วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"ปิยบุตร"ยื่น 3 ร่างแก้ รธน. โละทิ้ง 250 ส.ว.ลดกระแสม็อบนศ.



เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนญนั้น สามารถทำได้ อย่างน้อยเป็นการแสดงออกว่าสถาบันทางการเมือง ตอบข้อสนองกับการชุมนุม และหากมีการเสนอญัตติ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าที่ประชุมรัฐสภา ก็คิดว่าเป็นได้ที่จะพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมนี้ โดยตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น มีเรื่องยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีเรื่องทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งทั้งหลายกรณีนี้สามารถทำพร้อมๆ กันได้ โดยอาจแยกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่  ฉบับ 1 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรนูญที่ให้ความคุ้มครอง รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด หากยกเลิกไป หมายความว่าบุคคลทั้งหลาย อาจโต้แย้งได้ว่าประกาศคำสั่งทั้งหลายนั้นก็อาจจะขัดรัฐธรรมนูญได้

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ฉบับที่  2 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิก 4 มาตราคือ 269 -272 ที่ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล โดย ส.ว.250 คน ถ้ายกเลิกไปก็หมายความว่าทั้งหมดนี้จะพ้นจากตำแหน่ง และกลับไปใช้วุฒิสภาตามระบบปกติของรัฐธรรมนูญที่มาจากสรรหาตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลก็จะหมดไปด้วย กรณี 5 ปี ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงร่วมออกแบบกฎหมายปฏิรูปต่างๆ อำนาจนี้จะสิ้นสุดลงทันที  และฉบับที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับวิธีการแก้ รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ง่ายขึ้น คือใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา พร้อมกันนั้นก็เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

"ร่างทั้ง 3 ฉบับ สามารถเสนอได้ในสมัยประชุมนี้ โดยเฉพาะ 2 กรณีแรก ที่ไม่ต้องไปออกเสียงประชามติ เพราะเป็นการแก้ไขในหมวดว่าด้วยบทเฉพาะกาล ส่วนกรณีสุดท้าย ที่แก้วิธีการแก้และแก้ให้มี สสร. นั้น ต้องออกเสียงประชามติ โดย 2 เรื่องแรกให้ทำก่อน เพราะระหว่างเลือก สสร. อาจใช้เวลานาน แต่อย่างน้อย 2 ฉบับแรกถ้าผ่าน หมายความว่า ส.ว. ได้หายไปแล้ว บทบัญญัติคุ้มครองรัฐประหารได้หายไปแล้ว การเมืองกลับสู่ระบอบปกติ ซึ่งผมคิดว่าวิธีการแบบนี้จะเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า สถาบันทางการเมืองในระบบทั้งหลายนั้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อข้อเรียกร้องนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ทั่วประเทศ" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ทุกท่านทราบดีว่า การออกเสียงประชามติที่ผ่านมามีปัญหา ฝ่ายรณรงค์ไม่รับไม่มีโอกาสได้รณรงค์เต็มที่ หลายคนก็ถูกดำเนินคดี แต่หากยอมรับว่าผ่านประชามติแล้ว ในบทบัญญัติว่าด้วยการแก้รับธรรมนูญทั้งหมดก็อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เรากำลังใช้วิธีการแก้ตามที่รัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติบอก ซึ่งใน 2 ฉบับแรกไม่ต้องทำประชามติ  ตัวรัฐธรรมนูญ 2560 บอกไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องไปจบที่การทำประชามติ เฉพาะเรื่องศาล เรื่องของหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 และเรื่ององค์กรอิสระ รวมถึงเรื่องวิธีการแก้ แต่ในส่วนบทเฉพาะกาลไม่ได้เขียนไว้ ดังนั้น เรื่องนี้ทำได้ทันที และไม่น่าจะมีข้ออ้างใดๆ หลงเหลือ หากอ้างจะว่าคณะรัฐประหารจำเป็นต้องคุ้มกันกันอยู่ ก็มองว่าไม่จำเป็นแล้ว คุณสู่ระบบปกติแล้ว หรือหากจะอ้างว่าจำเป็นต้องใช้ ส.ว. 250 คนต่อไป ก็เห็นชัดเจนว่าท่านได้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว และตอนนี้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก็ทิ้งขาดไปแล้ว ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นการมีอยู่ของ ส.ว.250 คน ซึ่งถ้าท่านใดอยากเป็นต่อ ก็ไปลงสมัครในระบบปกติ ในกลุ่มความหลากหลายวิชาชีพได้ ทั้งนี้ การคงไว้ของ ส.ว. 250 เหมือนเป็นหนามที่ทิ่้มแทงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นหนามที่ทิ่มแทงรัฐบาลเองด้วยซ้ำว่าคุณได้มาเพราะมี ส.ว. 250 คนคอยประคับประคอง

"เรามักบอกว่า นักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตัวเอง ครั้งนี้ หาก ส.ว. ขวางไม่ให้มีการแก้ก็ชัดเจนว่าเพื่อประโยชน์ตัว ส.ว.เอง สมมติร่างแก้ไขเข้าสู่การประชุมร่วมในการอภิปราย ส.ส. อภิปรายสนับสนุนให้มีการยกเลิก ส.ว. ขณะที่ ส.ว.อภิปรายสนับสนุนตัวเองให้อยู่ต่อ ลองคิดว่าภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ขณะที่เสียงพี่น้องประชาชนผู้ชุมนุมทั่วประเทศอยากให้ ส.ว.พ้นไป ดังนั้น ส.ว.ต้องพึงพิจารณาเรื่องนี้ ผมเข้าใจดีว่าหลายท่านมีความรู้ความสามารถ แต่ก็มีวิธีอื่นคือไปสมัครตามระบบปกติ ดังนั้น อยากให้ ส.ส.มาช่วยกัน  ผมยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เอาไปใช้ได้เลย  เอาไปผลักดันได้เลย ยังมีเวลา 2 เดือนในสมัยประชุมนี้ เราสามารถพูดคุยกันเรื่องนี้ได้ ส.ส. ควรทำหน้าที่นี้ หรือถ้ารัฐบาลทำก็ยิ่งดี ยิ่งเข้าสู่การพิจารณาเร็วขึ้น" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การชุมนุมใดๆ ก็ตาม เกิดขึ้นก็เพราะว่าสถาบันการเมืองในระบบไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง และคล้ายๆ ว่าเขาประเมินว่าสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญนี้ถึงทางตันแล้ว เลยออกมาเรียกร้อง ถ้าหากเราอยากดับไฟนี้ไม่ให้บานปลาย จำเป็นต้องมีการกระทำอะไรบางอย่างที่ตอบสนองข้อเรียกร้องบ้าง เพราะถ้านิ่งเฉยไม่ทำเลย หรือตั้งกรรมาธิการยื้อเวลาไปเรื่อยๆ จะทำให้ข้างนอกยิ่งเดือด ตนเห็นว่า วิธีการที่จะให้การชุมนุมบรรเทาเบาลง ไม่ใช่มาบอกว่าใครอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่มาบอกว่าให้ใครสั่งให้หยุดชุมนุม แต่วิธีการ คือ การแก้รัฐธรรนูญ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าอย่างน้อยรัฐบาล รัฐสภา ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ส่วนที่มีคนบอกว่าให้ยุบสภาก่อนแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่า  2 เรื่องแรก เราทำได้เลย และถ้าทำเสร็จในเดือนกันยายน คือในสมัยประชุมนี้ การยุบสภาก็เกิดขึ้นได้เลย เพราะที่ผ่านมาหลายคนกังวลไม่อยากให้ยุบ เพราะยังมี ส.ว. 250 คนอยู่ แต่ถ้าเอาออกไปก่อน เงื่อนไขในการยุบสภาก็เปิดกว้างมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...