วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
“คณะก้าวหน้า”ลุยเชียงราย 15 ก.ค.เปิดรับผู้สมัครท้องถิ่นทางออนไลน์
“คณะก้าวหน้า” ลุยเชียงราย - จัดเต็ม “Common School On Tour ” - “ปิยบุตร” ชี้ ไม่ได้คิดร้ายต่อบ้านเมือง ลั่น 15 ก.ค.นี้ ประกาศเปิดรับสมัครผู้สมัครท้องถิ่นทั่วประเทศทางออนไลน์
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตลอดช่วงบ่ายจนกระทั่งถึงหัวค่ำ “คณะก้าวหน้า” ได้จัดโครงการ“ Common School On Tour ” โดยเป็นการบรรยายโดยวิทยากร 3 คน คือ 1.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เชียงราย เขต 1 พรรคก้าวไกล บรรยายในหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับโอกาสของเชียงราย” 2.อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระด้านเชียงรายศึกษา บรรยายในหัวข้อ “พัฒนากาการเมืองการปกครองเชียงราย ยุครัตนโกสินทร์” และ 3.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายในหัวข้อ “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนใจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก โดยทั้งนี้ทางผู้จัดงานได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานทำการลงทะเบียนมาก่อนล่วงหน้า เนื่องจากจำเป็นต้องกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้เริ่มการบรรยายด้วยการอธิบายถึงที่มาของหลักสูตร ว่า ภารกิจที่สำคัญของเราคือการทำงานในทางความคิด จึงได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยให้ชื่อว่า Common School สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้คือ Common หมายถึงร่วมกัน ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และในอีกความหมายหนึ่ง Common หมายถึงสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป จึงเป็นโรงเรียนของคนทุก ๆ คน และ Common ในความหมายสุดท้าย เราเอามาจาก Common Sense หรือสามัญสำนึก เพราะเราต้องการจะใช้โรงเรียนแห่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสามัญสำนึกให้เป็นแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยเราตั้งใจทำเป็นหลักสูตรในหลายๆเรื่อง แต่ทั้งนี้ก็ติดเรื่องของโควิด-19 ทำให้เดินทางมาต่างจังหวัดไม่ได้ และทำให้ไม่สามารถจัดห้องเรียนที่เชิญคนมาเข้าฟังได้ ที่ผ่านมาจึงใช้การบรรยายผ่านทางออนไลน์ไปก่อน โดยเริ่มด้วยซีรี่ย์พิเศษเรื่อง วิกฤตการณ์โควิด 19(84) โดยนอกจากเป็นชื่อไวรัสโคโรน่าแล้วนั้น ยังล้อไปกับชื่อนวนิยายของจอร์จ ออเวลล์ ที่ชื่อว่า 1984 ด้วย ซึ่งการเกิดวิกฤตโควิดได้ส่งผลให้รัฐกลายเป็นรัฐที่มีอำนาจมากขึ้น มีอำนาจนิยมมากขึ้น โดยมาในนามของการรักษาสุขภาพ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหลักสูตรดังกล่าว โดยมีด้วยกันจำนวนทั้งสิ้น 7 ตอน ซึ่งทุกท่านสามารถไปหารับชมได้ใน เพจคณะก้าวหน้าและช่องทาง Youtube ของคณะก้าวหน้าได้ และในครั้งนี้ ที่มาที่จังหวัดเชียงราย เป็นการจัดแบบเดินสายไปในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ครั้งแรกได้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หลักสูตรที่เกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่นและการทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงของการบรรยายเลขาธิการคณะก้าวหน้าได้อธิบายถึงที่มาและประวัติความเป็นของการสร้างเขตแดน และการสร้างรัฐชาติของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการรวมชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ของประเทศไทยว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด รวมทั้งได้บรรยายถึงพัฒนาการของการกระจายอำนาจที่ก่อตัวขึ้นมาบนหลักการสากลและได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่หลักการกระจายอำนาจมีความละเอียดและครบถ้วนที่สุด แต่ทั้งนี้ภารกิจทั้งหมดก็ยังไม่ได้ถูกถ่ายโอนไปที่ท้องถิ่นทั้งหมดอย่างแท้จริง โดยมีการออกเป็น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ที่ได้มีการกำหนด และมีลำดับขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจของราชการส่วนกลางมาที่ท้องถิ่นตามลำดับ
“แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.2549 สิ่งที่คิดฝันในการพัฒนาการกระจายอำนาจได้สะดุดหยุดลง และเมื่อมีการรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การกระจายอำนาจก็ได้ถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งในข้อเท็จจริงหลักการกระจายอำนาจมักไปด้วยกันไม่ได้กับการรวมศูนย์อำนาจที่เมื่อรัฐประหาร มักจะต้องการรวมอำนาจมาไว้ที่คนคนเดียวคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร อีกทั้งการกระจายอำนาจที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในวิธีคิดของเขา ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล โดยจะมีลักษณะสั่งการบังคับบัญชาผู้บริหารท้องถิ่น หรือก่อนหน้านี้ก็มีไม้กายสิทธิ์ในการแขวน การปลด การแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยมาตรา 44 ที่เห็นได้ชัดคือการใช้มาตรา 44 ตั้งผู้ว่า กทม.มานานหลายปีแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเกือบทศวรรษแล้ว และยังต้องมาคอยทวงถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน”
นายปิยบุตร กล่าวว่า สมัยตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ได้เคยเสนอนโยบายไว้ว่าต้องการยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งที่ต้องใช้คำว่าขอทวงคืน เพราะอำนาจแต่เดิมเป็นของท้องถิ่น แต่บางยุคบางสมัยได้ถูกรวมอำนาจไป ซึ่งถึงเวลาเอาอำนาจเหล่านั้นกลับคือมาได้แล้ว โดยต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมด โดยอำนาจการจัดทำบริการสาธารณะต้องเป็นของท้องถิ่น ทั้งนี้ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญก็มีกฎหมายยกเว้นว่าให้เป็นของส่วนกลาง และการแบ่งรายได้ก็ควรแบ่งกันระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลาง 50:50 ไม่ใช่เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ให้งบประมาณท้องถิ่นมาเพียงแค่ 30 กว่าเปอร์เซน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินก้อนนี้ยังรวมถึงงานฝากของส่วนกลาง เช่น จ่ายค่าเบี้ยคนชรา ค่าจ้างผู้บริหารและบุคลากรท้องถิ่น ทำให้เหลือเงินที่ใช้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาท้องถิ่นเพียงนิดเดียว และต่อไปยังจำเป็นต้องให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการหาเงินในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ไม่ใช่แค่การได้เงินจากการเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีป้าย
“นอกจากนี้ ในส่วนของการผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามหลักสากลและเป็นคืนอำนาจให้แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือก้อนระดับชาติ เป็นเรื่อบของรัฐบาลกลางว่าจะปล่อยอำนาจมายังไง ซึ่งในส่วนนี้ผมและคณะก้าวหน้าไม่สามารถเข้าไปกำหนดได้เพราะเราไม่ใช่รัฐบาล และถูกตัดสิทธิทางการเมืองและพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้วโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน แต่เมื่อในสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ เราก็ได้มีการผลักดันตามกลไกที่มีอยู่ ทั้งในชั้นกรรมาธิการ และการตั้งกระทู้ถามสด และอภิปรายในสภา ทั้งนี้เมื่อพรรคโดนยุบ ส.ส.ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ ก็ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ทำงานในสภา และจากที่ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ เข้าใจว่า ส.ส.ของพรรคก็คงจะสืบสานนโยบายและเจตนารมณ์ของพรรคอนาคตใหม่ โดยอีกก้อนหนึ่งคือ การส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเข้าไปผลักดัน เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งทางคณะก้าวหน้าได้ผลักดันในส่วนนี้ โดยประกาศจะส่งผู้สมัครในทุกระดับจำนวน 4000 แห่ง แต่ขณะนี้มีเพียงผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 17 แห่งเท่านั้น ที่ทางคณะก้าวหน้าประกาศส่งอย่างเป็นทางการ เพราะ กระบวนการได้สืบเนื่องมาจากสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ แต่ในส่วนอื่น ๆ ยังไม่มีการส่ง ทั้งนี้จะเปิดรับสมัครทางเว็บไซด์พร้อมกันในวันที่ 15 ก.ค.นี้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ ที่เป็นคนหน้าใหม่ และมีใจอยากร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น อยากร่วมกันเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองเพื่อคืนผลประโยชน์กลับสู่ท้องถิ่น สามารถสมัครเข้ามาได้ผ่านทางออนไลน์ และจะมีกระบวนการคัดเลือกภายในต่อไป” นายปิยบุตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจบช่วงบรรยาย ได้มีคำถามและข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น “สิ่งที่ทำมาถูกต้องแล้ว และช่วยผลักดันเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นให้เกิดขึ้นไวๆด้วยนะครับ” และ “สิ่งที่ตั้งเป้าหมายยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจให้ท้องถิ่น วางแผนไว้กี่ปีถึงจะสำเร็จ”
โดย เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้ตอบว่า “ไม่เคยตั้งปีปฏิทินเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของอนาคต เมื่อลงมือทำความสำเร็จเกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด อาจจะไม่ทันเห็นในช่วงชีวิต แต่นี่คือการทำให้ประชาชนเห็นว่าความหวังยังมีอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของการคิดร้ายต่อแผ่นดินเกิด ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวอยากให้ประเทศไทยเดินหน้า พัฒนา ประชาชนได้ประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา มีวิกฤตที่รอเต็มไปหมด“
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น