วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

สถิติบวชเณรลด! คาดไม่ถึง ๔๕ ปีเหลือไม่เกิน ๕๐๐ รูป



สถิติบวชเณรลด! คาดไม่ถึง ๔๕ ปีเหลือไม่เกิน ๕๐๐ รูป   : รายงานโดย รศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ผู้ออกแบบพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ภาษาบาลี  มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม



การบวชเรียนตั้งแต่เด็กเป็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยมาช้านาน เหตุผลย้อนหลังจากนี้ไป ๑๐๐ ปี อาจจะเป็นเพราะการเรียนเขียนอ่านจำกัดอยู่เฉพาะวังและวัด เท่านั้น เมื่อรัฐแยกการศึกษาเอาไปจัดเอง ก็ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและให้บริการทางการศึกษาแก่ราษฎรได้อย่างทั่วถึง

ในรอบ ๑๐๐ ปีมานี้ ราษฎรชนบทที่มีฐานะยากจนเมื่อบุตรหลานเรียนจบภาคบังคับชั้นประถมศึกษา เมื่อไม่สามารถส่งเรียนต่อมัธยมศึกษาได้ ก็ให้บุตรหลานบวชเป็นสามเณรเรียนหนังสือ จากสถิติสำนักงานพุทธฯ ที่พอหาได้ล่าสุด (ฉบับสำนักงานพุทธฯ ตีพิมพ์เผยแผ่ ปี ๒๕๖๐ ตัวเลขสำรวจ ปี ๒๕๕๙) ระบุตัวเลขสามเณรทั่วประเทศ จำนวน ๕๙,๕๘๗ รูป หากมีการสำรวจเหตุผลของการบวชสามเณร อาจจะเป็นตัวเลขที่สูงระดับร้อยละ ๙๕ “บวชเรียน เพราะฐานะครอบครัวยากจน” ซึ่งผมก็อยู่ในเหตุผลนี้ เมื่อเรียนจบประถมมีทางเลือกเดียวเท่านั้น คือ บวชเรียน

เมื่อรัฐได้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๕ สาระสำคัญว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก และมีกฎหมายออกตามมากำหนดเพิ่มอีก ๒-๓ ฉบับ

สถิติจำนวนผู้บวชสามเณร มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากตัวเลขเมื่อปี ๒๕๔๗ (หลังบังคับใช้กฎหมาย ๒ ปี) มีสามเณรทั่วประเทศ จำนวน ๗๖,๓๕๒ รูป ผ่านมา ๑๒ ปี ตรวจตัวเลขปี ๒๕๕๙ มีสามเณรทั่วประเทศ จำนวน ๕๙,๕๘๗ รูป ลดลง ๑๖,๗๖๕ รูป เฉลี่ยลดลงปีละประมาณ ๑,๓๙๘ รูป ถ้าปริมาณตัวเลขเป็นไปตามนี้ ภายในไม่ถึง ๔๕ ปี จะมีตัวเลขสามเณรในประเทศไทย ไม่เกิน ๕๐๐ รูป และในจำนวนนี้ อาจจะไม่ใช่บวชเพื่อเรียนอีกต่อไป

ยอดจำนวนตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวนี้ หลายท่านอาจจะมองว่า พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับเป็นสาเหตุหลัก สำหรับผมมองว่า อาจจะมีส่วนอยู่บ้าง ถ้าเป็นสาเหตุหลักจริง ๆ ปริมาณการลดจำนวนสามเณรจะต้องลดลงมากกว่านี้ และเป็นไปเฉียบพลัน ผมมองว่า สาเหตุหลัก คือ อัตราสัดส่วนประชากรเริ่มไม่สมดุล อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง คนอายุย่าง ๕๐ ปี อย่างผม ลองนึกย้อนในวัยเด็ก เราจะได้ยินประกาศชักชวน โน้มน้าว ให้คนไทยคุมกำเนิด “ลูกมากจะยากจน” “มีลูกคนจนไป ๗ ปี” ฯลฯ

ผลจากการกำหนดอัตราประชากรที่ไม่สมดุลดังกล่าวเมื่อเกือบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ต่อนี้ไป เราจะมีประชากรวัยชราเพิ่มมากขึ้น ประชากรวัยแรงงาน ประชากรวัยเด็ก อยู่ในอัตราที่ไม่สมดุลกัน ประกอบกับคุณภาพประชากรวัยแรงงานของเรา ไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนญี่ปุ่น สิงคโปค์ จินตนาการไม่ออกครับ ๒๐ ปีจากนี้ไป ลองอ่านตัวเลขดู ครับ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ ๑๗ คาดว่าในปี ๒๕๖๒ จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สัดส่วนผู้สูงวัยจะมีมากกว่าเด็ก และภายใน ๓ ปี ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๒๐ มีผู้สูงอายุ อายุ ๗๐ ปีขึ้นไป ๔.๖ ล้านคน และคาดว่าในปี ๒๕๘๓ จะมีผู้สูงอายุมากถึง ๒๐.๕ ล้านคน หรือร้อยละ ๓๒ ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรวัยแรงงานมีเพียง ๓๕.๑๘ ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนวัยแรงงานในปี ๒๕๕๓ ที่มีอยู่ ๔๒.๗๔ ล้านคน หรือ ลดลง ๗.๖ ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศแน่นอน ……

ผมลองนึกทบทวนอดีตผมบวชเป็นสามเณร จากครอบครัวที่มีพี่น้อง ๓ คน เพื่อนๆ ที่บวชเณรในวัยเดียวกันส่วนมากร้อยละ ๙๐ มีพี่น้อง จะหาได้ยากมาก ๆ ผู้ที่เป็นลูกคนเดียวบิดามารดาอนุญาตให้บวชเรียนได้ ซึ่งเราพบในวรรณกรรมศาสนามีพระเถระหลายรูปที่เป็นบุตรคนเดียวบิดามารดาไม่อนุญาตให้ท่านบวช (หลายท่านต้องอดอาหารยอมตายกันเลยทีเดียวจึงได้รับอนุญาตให้บวช) ซึ่งเหตุผลนี้ ผมคาดว่า ยังเป็นเหตุผลหลักที่บิดามารดาต้องการพึ่งพิงบุตรหลานยามวัยชรา จึงไม่ยอมอนุญาตให้บุตรหลาน(ที่มีอยู่อย่างจำกัด) บวชเรียนเป็นเวลานาน คงให้บวชในระยะสั้น ๆ ดังสภาพที่ปรากฏในช่วงภาคฤดูร้อนปิดเทอม เท่านั้น

เมื่ออัตราคนเกิดน้อยลง ก็เป็นผลให้มีวัยแรงงานน้อยลงในอีก ๒๐ - ๓๐ ปีต่อมา และจำนวนประชากรวัยสูงอายุก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี จากนี้ไปผมไม่ต้องการให้มีการรณรงค์เพิ่มยอดบวชเรียนนะครับ (แม้จะรณรงค์อย่างหนัก แต่ความคิดผม อาจจะไม่คุ้มทุน) เพราะดูโครงสร้างประชากร ณ ตอนนี้ คนบวชเรียนตั้งแต่เป็นสามเณรนับวันแต่จะลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่อยากเห็น ณ ตอนนี้ คือ ทุ่มทุนทรัพย์ดูแลคุณภาพการเรียน คุณภาพชีวิตสามเณรเกือบ ๖๐,๐๐๐ รูป ซึ่งกระจายเรียนอยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีโรงเรียนปริยัติธรรม เช่น

กรุงเทพฯ ๓,๒๘๑ รูป จังหวัดในเขตภาคเหนือ เชียงใหม่ ๕,๓๔๒ รูป เชียงราย ๒,๗๓๖ รูป น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน มียอดตัวเลขรวมกัน อาจจะมากถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ในเขตภาคอีสาน อุดรธานี ๓,๓๒๘ รูป อุบลราชธานี ๓,๒๖๘ รูป มีอีก ๕ - ๖ จังหวัด มีจำนวน ๑,๐๐๐ รูป ขึ้นไป

เรามีทรัพยากรบุคคลที่มีค่า คือ สามเณร เกือบ ๖๐,๐๐๐ รูป อีก ๒๐ - ๓๐ ปี แม้หากลาสิกขาออกไป ก็นับเป็นประชากรวัยแรงงานที่มีคุณภาพ หากดำรงสมณเพศต่อไป ก็เป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา หากท่านสามารถดำรงชีวิตอยู่จนถึงอายุ ๘๐ - ๙๐ ปี ท่านก็จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระประมุขของพระสงฆ์ไทย พระองค์หนึ่งอย่างแน่นอน

เห็นหลายท่านทำบุญ ทำทาน ถวายปัจจัยบำรุงการศึกษาอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร ทั้งที่โพสประชาสัมพันธ์ชักชวนและไม่โพสประชาสัมพันธ์ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย (สำหรับผมมองว่า ทำบุญแล้วโพสประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะบางท่านเห็นแล้วได้ร่วมบุญกับท่านก็ได้บุญ บางท่านอนุโมทนาก็ได้บุญเหมือนกัน)โดยเฉพาะท่าน ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ ทำด้วยตัวท่านเองมาตั้งแต่ต้น จำนวนเงินบริจาคไม่น้อยเลย ยังได้ชักชวนเพื่อนพ้อง น้องพี่ รู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ร่วมกันถวายทุนการศึกษา

เชื่อว่า สามเณรที่เราช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงวันนี้ อีก ๕๐ - ๖๐ ปี คือ สมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช เราสามารถเลือกและสร้างสมเด็จพระสังฆราชได้ 


5 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเรื่องที่น่าใจหายนะคะ เรามาช่วยกันปลุกสามัญสำนึก ให้กับคนไทยมองเห็นความสำคัญของการบวชสามเณรให้เหมือนสมัยก่อนกันเถอะค่ะ ด้วยการสนับสนุนให้เด็กไทยบวชสามเณรกันเยอะๆนะคะ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวกันต่อไป ก่อนที่เมืองไทยจะเป็นเพียง "อดีตเมืองพุทธ" สาธุๆๆค่ะ 🌺🙏🙏🙏🌺

    ตอบลบ
  2. อนุโมทนาสาธุค่ะ อายุพระพุทธศาสนาจะยืนยาวต้องมีศาสนทายาทไว้สืบทอด ปิดเทอมนี้ส่งลูกหลานมาบวชสามเณรภาคฤดูร้อนกันค่ะ

    ตอบลบ
  3. บวชเณรกุลบุตรในทุกๆ ปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนกันให้มาก ๆ และสนับสนุนการเรียนในหลักสูตรสามเณรให้แพร่หลายและมีการยอมรับให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาพระพุทธศาสนา และการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

    ตอบลบ
  4. รักพระพุทธศาสนาด้วยการส่งบุตรหลานมาบวชเรียนเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่โลก เพื่อเป็นที่พึ่งที่ระลึกแก่มวลมนุษย์ชาติตราบนานเท่านาน สาธุค่ะ

    ตอบลบ

วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22

  วิเคราะห์ อักโกสกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ อั...