วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"ชวลิต"ขึ้นธรรมมาสน์เทศน์สอน"บิ๊กตู่" ผู้นำต้องมีคุณธรรม มีเมตตา รู้จักให้อภัย




วันที่ 27 ก.ค.2563   นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเคยให้ความเห็นแนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อคิดเรียนผูก ก็ต้องเรียนแก้ ไปเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีปัญหาเพิ่มเติม ซับซ้อนขึ้น จึงขอให้ความเห็นถึงแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กล่าวคือ ในการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 เหตผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ สร้างความปรองดองของคนในชาติ หลังจากนั้นก็มีกระบวนการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดปฎิรูปประเทศ มาตรา 257 และในยุทธศาสตร์ชาติ แต่ที่ผ่านมา นับแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในด้านการสร้างปรองดองของคนในชาติแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญยิ่งต่อการรวมพลังสร้างชาติ ไม่แน่ใจว่า ท่านเพลินกับอำนาจ หรือไม่ จนละเลยเรื่องสำคัญ ดังกล่าว เพราะการสร้างความปรองดองของคนในชาตินับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการรวมพลังทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชาติ บ้านเมือง ดังกล่าว ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาสะสมมากขึ้น ๆ ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นความรับผิดชอบของท่านในฐานะผู้นำด้านการบริหารประเทศ เมื่อท่านคิดเรียนผูก ก็ต้องคิดเรียนแก้ แก้ทีละปม กล่าวคือ ปมแรก ควรแก้รัฐธรรมนูญที่วางกติกาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจ ปมนี้ตรงกับข้อเรียกร้องทั้งของประชาชนทั่วไป และนักเรียน นิสิต นักศึกษา นับเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ต้องแก้ทันที นายกรัฐมนตรีต้องชัดเจนถึง time line ของกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงห้วงเวลาเสียสละละวางอำนาจ เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขแล้วเสร็จ ก็ควรยุบสภาทันที แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้กติกาใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม  โปรดอย่าเชื่อผู้ที่เสนอแนะให้ยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญให้นานที่สุด เพราะท่ามกลางความขัดแย้ง และแก้ไขปัญหาใด ๆ ไม่ได้ ยิ่งอยู่นาน ประเทศยิ่งเสียหาย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจซึ่งหนักหนาสาหัส ปมที่สอง ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาแต่ในอดีต ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา 
รัฐบาลได้ปัดฝุ่นประชุมคณะกรรมการ ปยป.ครั้งแรกในปีนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา อย่างน้อยนับเป็นจุดเริ่มต้นทึ่ได้เห็นการเตรียมการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสาธารณะ ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน ปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้อาสาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา เสนอแนะแนวทางสร้างความปรองดองของคนในชาติ ด้วยความสนใจงานด้านนี้มาช้านาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างดำเนินการศึกษา ฯ ซึ่งเมื่อดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ตามขั้นตอน จากนั้นเมื่อคณะกรรมาธิการ ฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ฯ เพื่อส่งไปยังรัฐบาลรับไปพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป ทั้งนี้  เมื่องานสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ของสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายบริหารในคณะกรรมการ ปยป.มาประสานสอดคล้องกัน ก็จะเป็นความชอบธรรมในการอธิบายต่อสังคมในการสร้างความปรองดองของคนในชาติที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 15 ปี สำเร็จไปได้เปลาะหนึ่ง 

ปมที่สาม ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบันซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ นั้น ในการแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อน ขอให้ใช้หลักสันติวิธี ทุกฝ่ายควรอดทน และระมัดระวังอย่างยิ่งที่อาจมีการสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนจากผู้ไม่หวังดีขึ้นได้ ปัญหานี้ควรจบโดยเร็ว ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ควรลงมาพบกับผู้ร้องด้วยตนเอง อย่างผู้ปกครองพบลูก หลาน ด้วยหลักเมตตาธรรม  และประเด็นที่สามารถแก้ไขได้ในทันที คือ การให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม (ตั้ง ส.ส.ร.) โดยกำหนด time line ให้ชัดเจนดังกล่าวข้างต้น ก็จะเป็นการแสดงความจริงใจกับประชาชนในการคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนอย่างแท้จริง ในกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่กล่าวมาดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ควรน้อมนำคุณธรรมขั้นสูง คือ เมตตาและอภัย เป็นหลักคิดในการแก้ปัญหา 

"เมื่อท่านมีเมตตาและอภัยต่อผู้อื่น ท่านย่อมได้รับเมตตาและอภัยกลับคืนเป็นการตอบแทน สังคมก็จะสงบสุข ร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจ และพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าสืบไป" นายชวลิต กล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...