วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562

ไทย–ภูฏานจับมือทางการค้าตั้งเป้า 50 ล้านเหรียญสหรัฐปี2564



วันที่ 27 กันยายน 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายน 2562 ณ กรุงทิมพู ประเทศภูฏาน ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน โดยการประชุมครั้งนี้ เน้นการหารือเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตั้งเป้ามูลค่าการค้าสองฝ่ายเติบโตจาก 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน สู่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 ตามเจตนารมณ์ของผู้นำทั้งสองประเทศ 

ทั้งนี้ ภูฏานสนใจเรื่องการแปรรูปผลผลิตการเกษตร การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า OGOP (One Gewog One Product) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหัตถกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยเชี่ยวชาญ และยินดีแบ่งปันประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ นอกจากนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่ไทยและภูฏานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 30 ปี ซึ่งเห็นว่าชาวภูฏานมีทัศนคติที่ดีกับคนไทย เริ่มรู้จักสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น ผ่านการไปท่องเที่ยวและศึกษาในไทย จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

<iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/50KTcPaZo38" frameborder="0" allow="accelerometer; autoplay; encrypted-media; gyroscope; picture-in-picture" allowfullscreen></iframe>

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งร่วมในคณะผู้แทนไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประชุม JTC ครั้งนี้ ฝ่ายภูฏานแจ้งว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะขยายเขตนิคมอุตสาหกรรม (industrial estate park) เพื่อดึงดูดการลงทุนในภูฏาน ฝ่ายไทยจึงได้ขอให้ภูฏานแจ้งข้อมูลกฎระเบียบด้านการลงทุน และโครงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้ฝ่ายไทยทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่นักลงทุนไทยที่สนใจ โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การโรงแรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยได้มีการลงทุนด้านธุรกิจโรงแรมในภูฏานอยู่แล้วหลายราย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในรายละเอียดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะดำเนินการและพัฒนาร่วมกันได้ อาทิ (1) ด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้กลไกความร่วมมือด้านการเกษตรที่มีอยู่ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรและการประมง โดยภูฏานสนใจส่งออกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพมาไทย เช่น ถั่งเช่า เห็ด ควินัว หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง และน้ำผึ้ง เป็นต้น ซึ่งไทยได้ให้ข้อมูลด้านกฎระเบียบมาตรฐานการนำเข้าของไทย เพื่อให้ภูฏานสามารถจัดเตรียมเอกสารข้อมูลการยื่นคำขอนำเข้าได้ถูกต้อง (2) ด้านหัตถกรรม ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้บันทึกความเข้าใจ หรือ MoU ที่มีอยู่ระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศของไทยกับกรมอุตสาหกรรมครัวเรือนของภูฏาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือทางวิชาการด้านหัตถกรรมให้มากขึ้น โดยฝ่ายไทยได้เชิญภูฏานเข้าร่วมจัดนิทรรศการและจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในงาน Craft Bangkok และงานฝ้ายทอใจที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีแผนจัดขึ้นในปี 2563 ด้วย และ (3) ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีสนับสนุนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับภูฏาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ด้านการบริหารจัดการโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้หารือและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้วย

นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่า ฝ่ายภูฏานสนใจเรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ National single window) โดยเฉพาะข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) และการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบ และมีการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านนี้ ไทยจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางวิชาการแก่ภูฏานในเรื่องเหล่านี้ โดยขอให้ฝ่ายภูฏานแจ้งความต้องการในรายละเอียด เพื่อจะได้วางแนวทางทำกิจกรรมร่วมกันต่อไป และไทยได้เชิญชวนให้ภูฏานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีแผนจะจัดขึ้นด้วย เช่น งาน STYLE (17 – 21 ตุลาคม 2562) งาน Bangkok Gems and Jewelry (กุมภาพันธ์และกันยายน 2563) และงาน THAIFLEX-Anuga (พฤษภาคม 2563) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสดีในการนำเสนอสินค้าศักยภาพของภูฏานให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทยและต่างประเทศที่มาร่วมงาน

ทั้งนี้ ภูฏานเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทยในเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 39.75 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 39.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากภูฏาน 0.05 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. – ส.ค.) การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 28.14 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 28.04 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผ้าทอจากฝ้าย เป็นต้น และไทยนำเข้าจากภูฏาน มีมูลค่า 0.10 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น สินแร่โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำแร่ และผักและผลไม้ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...