วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

หลวงปู่ทองแนะมหาจุฬาฯเหนือโลก อยู่ที่ปฏิบัติศาสนาตามแนวสติปัฏฐาน


 'อธิการบดี มจร' นำคณะผู้บริหารเข้ากราบสักการะ โอกาสที่เดินไปให้กำลังใจนิสิตอาสาพัฒนาชาวเขาแม่ฮ่องสอน

วันที่ 8 มี.ค.2562 พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เข้ากราบสักการะพระพรหมมงคล,วิ  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานของประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่ได้เดินทางไปให้กำลังใจแก่นิสิตอาสาพัฒนาชาวเขา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่าง 8-9 มีนาคม 2562

ในการนี้พระพรหมมงคลได้กล่าวธรรมปฏิสันถารความว่า "มหาจุฬาฯมีการเรียนการสอนพระไตรปิฏกอย่างแพร่หลาย แต่ขอให้ทุกท่านจำไว้เถิดว่า ศักดิ์ศรีของมหาจุฬาฯอยู่ที่การปฏิบัติ  มหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลับระดับโลก แต่เรามีสิ่งที่เหนือกว่ามหาวิทยาลัยทางโลก ที่เขาไม่มีการเรียนการสอนเหมือนเรา คือ การปฏิบัติ  เรามีปริยัติศาสนา แต่การที่จะเข้าถึงปริยัติศาสนาได้ ก็ต้องอาศัยปฏิบัติศาสนา คือการนำเอาหลักธรรมคำสอนไปสู่การปฏิบัติ"

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา  มจร ที่ร่วมคณะด้วยกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ย้ำ คือ การเรียนพระพุทธศาสนา โดยการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานนั้นต้องใช้ระยะเวลาการันตีไว้ถึง 7 ปี แต่เมื่อมองกลับมาที่เกณฑ์มาตรฐานหลักหลักสูตร ต้องใช้เวลาระหว่าง 2-5 ปี  หลักเกณฑ์ วิธีการศึกษา และการวัดผลก็มีประเด็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาทางโลกเน้นการศึกษานอกตัว ขณะที่พุทธศาสนศึกษาเน้นในตัว

"ธรรมปฏิสันถารของหลวงพ่อจึงเป็นดุจน้ำทิพย์ชะโลมใจให้เราสนใจศึกษาด้านใน ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านนอก ซึ่งการศึกษาตามแนวนี้ นับเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัย มจร ที่จะทำหน้าที่กระตุ้นเตือนชาวโลกได้ตระหนักรู้และใช้พัฒนาคุณค่าภายในเพื่อให้ชาวโลกมีสติรู้เท่าทัน และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในวิถีโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป" พระมหาหรรษา ระบุ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ กิมพิลวรรค์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22

  วิเคราะห์ กิมพิลวรรค์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ บทคัดย่อ บทความนี้มุ่งเน้นว...