วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พุทธทาสในโลกดิจิทัล กับ ดร.เสนาะ อูนากูล



ดร.เสนาะ อูนากูล ปัจจุบันอายุ ๘๗ ปี ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ  

โลกมันก็เป็น Digital Disruption (สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล) ขณะนี้การจะสื่อสารอะไรด้วยระบบดิจิทัลมันเป็นเรื่องสำคัญมาก...ถ้าเด็กๆ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ คนรุ่นหลังไม่สามารถเข้าใจได้ก็คงจะทำให้การเผยแพร่เป็นไปได้ยาก

บนเส้นทางแห่งการบันทึกเรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ผู้รับหน้าที่บันทึกข้อมูลมีโอกาสพบกับบุคคลที่ยิ่งใหญ่ใน ๒ ลักษณะ หนึ่งเจิดจ้า สว่าง ร้อนแรง กับอีกหนึ่ง เรียบ สงบ ร่มเย็น หากพิจารณาจากสถานะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒) อดีตสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๓๔) อดีตรองนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๕) และในฐานะประธานกรรมการบริษัทเอกชนอีกหลายบริษัท ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ดำรงสถานะในหลายๆ ตำแหน่งดังที่กล่าวมา กลับทำให้ชายแปลกหน้ารู้สึกถึงความเมตตา และความสงบเย็นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยังไม่นับรวมถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเผยแพร่เรื่องราวของ ‘พุทธทาส’ ที่ท่านในฐานะรองประธานกรรมการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องมีระบบเผยแพร่ที่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก...การจะสื่อสารอะไรด้วยระบบดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญมาก” ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเลข ๘๗ ปี เป็นตัวเลขแห่งคุณภาพและการสั่งสมประสบการณ์ มากกว่าเป็นเรื่องของวัยที่เป็นเพียงปัจจัยทางกายภาพ การพูดคุยในเรื่อง ‘พุทธทาส’ ผ่านความทรงจำของ ดร.เสนาะ อูนากูล ทายาทของ วิชัย อูนากูล ผู้เคยให้การต้อนรับพุทธทาสภิกขุ เมื่อครั้งรับกิจนิมนต์ที่จังหวัดชลบุรี จึงเต็มไปด้วยคุณค่าและการสร้างสรรค์

ท่านเป็นคนลึกซึ้งมาก แล้วมีปณิธานที่เฉียบแหลม มีความกว้างขวาง มีความลึกในธรรมะ ในข้อปฏิบัติ ได้ใกล้ท่านก็รู้สึกซาบซึ้งที่มีโอกาสอย่างนั้น

แม้จะอยู่ในวัย ๘๗ ปี แต่ ดร.เสนาะ ในฐานะรองประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็สามารถแสดงวิสัยทัศน์ในการวางนโยบายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรกึ่งวิชาการ กึ่งศาสนา เพื่อไปสู่อนาคต ได้อย่างน่าชื่นชม “ในระหว่างที่ผมเป็นรองประธานกรรมการอยู่ ผมก็พยายามที่จะช่วยเหลือในเรื่องของการเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป มีการจัดงานวัดลอยฟ้า ที่สยามพารากอน เพื่อที่จะให้เข้าถึงคนที่มีวัยต่างๆ กัน ขณะเดียวกันได้สนับสนุนเป็นพิเศษในเรื่องการเก็บเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้อง มีวิธีการ archives ที่ถูกต้อง จะไปสนใจอื่นๆ แล้วทิ้งเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะนี่คือหัวใจของหอจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุจะต้องมี archives ระบบ archives ที่สมบูรณ์ เอกสารทั้งหลายต้องมีการเก็บเรียบเรียงไว้ให้สมบูรณ์ ไม่สูญหาย ไม่เสียหาย นอกจากนั้นแล้วก็คือเรื่องการเผยแพร่ ก็ต้องมีระบบที่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล” รองประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ให้ข้อมูล และอธิบายต่อไปว่า



“เป็นเรื่องที่ผมดีใจที่อ่านรายงานฉบับสุดท้าย เริ่มมีการพัฒนาทางด้านสองอย่างนี้มากขึ้น นอกจากเรื่องสันทนาการ เรื่อง edutainment ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก...แต่เรื่องที่เป็นนามธรรมกว่านั้นคือเรื่องการสื่อเพื่อจะออกไปให้ไกลกว่าสถานที่นั้น ระบบดิจิทัลเป็นระบบสำคัญ เพราะตอนนี้ แม้แต่ประเทศไทยยังเป็น ๔.๐ โลกมันก็เป็น Digital Disruption (สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล) ขณะนี้การจะสื่อสารอะไรด้วยระบบดิจิทัลมันเป็นเรื่องสำคัญมาก...ถ้าเด็กๆ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ คนรุ่นหลังไม่สามารถเข้าใจได้ก็คงจะทำให้การเผยแพร่เป็นไปได้ยาก ในเมื่อเราได้ปรับปรุงระบบการเผยแพร่ที่จะเข้าไปสู่ระบบ digitalisation มากขึ้น ก็จะเป็นการถูกกับอนาคต...เรานับว่าเข้าถูกทางแล้ว ที่เรามาเดินทางนี้ ถ้าเรามัวแต่นั่งเก็บอยู่ ใช้สถานที่ของเราเป็นหลักอยู่ ก็คงจะไปไม่ได้ไกล แต่บัดนี้เรามีครบถ้วนที่พอจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป” รองประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคต



เกือบ ๒ ชั่วโมงกับบทสนทนาที่ว่าด้วยความทรงจำเก่าๆ บนโลกใหม่ ชายแปลกหน้าคล้ายได้พักอาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ยืนต้นเพื่อทบทวนบทบาทของตนเอง ถ้อยคำจากรองประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำให้นึกย้อนภาพระหว่างรั้วกั้นอาคารและสถานที่ภายนอก บ้างมองว่าเป็นส่วนกั้นระหว่างความปลอดภัยและอันตราย บ้างมองเป็นหมุดหมายกั้นแบ่งระหว่างการงานและความเป็นส่วนตัว บ้างมองว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างการพักผ่อนและการทำหน้าที่ บ้างมองว่าเป็นดินแดนด้านในกับภายนอก และบ้างมองเป็นส่วนกั้นระหว่างโลกุตตระและโลกียะ เขาหยิบโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขึ้นมาพิมพ์ข้อความ ‘พุทธทาส’ ลงในเว็บไซต์ google เพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง ขณะที่รถไฟฟ้ากำลังแล่นผ่านทิวทัศน์ของเมือง...เขาเงยหน้าขึ้นจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้วมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อพบว่า เขายืนอยู่นอกรั้วเพื่อทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวเก่าๆ บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วทุกๆ วัน


Cr.อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย,พุทธทาสในโลกดิจิทัล กับ ดร.เสนาะ อูนากูล,บทความ, โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ,http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/959-455_953_959.html?fbclid=IwAR16oRw0rKh5LMGPQKZfxubyIRFIH0tilWA8WEw9SpaS4d1AtPGPPJFd9n8,วันที่ 10 พ.ย.2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือ: หลักสูตรนักธรรมตรียุคเอไอ

คิดเขียนโดยดร.สำราญ สมพงษ์ - แชทจีพีที (เป็นกรณีศึกษา) สารบัญ 1. คำนำ ความสำคัญของการศึกษานักธรรมในสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลแ...