วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

"ทิม พิธา"สวมบท"ปธ.กมธ.ที่ดิน" จัดถกหาแนวแก้เหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน




 "ทิม พิธา" จัดสัมนา "กมธ.ที่ดิน" ระดมแนวคิดทุกภาคส่วน เร่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน - Prof. Philip ชี้คนรวยที่ดินเพิ่ม คนจนที่ดินลดโดยปริยาย

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562  ที่ห้องวายุภักษ์ 3 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมนาเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทย' พร้อมทั้ง นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.แบบบัญชีราชชื่อพรรคอนาคตใหม่ และนายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงทางออกประเทศไทยกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดิน อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณผาสุก พงษ์ไพจิตรและ Professor Philip Hans HIRSCH อาจาย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่องปัญหาที่ดินและการบริหารจัดการที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังมีการอภิปรายของตัวแทนแต่ละภาคส่วนอาทิ ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์, ตัวแทนกลุ่ม P-move เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลในปี 2561 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 ถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 61.5 ขณะที่ประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 หรือแตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า จะเห็นได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใช้แล้วก็ตาม แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินยังดำเนินอยู่ต่อไป คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร จึงได้จัดสัมนาขึ้นในวันนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดินให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นายพิธา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน มากกว่า  3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใด ๆ เลย โดยร้อยละ 61 ของโฉนดที่ดินของประเทศไทย  อยู่ในการถือครองของประชาชนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากมาตรการทางภาษีที่ไม่มีการเก็บภาษีที่ดินในลักษณะอัตราก้าวหน้า  และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทยขาดเอกภาพในการจัดการที่ดินที่อยู่ในการถือครองของรัฐ เกิดเป็นปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดด้านสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติจนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน  โดยมีสถิติทางคดีที่น่าตกใจว่า ช่วง 3 ปี ระหว่าง เดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2560 มีชาวบ้านต้องคดีบุกรุกป่าและทำไม้ สูงถึง 44,610 คดี ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงสถานการณ์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดิน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินในเขตป่า  ปัญหาข้อติดขัดการผลักดันนโยบายการจัดการที่ดินใหม่ๆ ปัญหาการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ทั้งในและนอกเขตป่าซึ่งก่อผลกระทบกับเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน  ตลอดจนการปัญหาการแก้ไขผังเมืองซึ่งเป็นหลักสำคัญในการจัดการที่ดิน โดยไม่ยึดโยงกับหลักวิชาการหรือผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของประชาชน 

"ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ผมอย่างจะขอยกตัวอย่าง คำนิยามที่ดินของ The United Nations and Land and Conflict เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019   เพราะคำนิยามจะเป็นประเด็นที่สำคัญในการกำหนดและวางแนวทางการพิจารณาทางกฎหมาย ในนิยามที่ดินดังกล่าว คือพื้นผิวของโลก รวมถึงพื้นผิวด้านล่าง อากาศด้านบนและทุกสิ่งที่ผนึกอยู่ในดิน โครงสร้างของที่ดินประกอบไปด้วยทรัพยากรและภูมิทัศน์ และมีนัยยะสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จิตวิญญาณและความหมายเชิงคุณค่า ที่ดินเป็นเสมือนทรัพย์สินที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผูกพันใกล้ชิดกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ซับซ้อน เป็นทรัพยากรที่มีการเข้าถึงจำกัดและเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึง ควบคุม และความเป็นเจ้าของ ของที่ดินผูกพันเกี่ยวข้องกับอำนาจ ความมั่งคั่ง อัตลักษณ์และแม้กระทั่งความอยู่รอดของประชากรของโลกจำนวนมาก  ที่ดินในรูปแบบด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ยังผูกพันโดยตรงกับสันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่ดินยังรวมทั้งสิทธิในทรัพย์สิน  เขตแดน และความชอบธรรมในสิทธิการถือครอง ในฐานะที่ที่ดินถูกใช้เป็นมาตรฐานของสากล สิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดิน และทรัพย์สินจากมุมมองทางมนุษย์นิยม สิทธิในที่ดิน การจัดการที่ดิน การปกครองและกำกับดูแลที่ดินและการบริหารที่ดิน และระบบข้อมูลพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ที่สนับสนุนกระบวนการเหล่านี้ที่นำมาใช้โดยรัฐบาล และการถือครองที่ดินที่ตอบสนองสำหรับความสัมพันธ์ทางสังคมอันสลับซับซ้อนท่ามกลางผู้คนด้วยความเคารพที่ดินและทรัพยากรของพวกเขา มีความต่อเนื่องของรูปแบบการถือครองที่ดินที่รวมไปถึงทุกๆ ความชอบธรรม อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับที่ดินในฐานะภารกิจของสังคมที่ไม่ใช่เพียงแค่ที่ดินในฐานะสินค้า   รูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในประเภทของการถือครองที่ดินจะต้องถูกพิจารณาความชอบธรรมในสายตาของชุมชนและความสามารถของความถูกต้องตามกฎหมายด้วยเอกสารรับรองที่ดิน โดยรวมทั้งรูปแบบทางการและไม่เป็นทางของสัญญาเช่า รูปแบบการเช่าที่อยู่อาศัยแบบสหกรณ์   วัฒนธรรมประเพณีและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง  ชุมชนและสิทธิเชิงกลุ่ม รวมทั้งที่ดินที่ไม่เป็นทางการของสลัมในเมือง"  นายพิธา กล่าว 

สำหรับความสำคัญของที่ดินนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า  ที่ดินเป็นสินค้าสมมุติ ต่างจากสินค้าอื่น ไม่ใช่สิ่งผลิตเพื่อขายในตลาด ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สำคัญต่อมนุษย์ในหลายมิติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย จึงไม่อาจเป็นของเอกชนเต็มที่ บทบาทของสังคมในการกำกับดูแลที่ดินจึงมีสูงและสำคัญมาก ที่ดินมีพลวัตในตัวเอง เป็นเรื่องของสิทธิความเป็นธรรม ที่ดินนั้นเป็นทรัพย์ สามารถนำไปลงทุน ใช้ค้ำประกันได้ สำหรับเกษตรกรนั้น ที่ดินยังเป็นแหล่งของรายได้ ชีวิตครอบครัว เป็นที่ตั้งบ้านเรือนและเป็นการให้ความมั่นคงแก่ชีวิต การถือครองจึงต้องสอดคล้องกับความจำเป็นของผู้ถือครอง การกระจายที่ดินควรจะพอๆกัน ในส่วนของความเหลื่อมล้ำการเข้าถือครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจแบบต่างๆ เป็นปัญหาที่สำคัญมาก ปัญหาใหญ่ๆคือการที่รัฐเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน เป็นการทำให้เกิดข้อพิพาท ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน สำหรับเรื่องของปัญหาที่ดินในประเทศไทยสามารถแบ่งคร่าวๆได้ 6 ข้อคือ 1.การเข้าถึงสิทธิที่ดินไม่ได้ 2.เข้าถึงสิทธิในการใช้ที่ดินได้ แต่ไม่มั่นคง 3.ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนเรื่องที่ดิน 4.นโยบายไม่ชัดเจนและเปลี่ยนบ่อย 5.มีหลายหน่วยงานของรัญในการจัดการที่ดิน มีความซ้ำซ้อน อาจขัดกันเองและใช้อำนาจโดยมิชอบ และ 6.หน่วยงานรัฐขาดประสิทธิภาพ

ด้าน Professor Philip Hans HTRSCH กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน ไม่ใช่แค่ปัญหาในประเทศไทย แต่ปัญหานี้ปรากฎขึ้นอยู่ทั่วโลก แนวทางการแก้ปัญหาก็จะแตกต่างกันออกไปในบริบทของแต่ละพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้คือช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน หากคนรวยมีที่ดินเพิ่มขึ้น คนจนจะมีที่ดินน้อยลงโดยปริยาย เรื่องปัญหาที่ดินนั้นเป็นปลายเหตุของความเหลื่อมล้ำ ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การถือครองที่ดินนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตรหรือที่ดินในเมือง นายทุนมีกำลังซื้อที่ดินมากกว่า ส่วนชาวบ้านในชนบทจำใจขายที่ดินเพื่อไปแสวงหาความมั่นคงในเมือง มูลค่าที่ดินในเมืองนั้นมากกว่ามูลค่าที่ดินในชนบท ดังนั้นเราไม่สามารถวัดความเหลื่อมล้ำในการถือครองจำนวนที่ดินได้อย่างชัดเจน และหากมองถึงต้นเหตุของปัญหา คือการกระจายการถือครองที่ดิน การเข้าถึงความเป็นธรรม การเข้าถึงข้อมูล และการยอมรับสิทธิ์ สถานภาพในการถือครองที่ดิน หากเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำในที่ดินนี้ ต้องมีความโปร่งใสในการจัดทำข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาที่ดิน โดยปรับสภาพตามแต่ละพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายของการสัมนา ได้มีการอภิปรายจากตัวแทนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่า และแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์และความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน โดยการอภิปรายในเรื่องต่างๆจะแยกห้องในการอภิปรายเพื่อให้ได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็นที่ชัดเจน เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้เห็นถึงปัญหา และเป็นแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...