปลง, ตัดต่อ, และทำซ้ำไปได้อย่างต่อเนื่อง

                  ภาวการณ์มีชีวิต (animation) ของอวัตถุสภาพทางดิจิทัลนี่เอง คือสิ่งที่ยืนยันของการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมซึ่งวัตถุสภาพอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางการเมืองถูกควบคุมและมิอาจเข้าถึงได้  ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กายภาพกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและนำมาซึ่งอันตรายต่อความมั่นคงในชีวิต  การชุมนุมในเชิงเทคโนโลยีจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างพลังความเปลี่ยนแปลงและเปิดที่ทางความเป็นไปได้ในโลกทางกายภาพ  ในแง่นี้ คุณลักษณะของอวัตถุสภาพทางดิจิทัลของประเทศกูมีจึงมีความสำคัญในการเริ่มต้นเขย่าบางสิ่งในหัวของเรา จนต้องส่งเปิดดูซ้ำไปซ้ำมา, เก็บมานั่งคิด และส่งต่อ กระทั่งเกิดความแพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังจากมีการเผยแพร่

                  ในทางการเมือง นี่คือการตอบโต้กลับของวัตถุสิ่งของ (politics of the object strike back) จากที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไร้ชีวิต  ทว่า โดยตัวมันเองกลับสามารถเปล่งเสียงและมีพลังในการขับเคลื่อนการเมืองจนมิอาจมองข้ามไปได้  เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและกลายเป็นปริมณฑลสาธารณะซึ่งมีส่วนในการสร้างจินตนากรรมชาติที่แตกต่างออกไปได้



ตัวบทปลายเปิดและวิกฤตการณ์ของมัน
                  อวัตถุสภาพทางดิจิทัลมีลักษณะคล้ายเป็นตัวบทปลายเปิดแบบหนึ่ง ซึ่งสามาถกลายสภาพเป็นสิ่งอื่นที่มิใช่ตนเองได้  การกระจายไฟล์ภาพและเสียงบนโลกออนไลน์คือส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดการทำซ้ำ, ดัดแปลง จนเกิดเป็นไฟล์หรือตัวตน (entity) ใหม่  สภาวการณ์ลักษณะนี้นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างพบเห็นได้ทั่วไป  ฮิโตะ สเตอยาร์ล (Hito Steyarl) ให้ความเห็นว่าลักษณาการนี้ ด้านหนึ่งในแง่ของคุณภาพไฟล์จะถูกทำให้แย่ลงไปเรื่อยๆ ทั้งยังมีปัญหาแน่นอนในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและการละเมิดลิขสิทธิ์  ทว่า การนำไฟล์เหล่านี้กลับมาใช้และหมุนเวียนอยู่ในโลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายภาพทางการเมืองของสังคมนั้นเองว่าเป็นเช่นไร  โดยเฉพาะการเมืองในแถบโลกหลังสังคมนิยมหรือในประเทศโลกที่สามซึ่งมีความขับเคี่ยวทางการเมืองสูงภายใต้โลกแบบเสรีนิยมใหม่  บทบาทของของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการผลิตสื่อจึงมีความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การส่งสารเท่านั้น ทว่ายังเป็นการสร้างคลังจดหมายเหตุออนไลน์ไปพร้อมกัน  (ดังจะเห็นได้จากการพื้นที่ในหน่วยความทรงของเทคโนโลยีแต่ละชนิดซึ่งมีการแยกประเภทของไฟล์และการใช้งาน)  สิ่งที่สเตอยาร์ลให้ความสนใจในประเด็นนี้ก็คือ ปฏิบัติทั้งหมดนี้นำไปสู่เป้าหมายทางการเมืองอย่างไร เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกถูกยึดโยงและฝังตรึงผ่านการมองเห็น (visual bond) (Steyarl 2009)

                  ประเทศกูมี มีลักษณะที่ชวนคิดหากพิจารณาผ่านข้อสังเกตของสเตอยาร์ล ทว่าในแง่ของกระบวนการถ่ายทำ ประเทศกูมีกลับเพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีมิวสิควิดิโอคือการทำงานร่วมกันระหว่างภาพกับเสียง  ในขณะที่หูของเรากำลังรับรู้จังหวะของเพลงและเนื้อหาของเพลง สายตาของเรากลับชมภาพที่ปรากฏออกมาอย่างแตกต่างออกไป

                  การฝังตรึงทางการมองเห็นของผู้ชมในประเทศกูมีเริ่มต้นจากการจำลองเหตุการณ์ความรุนแรงและโหดร้ายทารุณซึ่งเป็นการกระทำโดยรัฐที่มีต่อนักศึกษา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519  ภาพเคลื่อนไหวนี้มีที่มาจากภาพนิ่งขาวดำอันเป็นประจักษ์พยานที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน หน้าที่ของภาพที่จำลองใหม่คือการเป็นฉากหลังเพื่อให้นักร้องแต่ละคนเดินเวียนขึ้นมาเพื่อสลับกันแร็ป วนรอบต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งเป็นจุดที่มีศพถูกแขวนคอและถูกกระหน่ำตีด้วยเก้าอี้  ทว่าสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าคือรอยยิ้มของความสะใจและอากัปกริยาอันยุยงของคนไทยโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก, ผู้ใหญ่, หญิง, และชาย  ภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นเป็นฉากหลังหลักของนักร้องทุกคน  ประกอบกับการเคลื่อนย้ายมุมภาพในลักษณะที่ขดเป็นวงเวียนนั้น ส่งผลให้ภาษาภาพที่ปรากฏมีลักษณะที่แม้ไม่ซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์ แต่ก็เวียนมาสู่จุดเดิม และไม่มีทางที่จะหลุดออกไปจากวงโคจรนี้ได้

                  นักวิจารณ์ทางดนตรีบางท่านอาจไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาพความรุนแรงแรงทางประวัติศาสตร์ซึ่งอยู่คนละบริบทกับเนื้อหาของเพลงที่สะท้อนถึงปัญหาทางการเมืองที่แตกต่างออกไป ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็เล็งเห็นถึงความเปราะบางทางความมั่นคงและอันตรายของการใช้ภาพดังกล่าว  ทว่า โดยสาระแล้ว กระบวนการผลิตภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของการพาสายตาของผู้ชมทำงานร่วมกับหูซึ่งกำลังฟังเพลงอย่างแยบยล  ฉากหลังที่แม้จะมีที่มาจากภาพนิ่งที่มีบริบทเฉพาะอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม  ทว่า เมื่อเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว ความหมายที่ปรากฏกลับหลุดออกจากเงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์สู่ประสบการณ์และสำนึกร่วมที่ผู้คนจำนวนมากมีร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นสภาวะของความอัดอั้นที่ไร้เสรีภาพทางการแสดงออกทางความคิด ตลอดจนความกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจ  อำนาจดังกล่าวมิได้ปรากฏร่างผ่านน้ำหนักของเก้าอี้ที่ฟากลงไปยังร่างกายของผู้บริสุทธิ์และมีเจตจำนงค์ในเสรีภาพ  ทว่า มันเผยโฉมในลักษณะที่มิอาจบรรยายได้ (sublime) ผ่านรอยยิ้มสยามอันปีติดีใจที่เห็นความเป็นอื่นกำลังถูกประหัตประหาร  ความเป็นอื่นในแง่นี้ คือ สิ่งที่รัฐเผด็จการพยายามปกปิดผลของการกระทำที่มิอาจตรวจสอบได้ของตัวรัฐเอง

                  การกระจายสัญญาณด้านภาพและเสียงของประเทศกูมีจึงเป็นเสมือนการพยายามผลักหรือขยายขีดจำกัดในการเล่าเรื่องทางการเมืองที่มิอาจเล่าได้ในปริมณฑลสาธารณะ  ผ่านการแปลงวัตถุสภาพหรือประจักษ์พยานที่มีอยู่ในสื่อและปรากฏการณ์ทางสังคม เพื่อให้เป็นอวัตถุสภาพทางดิจิทัลที่พร้อมเคลื่อนไหวผ่านสัญญาณไร้สายและเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีขั้นพื้นที่ทุกคนมีอยู่ในชีวิตประจำวัน

                  ในแง่นี้ ปรากฏการณ์ประเทศกูมีในไทยจึงมีคุณูปการทางแนวคิดไม่น้อย เพราะการเคลื่อนไหวมิได้มีลักษณะของการฝังตรึงทางการมองเห็น (visual bond) อย่างที่สเตอยาร์ล ตั้งคำถามเอาไว้เมื่อปี 2009  ทว่า มันได้ขยายพรมแดนไปสู่การฝังตรึงทางการมองเห็นและได้ยิน (audio-visual bond) ซึ่งเปิดกว้างและสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

                  สถานะตัวบทปลายเปิดของอวัตถุสภาพทางดิจิทัล ด้านหนึ่งคือการเร่งเร้าให้เกิดการแต่งเติมและกระจายตัวอย่างรวดเร็วของประเภทไฟล์นั้น  ดังจะเห็นได้จาก ผลิตตัวบทอื่นๆ โดยมีที่มาจากประเทศกูมี ทั้งในลักษณะต่อยอดเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ  บางไฟลได้แยกเสียงออกไปเพื่อใช้กับภาพประกอบแบบอื่น  บางไฟล์ปรับจังหวะให้ช้าลงหรือเพิ่มเสียงบางเสียงบางจังหวะเข้าไปเพิ่ม  หลายไฟล์ได้เกิดการแต่งเนื้อหาขึ้นมาใหม่โดยอาศัยจังหวะและเสียงแบบเดิม  ขณะที่มีบ้างซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจจากประเทศกูมีแต่งเนื้อหาและสร้างจังหวะขึ้นมาใหม่ ทว่า ยังคงกลิ่นไอการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมและการเมืองเอาไว้  ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิของการไหลเวียนของอวัตถุสภาพทางดิจิทัลที่เชื่อมโยงสู่ปัญหาในชีวิตทางสังคม  ปริมณฑลสาธารณะที่เกิดขึ้นมิได้มีเพียงหนึ่งเดียวและมิอาจเรียกได้ว่าเป็นปริมณฑลสาธารณะแห่งชาติได้อีกต่อไป หากมีลักษณะของการแตกตัวและแผ่กระจายเพิ่มขึ้นตามการทำงานของเทคโนโลยีในฐานะเครือข่ายผู้กระทำการ  จินตนากรรมชาติจึงมิอาจเกิดขึ้นจากฝั่งรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากเครือข่ายผู้กระทำการเหล่านี้  แม้ประเทศกูมีจะไม่ได้สร้างฉันทามติว่าด้วยจินตนากรรมแห่งชาติ แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการทุบรื้อจินตนาการชาติที่ไร้ประชาชนให้มีพื้นที่ว่างมากขึ้นสำคัญคำถามและจินตนาการใหม่

                  ทว่า ในอีกแง่มุมนึง วิกฤตการณ์ตัวบทปลายเปิดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอท่ามกลางความเชื่ออย่างคลาดเคลื่อนในเรื่องเสรีภาพในการดัดแปลงหรือผลิตใหม่ทางอวัตถุสภาพทางดิจิทัลโดยปราศจากเงื่อนไข  ไฟล์จำนวนมากที่ไหลเวียนอยู่ในโลกไร้สายได้เกิดขึ้นจากการดัดแปลงประเทศกูมี โดยแอบอิงอิทธิพลทางสังคมและความแพร่หลายไปสู่เนื้อหาอื่น กระทั่งการใช้เนื้อหาเดิมแต่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอโดยปราศจากเงื่อนไขและเป้าหมายทางการเมือง  กิจกรรมเหล่านี้ก็ล้วนมีส่วนทำให้การปลุกชีพทางการเมืองและอารมณ์ความรู้สึกจากประสบการณ์ร่วมทางการเมืองดำเนินไปสู่ความว่างเปล่าและกลายเป็นกิจกรรมบนโลกเครือข่ายทางสังคมเท่านั้น  การทำซ้ำ, ดัดแปลง, และแต่งเติมอวัตถุสภาพทางดิจิทัลให้มีพลังทางการเมืองจำเป็นต้องมีเงื่อนไขและวาระที่ต้องการจะผลักข้อจำกัดบางอย่างในสังคม  กรณีประเทศกูมี คือ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการกระทำภาพใต้รัฐเผด็จการ

                  หากปราศจากการเงื่อนไขและวาระแล้ว  เทคโนโลยีดิจิทัลก็คือเครื่องมือประเภทหนึ่งในการทำลายความเป็นการเมืองประเภทหนึ่งหรือกล่าวอีกนัยคือ เป็นเครื่องมือทางการเมืองซึ่งทำลายการเมืองของความเห็นต่างให้สยบราบคาบภายใต้ความเชื่อผิดๆ ว่าด้วยเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  เนื่องจาก อวัตถุสภาพทางดิจิทัลมิได้เป็นตัวบทที่จะมีพลังในลักษณะของตัวบทที่ล่องลอย (floating signifier) แต่เป็นตัวบทซึ่งไหลเวียนผ่านเงื่อนไขทางการเมืองมากมาย  การไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการทำคลิปและดัดแปลงเพื่อล้อเลียนผู้นำทางการเมือง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้อำนาจดำรงอยู่อย่างไม่ทันรู้ตัว



ส่งท้าย
                  เจตนาหนึ่งเดียวของผมในการเขียนบทความขนาดสั้นนี้คือ เปิดพื้นที่ความเป็นไปได้รูปแบบอื่นต่อการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกดิจิทัลซึ่งกรณีนี้คือมิวสิกวิดิโอประเทศกูมี  อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผมตั้งใจที่จะไม่วิเคราะห์ตัวบทหรือเนื้อหาของเพลง ทว่า มองมันในฐานะส่วนหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้น, ถูกถ่ายโอน, และไหลเวียนไปมาด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสำคัญ  สถานะของประเทศกูมีจึงมีมากกว่าเป็นบทเพลงทางการเมือง แต่มันคือการปลุกชีพทางการเมืองให้ขึ้นมาด้วยพลังของเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

                  เสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านดิจิทัลเทคโนโลยีด้านหนึ่งคือการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับองค์ประกอบใหม่ทางการเมืองซึ่งนั่นก็คือ อวัตถุสภาพทางดิจิทัล สิ่งที่ไร้รูปทรงหรือองคาพยพที่แน่นอนนี้กลับเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งสารและแปลสารเพื่อสร้างจินตนาการทางการเมืองขึ้นมาใหม่  ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเสียง, ภาพ, หรือทั้งเสียงและภาพ  ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนทำให้ทั้งหูและตาของเรารับรู้ความจริงของโลกในรูปแบบที่เปลี่ยนไป

                  แน่นอน ในขณะที่อีกด้าน การเมืองในโลกดิจิทัลเทคโนโลยีก็ไม่ต่างไปจากการเมืองในโลกทางสังคมบนพื้นที่กายภาพทั่วไป  เงื่อนไขของพลังทางการเมืองมิใช่อยู่ที่การไหลเวียนหรือสิทธิในการส่งต่อ, เข้าถึง, และดัดแปลง ทว่า เกิดขึ้นบนพื้นฐานของจินตนาการที่มีต่อเสรีภาพ ทั้งในความหมายของเสรีภาพจากพันธนาการ (freedom from) และเสรีภาพสู่จินตนาการ (freedom to)

 https://anthropologyyyyy.xyz/stories/thought/2018/มอง-และ-ฟัง-ประเทศกูมี-ผ่าน-มานุษยวิทยา/?fbclid=IwAR0h9xAA9cRli2XsxasLIiKmKlbOq29GW_RmHgQc5CPR8iLyQkJvu-FdUbg





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บุคคลไม่ควรคบยามสูงวัย

การแยกแยะบุคคลที่ควรคบในวัยสูงอายุเป็นสิ่งสำคัญในบริบทพุทธสันติวิธี เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขภายในและการใช้ชีวิตที่สมดุล การปฏิบัติตามหลักธร...