วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562
ลุ้น!นาคหลวง-ป.ธ.9 ประกาศผลสอบบาลีปี2562 อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือแนะอย่าหลงเป้าหมายลวง
วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยาวรวิหาร กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 5 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ แม่กองบาลีสนามหลวง เริ่มประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ชั้นประโยค ป.ธ. 7,8,9 ซึ่งสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสด ได้ที่ http://www.gbnus.com/?fbclid=IwAR0Ofc_tGPn-gt2GjXJtEZHJgXa-rJrxYzhgJWvScNEpQ24PhzdV2R5-e8k สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและเผยแผ่ธรรมะ (MCU TV) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา (WBTV)วัดยานนาวา วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ส่วนระดับชั้นอื่นๆ จะมีการติดประกาศในวันถัดไปที่สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง วัดปากน้ำฯ
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค. มีการตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงทุกชั้นประโยคที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ปีนี้มีจำนวนนักเรียนผู้เข้าสอบ ตั้งแต่ประโยค1-2 ถึงป.ธ.9 จำนวน 30,320 รูป ลดลงทั้งสิ้น 1,605 รูป จากปีที่แล้วสอบจำนวน 31,925 รูป
ในการนี้นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ทองย้อย แสงสินชัย" ความว่า เป้าหมายลวง
"วันนี้ (26 มีนาคม 25692 ) คณะสงฆ์-โดยกองบาลีสนามหลวง-จะประกาศผลสอบบาลีประจำปี ผมขออนุญาตแสดงความเห็นไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งว่า การเรียนบาลีในบ้านเรา-กำลังหลงทาง เราไม่ได้มุ่งไปที่การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นเป้าหมายนำ แต่เราถูกครอบงำด้วยผลการสอบ
การมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัย ถูกอธิบายให้เห็นว่าเป็นเพียงผลพลอยได้ กล่าวคือเมื่อมีการทักท้วงกันขึ้นถึงวิธีเรียนวิธีสอนที่มุ่งผลคือการสอบได้ ก็จะมีคำอธิบายว่า ถึงจะมุ่งผลอย่างนั้นก็จริง แต่กระนั้นผู้เรียนก็ย่อมจะได้ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยไปด้วยอยู่ในตัว คำอธิบายแบบนี้ก็คือยืนยันว่าความรู้ในหลักพระธรรมวินัยเป็นเพียงผลพลอยได้นั่นเอง
สอบได้คือผลที่ต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลการสอบจึงกลายเป็นกำแพง-หรืออาจจะเป็นถึงภูเขาลูกมหึมา-ที่ขวางหน้าเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนบาลีไว้ สอบตก ก็ท้อใจ สอบได้ ก็เริงใจ เมื่อสอบตก ก็ไม่มีกำลังใจที่จะก้าวข้ามไปให้ถึงความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย
แม้สอบได้-โดยเฉพาะประโยคสูงสุด คือ ป.ธ.9 ก็คิดไปว่าตนบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะก้าวไปให้ถึงระดับค้นคว้าศึกษาหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัยต่อไปอีก เป็นอันว่า ไม่ว่าจะสอบตกหรือสอบได้ล้วนเป็นกำแพงกั้นเป้าหมายที่ถูกต้องทั้งสิ้น
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราไปให้ค่านิยมที่เบี่ยงเบนแก่ผลการสอบ แล้วค่านิยมนั้นก็ย้อนกลับมาครอบงำตัวเอง
แล้วจะให้ทำอย่างไร?
ที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ ย้ำยืนยันให้ชัดเจนกันไปตั้งแต่เริ่มต้นว่า เป้าหมายของการเรียนบาลีคืออะไร ซึ่งคำตอบก็คือ (1) เพื่อการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย (2) แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง (3) แล้วบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้อื่นต่อไป และนี่แหละคือการรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างยั่งยืนมั่นคงตลอดไป
จะยกเอาสิทธิประโยชน์หรือผลพลอยได้ต่างๆ ขึ้นมาเป็นเครื่องล่อก็ได้ ไม่ขัดข้อง แต่ต้องบอกเป้าหมายที่ถูกต้องให้เข้าใจชัดเจนไว้ด้วยเสมอ เพื่อที่ว่าผู้เรียนผู้สอนจะได้ตั้งจิตไว้ถูกต้องไปตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างถูกต้องด้วย นั่นคือสอนและเรียนเพื่อให้เข้าใจพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่สอนและเรียนเพียงเพื่อให้แปลได้ทำข้อสอบได้เป็นหลักอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้
ผลการเรียนบาลีจะต้องวัดกันที่-มีการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย ค้นคว้าพระคัมภีร์ต่างๆ อึกทึกคึกคักไปทั่วสังฆมณฑลตลอดทั้งปี วัดผลกันที่มีการหยิบยกหลักพระธรรมวินัยขึ้นมาถกแถลงหาความรู้และความถูกต้องกันอย่างกว้างขวางตามสำนักวัดต่างๆ ตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยเกิดขึ้น ก็สามารถวินิจฉัยชี้ถูกผิดโดยใช้หลักพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาความเห็นส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่วัดผลกันเพียงแค่ประกาศผลสอบ ชื่นชมยินดีกับผู้สอบได้กันปีละครั้งชั่ววูบวาบหนึ่งแล้วก็เงียบหายจนกว่าจะถึงฤดูกาลต่อไป
และในระหว่างเวลาเหล่านั้น มีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับพระธรรมวินัยขึ้นมา ก็หาคนตอบไม่ได้ ปล่อยให้ต่างคนต่างคิดตัดสินผิดถูกไปตามความเข้าใจเอาเอง - อย่างที่กำลังเกิดขึ้น เป็นอยู่ เป็นไปในเวลานี้ ทั้งๆ ที่เราผลิตผู้ที่เชื่อว่า “บรรลุเป้าหมายแล้ว” ออกมาปีละมากๆ และวันนี้ อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะประกาศรายชื่อผู้บรรลุเป้าหมายออกมาอีกจำนวนหนึ่ง เพราะมัวแต่หลงเป้าหมายลวง เราจึงลืมเป้าหมายจริง
หยุด แล้วคิด ปรับทิศทาง ปรับค่านิยมกันใหม่ มิเช่นนั้นเราจะหลงไปไกล จนกลับไม่ถูกนะครับ ผมรู้ดีว่าการตะโกนบอกแก่คนหมู่มากที่กำลังเฮโลกันไปผิดทาง และตะบึงไปอย่างรุนแรงมุ่งมั่นนั้น โอกาสที่จะมีผู้ได้ยินและหยุดฟังมีน้อยมาก หยุดฟังแล้ว คิดได้หรือได้คิด ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก ตรงกันข้าม มีโอกาสสูงมากที่จะถูกมองด้วยความรำคาญ หรืออาจถึงกับชิงชังรังเกียจ เพราะดูเหมือนว่ากำลังไปขวางทางหรือสวนทาง แต่ผมก็ตั้งใจที่จะทำ ด้วยความหวังว่า-สักครั้งหนึ่ง หรือสักวันหนึ่งจะมีคนฟังแล้วเข้าใจ และได้คิด
แต่จะอย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่มีรายชื่อว่าสอบผ่าน-โดยเฉพาะผู้ที่ผ่าน ป.ธ.9 และ บ.ศ.9 ผมขอแสดงความยินดีด้วยอย่างจริงใจ ผมขอให้ท่านฉุกคิดสักนิด-ในท่ามกลางความปีติเอิบอิ่มท่วมท้นนั้น ท่านแน่ใจหรือว่าท่านบรรลุเป้าหมายแล้ว และท่านแน่ใจหรือว่าเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้นั้นเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริงของการเรียนบาลี
ฉุกคิดสักนิดนะครับ สำหรับท่านที่สอบไม่ผ่าน ผมก็ขอแสดงความเสียใจด้วย
อันที่จริงแล้วผมไม่จำเป็นจะต้องแสดงความเสียใจอะไรเลย เพราะเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีไม่ใช่อยู่ที่การสอบผ่านหรือสอบได้ นั่นเป็นเป้าหมายลวง เป้าหมายที่แท้จริงคือ การมีความรู้ในภาษาบาลีถึงระดับที่สามารถค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา ฯลฯ ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “พระธรรมวินัย” ได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งและถูกต้อง ซึ่งคุณสมบัติหรือความสามารถดังว่านี้ไม่จำเป็นต้องตัดสินชี้วัดกันที่ผลการสอบที่ประกาศในวันนี้แต่ประการใดเลย คุณสมบัติหรือความสามารถดังว่านี้ตัดสินกันด้วยการลงมือทำ ตัดสินกันที่ว่า-ทำได้หรือยัง ทำได้หรือไม่ และ-ทำหรือเปล่า
โปรดอย่ายอมให้ผลการสอบมาปิดโอกาสที่ท่านจะแสดงความสามารถที่ถูกต้อง ขออย่าได้หมดกำลังใจที่จะก้าวข้ามอุปสรรค-โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งเป้าหมายไว้ผิด
จงก้าวข้ามมันไป แล้วไปให้ถึงปลายทางที่ถูกต้อง นั่นคือ (1) การมีความสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย (2) แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง (3) แล้วบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้อื่นต่อไป
พระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระพุทธศาสนาของชาวเราจะดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างยั่งยืนมั่นคงตลอดไป ก็ด้วยวิธีการเช่นว่านี้เท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น การเรียนบาลีคือการเรียนพระธรรมวินัย การเรียนบาลีจึงต้องมีเป้าหมายดังแสดงมานี้จึงจะเป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง ผิดจากนี้ คือเป้าหมายลวง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์ กิมพิลวรรค์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22
วิเคราะห์ กิมพิลวรรค์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ บทคัดย่อ บทความนี้มุ่งเน้นว...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น