วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
รำลึก 100 ปียุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปารีส ผู้นำชาวโลกซึมซับสันติวิธีวิถีไทยวิถีพุทธ
รำลึก 100 ปียุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ปารีส ผู้นำชาวโลกซึมซับสันติวิธีวิถีไทยวิถีพุทธ : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
วันที่ 11 พ.ย.2561ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 100 ปี การยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ที่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยได้เชิญผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาลของประเทศที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งหมดกว่า 120 คนเข้าร่วมพิธี เช่น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผู้นำประเทศกัมพูชา เวียดนาม อินเดีย กาตาร์ เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้นรวมถึงประเทศไทยโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทย หรือสยาม (ในขณะนั้น) ได้ส่งทหารอาสาไปร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ 1 นับเป็น 1 ใน 3 ประเทศเอเชียที่ประกาศร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงวันรำลึกถึงการครบรอบ 100 ปี ของการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่าถือเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราจะต้องไม่ทำให้โศกนาฏกรรมร้ายแรงแสนสาหัสแก่มวลมนุษยชาติเช่นนี้ เกิดขึ้นอีก ซึ่งสันติภาพของโลกจะเกิดขึ้นได้ต้องมีพื้นฐานจากการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาและสันติภาพที่ยั่งยืน โดยทุกคนเข้มแข็งไปด้วยกัน จึงขอมอบหนังสือ 3 เล่ม ให้กับผู้นำประเทศไว้ด้วย ซึ่งมีสาระสำคัญสะท้อนแนวคิดดังกล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสันติภาพปารีส (Paris Peace Forum) ที่หอประชุมใหญ่ Grande Halle de La Villette โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นประธาน ซึ่งการประชุม Paris Peace Forum ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมในการร่วมเสนอแนวทางธรรมาภิบาลโลกรูปแบบใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายในยุคปัจจุบันได้ โดยฝรั่งเศส มุ่งหวังจะจัดการประชุม Paris Peace Forum ทุกปีหลังจากนี้ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการระดมสมองด้านสันติภาพ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวสุนทรพจน์ในตอนหนึ่งเรียกร้องให้ชาติต่าง ๆ ตระหนักถึงอันตรายของลัทธิชาตินิยมที่กำลังเติบโตขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการทรยศต่อความเสียสละด้วยการอ้างถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นอันดับแรกโดยไม่ต้องใส่ใจผู้อื่น เทียบเท่ากับการประทับตราลงเหนือสิ่งที่มีค่าที่สุดของประเทศหนึ่ง ๆ นั่นคือค่านิยมทางศีลธรรม ประชาคมโลกไม่ควรลืมบทเรียนเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และขอให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสันติภาพ
ด้านประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เขามีการพูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งทุกอย่างราบรื่นดี แต่สื่อฝรั่งเศสรายงานว่า เดิมทางคณะผู้จัดการประชุมจัดให้ผู้นำทั้ง 2 คนนั่งอยู่ข้างกันในระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ แต่ต้องสลับที่นั่งของผู้นำทั้ง 2 คนในช่วงก่อนที่งานเลี้ยงอาหารค่ำจะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
จากพิธีดังกล่าวสามารถสะท้อนหลักสันติศึกษาครบสมบูรณ์ สามารถถอดบทเรียนบูรณาการเข้ากับหลักพุทธสันติวิธีคืออริยสัจโมเดลดังนี้
1. ทุกข์ เป็นอริยสัจหรือความจริงอันประเสริฐข้อที่ 1 คือสภาวธรรมที่ทนได้ยาก พระพุทธองค์ได้กำหนดกิจไว้คือจะต้องกำหนดรู้ ซึ่งความขัดแยง ความรุนแรง สงคราม ตามแนวคิดของตะวันตก จัดอยู่ในทุกข์ทั้งสิ้น
“ความขัดแย้ง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “contrast” แปลว่า “ตัดกัน” ความขัดแย้งถือว่าเป็นปกติหรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมเพราะมีประสบการณ์และพื้นฐานต่างกันแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่มีความสมนัย คือไม่มีความเห็นความเสมอกันไม่ไปด้วยกัน มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน มีความต้องการผลประโยชน์ต่างกัน ซึ่งเป็นได้ทั้งบุญและบาป กุศลและอกุศล เชิงบวกและลบ ความขัดแย้งเชิงบวกทำให้คนหันหน้ามาคุยกัน สานเสวนากัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ ขณะที่ความขัดแย้งเชิงลบทำให้เกิดความรุนแรง ฆ่ากันทำร้ายกัน นำไปสู่สงคราม และมีทั้งความขัดแย้งภายใน (Domestic conflict) ภาษาบาลี คือ “อชฺฌตฺตํ” เป็นความขัดแย้งแบบหลบใน และความขัดแย้งภายนอก (Outerconflict) ภาษาบาลี คือ “พาหิรํ” แต่ที่สำคัญและน่ากลัวที่สุดคือ ความขัดแย้งภายในหรือความขัดแย้งแบบไร้ตัวตนหรือแบบหลบใน เพราะมีกิเลสคือ “ปฏิฆะ” ความขุ่นข้องหมองใจ หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจที่มีลักษณะเล็กๆ เบาๆ เหมือนขนนก สะสมมาเรื่อยๆ รอเวลาที่จะเอาคืนรอเวลาที่จะระเบิดออกมาแล้วนำไปสู่ความรุนแรง เหมือนขนนกรอเวลาที่เชือกขาด
ความขัดแย้ง มีพัฒนาการ 3 ระยะ คือ “ตั้งตัว” หรือกำลังตั้ง “ตื่นตัว” หรือเริ่มมีเสียงออกมา และ “แตกตัว” หรือกระจายตัวออกมา โดยมีพัฒนาการเป็น ๓ แยกของความขัดแย้ง คือ “แปลกแยก”“แบ่งแยก” และ “แตกแยก” ทำให้เกิด 4 แย่งคือ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท แย่งอำนาจเป็นใหญ่”
“ความรุนแรง” นั้นมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รศ.ดร.โคทม อารียา ได้นำเสนอตามกรอบความคิดของ “โยฮันกัลตุง” (Johan Galtung) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ทางตรงหรือกายภาพ เชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรม ความรุนแรงทางกายภาพนั้นจะต้องมีผู้กระทำให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางวาจา ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีลักษณะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การแบ่งชนชั้น ลัทธิเหยียดผิว ชาติพันธุ์ การทำลายตนเอง การทำลายชุมชน และการทำลายรัฐ-ชาติ โดยรัฐประหาร การกบฏ การก่อการร้าย สงคราม ขณะที่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเช่นกัน โดยจะการถ่ายทอดออกมาเป็นความเกลียด ความกลัว อคติ ความเจ็บแค้น เป็นความรุนแรงทางศาสนา อุดมการณ์ ภาษา และศิลปะ
“สงคราม” จัดเป็นอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวที่ยกเว้นการพิพากษาโทษ เป็นการฆ่าแบบเป็นระบบป่าเถื่อนของผู้มีกำลังทางอาวุธเพื่อแสดงอำนาจ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเคียดเเค้นชิงชังต่อกัน บางสงครามอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเครื่องมือปลุกระดม และเป็นเครื่องมือของคนไม่มีเหตุผลไม่มีปัญญา สิ่งหนึ่งที่สงครามขาดไม่ได้เลย คือ “ผู้หญิง” ที่ต้องตกเป็นทาสทางกามารมณ์ ถูกข่มขืน สตรีต้องตกเป็นม่าย ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วเห็นจะมีประโยชน์อยู่อย่างเดียว คือ “ทำสงครามกับกิเลส” จัดการกับกิเลสภายในตนเอง เริ่มตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ภายในใจของตน เราควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก
2. สมุทัย สาเหตุทำให้เกิดทุกข์ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม อันได้แก่ อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ ขยายความเป็น ปปัญจธรรม คือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ หรือ “สังโยชน์” คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ สิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ สิ่งผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ ทำให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ 10 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้จะต้องละหรือแก้ไข
ขณะที่แนวคิดตะวันตกอย่างเช่น “จอห์น แมคคอนเนล” และ “คริสโตเฟอร์ มัว” ได้แยกสาเหตุของความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม ออกเป็น ๕ ประเภทดังนี้
1. ด้านข้อมูล (Data Conflict) ได้แก่ ข้อมูลขัดกัน ขาดข้อมูล เข้าใจผิด หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง สับสนเรื่องหน้าที่ มุมมองต่างกันในเรื่องของข้อมูล ทั้งฝ่ายสนับสนุนในการให้ข้อมูลไม่ชัดแจ้ง
2. ด้านผลประโยชน์ (Interest Conflict) ได้แก่ ขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรทางด้านธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนาและต้องการ
3. ด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) ได้แก่ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมที่ต่างกัน พฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นผลต่อความขัดแย้งที่สะสมมาและเพิ่มความรุ่นแรงขึ้น เป็นผลให้ความสัมพันธ์ไม่ดีต่อกัน ซึ่งยากต่อการเจรจาในการจัดการความขัดแย้งต่อไป
4. ด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ได้แก่ การแก่งแย่ง โดยเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์เดิมด้วย ขัดแย้งเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขัดแย้งเนื่องจากขาดความ ยุติธรรม เป็นปัญหาหลักเลยก็ว่าได้
5. คุณค่าหรือค่านิยม (Value Conflict) ได้แก่ ศาสนา โลกทัศน์หรือความเชื่อต่างกัน การให้ความสำคัญที่ต่างกัน เกณฑ์ประเมินต่างกัน ภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน ภูมิหลังส่วนบุคคลต่างกัน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ต่างกัน
“สมุทัย”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องละ
3.นิโรธ คือความดับทุกข์ (ทุกฺขนิโรธ) เป็นภาวะที่ยุติความขัดแย้ง เป็นบรมสุข โดยมีคำว่า “สันติ” (Peace) เป็นไวพจน์ ซึ่งพุทธพจน์รับรองในธรรมบทคือ นตฺถิสนฺติ ปรํสุขํ” แปลความว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นับเป็นเป้าหมายหรือจุดสุดยอดของ ดังนั้น “สันติ” คือ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นความสุขสงบ เป็นสุขภายใน ส่วนคำว่า “สุขา สงฺฆสฺสสามคฺคี” ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้ เป็นความสุขภายนอก เพราะต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น “สันติ” นั้นมีความหมายทั้งในเชิงลบ คือ สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง และเชิงบวก คือสภาวะที่มีความรัก สามัคคี และความยุติธรรม และมี ๒ ลักษณะคือ “อัชฌัตติกสันติ” ความสงบภายใน(Inner Peace) และ “พาหิรสันติ” ความสงบภายนอก(Outer Peace) โดยขยายกว้างออกไปอีก 3 ระดับ คือ
1.“สันติภาพภายในตนเอง” (to live in harmony with oneself) อยู่อย่างกลมกลืนกับสันติภายในจิตใจของตนเอง เป็นระดับตนเอง
2.สันติภาพกับคนอื่น (with others) อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นระดับผู้อื่น และ 3.สันติภาพกับธรรมชาติ (with the natural environment) อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติได้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ยสฺสรุกขสฺสฉายาย นิสีเทยฺยสเยยฺย วา น ตสฺสสาขํภญฺเชยฺยมิตฺตทุฏฺโฐหิปาปโก” แปลความว่า “บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม” ทรงย้ำเตือนเสมอว่า “จงเป็นมิตรกับธรรมชาติ” อย่างไรก็ตามหากความสงบด้วยการกดเอาไว้ยังไม่ถือว่าเป็นสันติภาพ
ขณะที่ ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์พิเศษหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เสนอว่า เจ้าชายสิทธัตถะแห่งแคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นคนแรกที่พูดคำว่า “สันติภาพ” ทรงออกบวชเดินทางสู่สันติ ดังคำว่า “สนฺติวรปทํ ปริเยสมาโน” แปลคว่า“ทางสู่สันติอันประเสริฐ” โดยพบสันติในเดือนวันเพ็ญวิสาขะ เรียกว่า “นิพพาน” หลังจากนั้นเดินทางออกสอนสันติภาพ 45 พรรษา พระธรรมทำให้เกิดพระพุทธเจ้า นั่นหมายความว่า ต้องเดินตามมรรคมีองค์ 8 เป็นเส้นทางสู่การเป็นพระพุทธเจ้า จึงเกิดคำพูดว่า “สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ” ต้องเคารพสัทธรรมที่แท้จริง แล้วพระพุทธเจ้าก็นำธรรมมาสั่งสอน โดยแบ่งออกเป็นพระธรรมและพระวินัย เช่น อริยสัจ ปฏิจสมุปบาท ซึ่งพระพุทธเจ้าทิ้งกองทัพทางโลก แต่มีกองทัพทางธรรม เพื่อบอกว่ายิ่งใหญ่มากกว่ากองทัพทางโลกซึ่งมีแต่ความรุนแรง แต่กองทัพทางธรรมมีแต่สันติสุข ฉะนั้นกองทัพธรรมจึงยิ่งใหญ่กว่ากองทัพสงคราม
ด้าน “โยฮันกัลตุง”ได้เสนอนำเสนอสันติภาพเชิงลบ หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงทางตรง” เช่น ความรุนแรงต่อบุคคล คนกำลังตีกัน เราไปห้ามอย่าตีกันเลย ส่วนสันติเชิงบวก หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” เช่น ความยากจน การเหยียดผิว ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่คนโกรธกันเพราะอะไร เพราะไม่ยุติธรรม เราจะทำอย่างไรให้เกิดความพอใจ จึงมีคำว่า “สงครามเกิดขึ้นที่จิตใจของมนุษย์ สันติภาพจึงต้องเริ่มจากจิตใจของมนุษย์เช่นกัน”
“นิโรธ”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องทำให้แจ้ง
4. มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “สันติวิธี” แต่การจะพ้นทุกข์หรือเกิด “สันติภาพ” ได้นั้นจะต้องเริ่มจากใจเป็นอันดับแรก ซึ่งก็ตรงกับธรรมนูญของยูเนสโกที่ว่า “...Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that the defenses of peace must be constructed.” แปลความว่า “...เนื่องจากสงครามเริ่มต้นที่ใจของมนุษย์ ดังนั้นปราการแห่งสันติภาพ จึงต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ที่แหละ...” ดังนั้นหากจะสร้างสันติภาพต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่า “มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโน เสฏฺฐา มโน มยา” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ” โดยดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น
ขณะที่แนวคิดด้านสันติวิธี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้แบ่งออกเป็น 3 สำนักคือ 1. สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง (Peaceful Means) โดยมีวิธีการเช่น การเจรจากันเอง (Negotiation) คือ การใช้วิธีการพูดคุยกันก่อนอาจจะเอาจุดยืนเป็นตัวตั้งหรือจะเอาประโยชน์เป็นตั้งตั้งโดยมีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ การไกล่เกลี่ย (Mediation) มีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) มีแพ้มีชนะ กระบวนการทางศาล (Court) และการหลีกเลี่ยง (Avoidance)
2. สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรง เช่น การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม (Civil Disobedience) การดื้อแพ่งหรืออริยขัดขืนคือการแสดงสัญลักษณ์ผ่านคำพูด(Demonstration) การอดข้าวอย่าง “มหาตมะ คานธี” การเดินขบวน (March) และม็อบ(Mob) คุมไม่อยู่เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ยิน เสียงของคน มาเพื่อให้คนได้ยิน
3) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต (Pacifism) อย่างการกินเจ การใช้หลักใช้อหิงสาของ “มหาตมะ คานธี” หรือการสร้างสันติภายในให้เป็นวิถีชีวิตตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน
สำหรับกระบวนการของสันติวิธีนั้น “โยฮันกัลตุง”ได้เสนอเป็นลักษณะ 3 เหลี่ยมคือ 1.การทำให้เกิดขึ้น 2.การสร้างสรรค์ และ 3.การรักษา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอคือ 1.การป้องกัน (Prevention) 2.การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) และ 3.การแก้ไข (Resolution) ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ได้เสนอคือ 1.การป้องกัน 2.การแก้ไข และ 3. การเยียวยา ซึ่งก็ตรงกับหลักปธาน 4 ตามที่“พระพรหมบัณฑิต” และ “พระราชปริยัติกวี” ได้นำเสนอ โดยมีวิธีการตามที่พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอหลัก 3 แยกคือ 1.แยกอารมณ์ออกจากคน 2.แยกคนออกจากปัญหา และ 3. แยกปัญหาออกจากการแก้ไข(วิธีการ) เพราะพระพุทธศาสนาเป็นแบบวิภัชชวาท (Segmentation) ซึ่งพระพุทธเจ้าให้จัดการกับตัณหาไม่ได้ให้จัดการกับตัวปัญหา อย่างไรก็ตาม “โคทม อาริยา” ได้เสนอว่า “การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามได้นั้น จึงต้องแก้ที่ทัศนคติ สร้างสันติวัฒนธรรม คือการปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่สันติวัฒนธรรม
“มรรค”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้มาก
จากพิธีดังกล่าวสามารถถอดบทเรียนหลักสันติศึกษาบูรณาการเข้ากับหลักพุทธสันติวิธีคืออริยสัจโมเดลดังนี้ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้สะท้อนถึงหลักของทุกข์คือความขัดแย้ง ความรุนแรง และหลักของสมุมัยคือสาเหตได้อย่างชัดเจน โดยยกให้ผู้นำชาวโลกให้ตระหนักถึงโทษของลัทธิชาตินิยมนั้นคือสาเหตมาจากความสัมพันธ์ ส่วนนิโรธหรือหลักสันติภาพนั้นก็คือการยุติสงครามอย่างเช่นยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 สำหรับมรรคหรือสันติวิธีนั้น การที่ผู้นำชาวโลกมาร่วมงานในครั้งก็คือว่าเป็นหลักสันติวิธีประการหนึ่งนั้นก็คือการหันหน้ามาพูดคุยกันจับมือกัน และการมารำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งก็ตรงกับหลักอนุสติในพระพุทธศาสนาด้วยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ยกให้เห็นความสำคัญของค่านิยมทางศีลธรรม และไม่ควรลืมบทเรียนเกี่ยวกับความขัดแย้งนั้นก็คือหลักของสติศึกษา
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ชูหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาและสันติภาพที่ยั่งยืนนับได้ว่าเป็นหลักสันติวิธีวิถีไทยวิถีพุทธวิถีสยาม
คงจะทำให้คนไทยและชาวโลกเข้าใจหลักสันติศึกษาและสติศึกษามากยิ่งขึ้น!!!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เพลง: แด่แบงค์เลสเตอร์: เสียงเล็กในโลกบิดเบี้ยว
ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌,ai ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ในโลกที่ทุกอย่างวุ่นวาย เสียงแห่งความจริงกลับเงียบหาย แสงแ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น