"บิ๊กตู่"เผยครม.เคาะล็อกแรก วงเงิน 1 แสนล้าน ฟื้นฟูศก. - สังคม ภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล.เน้นจ้างงาน-การเกษตรก่อน เล็งหามาตรการอุ้มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ย้ำเข้มงวดใช้จ่ายงบฯอย่างระมัดระวัง
วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.ได้อนุมัตินำเสนอหลักการ โครงการ ในระยะที่ 1 ในเรื่องของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เเงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งระยะแรกจะเน้นหนักด้านการเกษตรก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ในส่วนนักธุรกิจ เอสเอ็มอี เป็นอีกเรื่องที่จะทยอยมีมาตรการออกมาตามลำดับ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสมด้วยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนกลไกของรัฐ หรือกลไกต่างๆกองทุนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ในการที่จะให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้
นายกฯกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้แบ่งโครงการเป็นหลายระยะ วันนี้ครม. อนุมัติโครงการระยะแรกก่อน วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาทในการฟื้นฟู ส่วนระยะที่ 2 ก็ต้องเตรียมการต่อไปที่จะนำมาอนุมัติในครม.ต่อไป สิ่งสำคัญสุดคือต้องทำให้เกิดการจ้างงาน เนื่องจากบางธุรกิจไม่สามารถประกอบกิจการได้ สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการจากต่างประเทศลดลง เป็นเรื่องของห่วงโซ่การตลาด และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งวันนี้ได้มีการเร่งรัดการส่งออกผลไม้ ทั้งทางบก ทางเรือ และมีการพัฒนาเรื่องด่านให้สามารถดำเนินการเรื่องการขนส่งได้ โดยได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน และทราบจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นไปได้ด้วยดี
นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับกลไกให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเราคงไม่ใช่ประเทศที่เดือดร้อนประเทศเดียว มันเดือดร้อนทุกประเทศทั่วโลก อยู่ในห่วงโซ่ทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น วันนี้ทราบว่าการท่องเที่ยวในประเทศหลังหยุดยาวที่ผ่านมา ได้มีการประเมินว่ามีการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการเข้าพักตามโรงแรมต่างๆมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจดีขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ก็จะดีขึ้นตามลำดับ จากมาตรการผ่อนคลายป้องกันโควิด-19 ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องมีระยะต่อไป สำหรับเรื่องการท่องเที่ยวก็ขอให้ช่วยกันใช้จ่ายบ้างสำหรับผู้ที่มีเงิน ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินขอให้เก็บหอมรอมริบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับทุกหน่วยงานจัดทำงบประมาณในการจ้างงาน ถ้าไม่เพียงพอรัฐบาลก็จะหามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมลงไป อาจจะเป็นการจ้างงานรายวัน รายชั่วโมง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้โครงการที่มีอยู่แล้วเดิม บ้าน วัด โรงเรียน ที่จะมีการจ้างงานในท้องถิ่น และในส่วนของวัดก็ต้องร่วมมือกันในวัด ดูแลปรับปรุงวัด เกิดการจ้างงาน อยู่ในแผนการใช้งบประมาณอีกส่วนหนึ่ง
นายกฯกล่าวว่า สำหรับเรื่องของเอสเอ็มอี และซอฟโลน รัฐบาลก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงในเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งต้องมีการระมัดระวังการใช้จ่าย ปัญหาหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ในอนาคตด้วย รัฐบาลต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทุกคนก็ทราบดีถ้ากู้ไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ เราก็จำเป็นต้องดูแลเขา แต่จะดูแลได้เท่าไหร่ เพียงใด อย่างไร รัฐบาลก็ไม่เคยทอดทิ้ง
ทั้งนี้ ในเรื่องของงบฯฟื้นฟูระยะแรกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 มีอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้กำลังดำเนินการในส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน และทยอยดำเนินการในระยะต่อไป โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องระมัดระวังการตรวจสอบจากภาคประชาชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.)ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องกวดขันเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น