วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

"เจิมศักดิ์"แนะเมืองกรุงจัดระเบียบ รองรับ"คนสูงวัย ไม่ตายกลางถนน"



วันที่ 30 กันยายน 2562  นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักจัดรายการชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า สูงวัย ไม่ตายกลางถนน  กลางวันของพฤหัสบดี 26 กันยายน ที่ผ่านมา หญิงชราวัย 65 ปี ซึ่งเคยเกิดเหตุหกล้มสะโพกหักต้องดามด้วยเหล็ก กำลังจะเดินข้ามถนนเพื่อไปขายของเล็กๆ น้อยๆ และไปพบปะกับเพื่อนเพื่อให้ชีวิตในยามชรามีความสุขตามอัตภาพ

ขณะที่เธอเดินข้ามถนน รถเมล์ร่วมประจำทาง สาย 77 วิ่งมาจากแยกดินแดงมุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาติดไฟแดงบริเวณปากซอยราชวิถี 8 ในช่องเดินรถที่สาม เมื่อสัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว คนขับรถเมล์ได้ขับรถชนคุณยาย ล้อรถบดทับบนร่างของหญิงชรา ทำให้เสียชีวิตกลางถนน

คนขับให้สัมภาษณ์ว่า ขณะขับรถไม่รู้ว่าได้ชนและทำให้คนเสียชีวิต จนกระทั่งได้ยินเสียงคนตะโกนบอกว่า “รถทับคน” ทบทวนได้ความว่ามีรถบรรทุกปูนซีเมนต์หยุดอยู่ในทิศทางตรงข้าม แต่ไม่ได้เอะใจว่าจะมีคนข้ามถนน เมื่อได้รับสัญญาณไฟเขียวจึงออกรถ อธิบายว่าด้านหน้ารถเมล์สูงมองไม่เห็นตัวคนข้ามถนน นับเป็นโศกนาถกรรมที่เกิดขึ้นใจกลางมหานครของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 15 ประเทศ ที่ชาวโลกยกย่องให้เป็นสถานที่ให้ผู้สูงอายุจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

เป็นความจริงที่ผู้สูงอายุจากต่างชาติจำนวนไม่น้อย เช่น จากประเทศญี่ปุ่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวียและยุโรปปรารถนาที่จะมาใช้ชีวิตในบั้นปลายที่ประเทศไทย

หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไป ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่และสุขสบายสำหรับผู้สูงอายุที่มีฐานะดี จริงอย่างที่ต่างชาติล้ำลือ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีฐานะไม่ดีเป็นคนชั้นล่างของสังคม “ที่แก่ก่อนรวย” ยังประสบความยากลำบากในการดำรงชีพเป็นอย่างมาก

กรณีของคุณยายญาดา จงจรูญ ที่ถูกรถเมล์ทับข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทย แม้ใจกลางเมืองหลวงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ยังมิได้จัดระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะมีปัญหาหนักหนาสาหัสในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวนมากถึงหนึ่งในสามของคนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนมากก็เป็นคน “แก่ก่อนรวย”

หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า คุณยายทำไมถึงไม่ใช้สะพานลอยในการข้ามถนน ถ้าวิญญาณของคุณยายตอบได้คงจะอธิบายว่า ด้วยวัยของคุณยายที่แขนขากล้ามเนื้ออ่อนแรง เคยประสบเหตุสะโพกหักมาแล้ว การที่จะต้องเดินขึ้นบันไดของสะพานข้ามถนน จะต้องยันกายมือจับราวระวังล้ม กว่าจะถึงชั้นบนของสะพานก็คงเหนื่อยแทบขาดใจ เมื่อเดินข้ามสะพานไปอีกฝั่งก็ยังต้องยันกายลงสะพาน มือจับราวสะพานกันลื่นล้มตกบันได กว่าจะถึงพื้นดินก็หลายสิบขั้น

เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากมายมหาศาล ในอนาคตเราจะปรับสภาพแวดล้อมให้กับผู้ใช้ทางด้วยเท้าทั้งบนบาทวิถี และทางข้ามถนนให้สะดวกปลอดภัยได้อย่างไร

ข้อดีของการมีสะพานลอยข้ามถนน

1. รถยนต์สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างสะดวกคล่องตัวได้มากขึ้น โดยผลักภาระให้ผู้เดินเท้าจะต้องหลบรถปีนบันไดขึ้นสะพานทางข้าม และลงสะพานทางข้ามอีกด้านหนึ่ง ในบางกรณีผู้ที่ต้องการข้ามถนนจะต้องเดินอ้อมไปหาสะพานข้ามถนนที่อยู่ไกล และเมื่อลงจากสะพานข้ามถนนก็ยังต้องเดินเท้าไปยังที่หมาย

2. สะพานคนเดินข้ามถนน (สะพานลอย) จะไม่ช่วยให้รถเคลื่อนตัวได้คล่องมากนักในบริเวณกลางใจเมืองที่มีรถติดหนาแน่นอยู่แล้ว แต่สะพานลอยสำหรับคนเดินข้ามถนน อาจจะเหมาะสำหรับรถบนถนนที่วิ่งได้เร็ว โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ชานเมืองหรือนอกเมือง

ทางคนเดินข้ามถนน (ทางม้าลาย)

1. เป็นการยกระดับความสำคัญคนเดินเท้าให้เสมอกับคนขับรถ เพราะเมื่อมีสัญญาณไฟจราจรสลับสับเปลี่ยน เวลาที่รถวิ่งและเวลาที่คนเดินข้ามถนน ก็เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสิทธิการใช้ถนนที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

2. บริเวณถนนในเมือง ที่มีรถหนาแน่นติดขัดเคลื่อนตัวได้ยากลำบาก การให้คนเดินข้ามถนนในทางม้าลายจะไม่ทำให้รถติดมากขึ้นเท่าใดนัก เพราะเมื่อจอดให้สิทธิคนข้ามถนน และพอได้รับสัญญาณเคลื่อนรถก็สามารถวิ่งต่อไปทันรถคันหน้าที่อยู่ไม่ไกล เพราะอย่างไรรถก็ติดขัดวิ่งไม่ค่อยได้อยู่ดี

คนเดินบนทางเท้า (บาทวิถี) ในปัจจุบัน ยังต้องผจญกับจักรยานยนต์ที่หลบขึ้นวิ่งบนทางเดินเท้า นอกจากขโมยสิทธิการเดินเท้าอย่างปลอดภัยแล้ว ยังเกิดเหตุเชี่ยวชน บาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก็มีไม่น้อย ยิ่งกว่านั้นยังมีการอนุญาตให้ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สามารถนำรถของตนมาจอดบนทางเท้าในบางจุดได้อีกด้วย

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนคน ทับผู้สูงอายุเสียชีวิต หรือแม้แต่เฉี่ยวชนจนล้ม ก็สร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะการเจ็บปวดมิได้เกิดแต่เฉพาะเหยื่อผู้ถูกรถชนเท่านั้น แต่ยังเจ็บไปทั้งบ้านทั้งครอบครัว การสร้างระบบรองรับปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสังคมสูงวัย จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการบาดเจ็บ พิการ หรือล้มตาย ซึ่งคนขับรถต้องรับโทษและเสียเวลาไปอย่างมากกับคดีความอีกด้วย

เพื่อดัดสันดานคนขับรถที่ไม่ยอมหยุดรถในทางคนข้าม (ทางม้าลาย) เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจจับสม่ำเสมอ ให้ทุกครั้งที่มีคนฝ่าสัญญาณไฟไม่หยุดให้คนข้าม จะต้องถูกจับดำเนินคดีอย่างสม่ำเสมอ อาจนำเทคโนโลยีที่ต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศจีนนำมาใช้ กล่าวคือ เมื่อมีสัญญาณไฟให้ผู้เดินเท้าสามารถเดินข้ามถนนได้ ก็จะมีหมุดลักษณะเป็นแท่งกลมผุดขึ้นจากถนน เพื่อกันมิให้รถยนต์เข้ามาประชิดถึงผู้ที่เดินข้ามถนนได้ และเมื่อไฟสัญญาณจราจรอนุญาตให้รถยนต์วิ่ง หมุดดังกล่าวจะลดระดับต่ำลงไปเสมอพื้น

ในประเทศญี่ปุ่น บริเวณใจกลางเมืองหรือสี่แยกที่มีผู้คนหนาแน่น เจ้าหน้าที่จะจัดไฟจราจรในบางช่วงเวลาให้รถยนต์ต้องหยุดในถนนทั้งสี่ด้าน (ไฟแดงทุกด้าน) ทั้งนี้เพื่อให้คนเดินเท้าสามารถเดินข้ามถนนในทิศทแยงมุมเพื่อความสะดวกรวดเร็วได้ แทนที่ผู้เดินเท้าจะต้องเดินข้ามถนนสองช่วง แสดงให้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับผู้เดินเท้ามากกว่าผู้ใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญเพราะผู้เดินเท้าต้องฝ่าควันพิษ แดดร้อน เหงื่อโทรมกาย ต่างกับผู้ที่ใช้รถยนต์ที่ได้นั่งและบางกรณีมีเครื่องปรับอากาศสบายกว่ามาก

ข้อเสนอที่ให้ความสำคัญกับผู้เดินเท้า ดูจะขัดกับวัฒนธรรมของไทย แต่เดิมที่เน้นสิทธิให้ความสำคัญกับคนระดับสูงที่มีอำนาจ ร่ำรวย มีรถยนต์ชั้นดีใช้

ข้อเสนอเพื่อปรับสภาพแวดล้อมการเดินทางด้วยเท้านี้ รวมถึงการปรับสภาพถนน ทางยกระดับให้เหมาะสมสามารถใช้ได้กับคนทุกวัย ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ การยอมรับของสังคมชั้นสูงที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นแก่มนุษยธรรม ยกระดับฐานะของประเทศในสายตาของต่างชาติ ให้เป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนทุกวัยและทุกชนชั้นอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...