วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
สงบนิ่งร่มเงาพุทธ!กลางกรุงบูดาเปสต์ฮังการี
สงบนิ่งร่มเงาพุทธ!กลางกรุงบูดาเปสต์ฮังการี : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
'ร่างกายยืดตรง หลับตาสงบนิ่ง ดำรงสติมั่น' เป็นภาพที่สื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กนาม Phanna Som ของพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนนิสิตวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต (Dharma Gate Buddhist College) กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งเป็นวิทยาลัยสมทบของ มจร ที่ผ่านการลงนามความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างรัฐบาลทั้่ง 2 ประเทศคือประเทศไทยและประเทศฮังการี โดยประเทศไทยภายใต้การดำเนินการของ มจร
พระมหาสมบูรณ์ ได้บรรยายภาพประกอบดังกล่าวซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ความว่า "นิสิตของที่นี่ปฏิบัติตามแนวทางของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่ให้มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ วันนี้มีนิสิตเข้าร่วมปฏิบัติธรรมจำนวน 22 คน ทุกคนปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นและเคร่งครัดในระเบียบวินัย เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. รวมเวลา 7 ชั่วโมงต่อเนื่อง"
ทั้งนี้พระมหาสมบูรณ์ได้รายงานถึงภารกิจของการเป็นอาจารย์พิเศษในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 ความว่า ในช่วงนี้ระหว่างวันที่ 2-22 พฤศจิกายน 2561 ผมมีภารกิจตามหนังสือนิมนต์ของอธิการบดีวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต (Dharma Gate Buddhist College) ผ่านการอนุมัติของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มาสอนนิสิตของที่นี่ วิชาที่สอนประกอบด้วย (1) Theravada Buddhist Countries (2) Dhammapada และ (3) Buddhist Psychology รวมทั้งกิจกรรมพิเศษ คือ นำพานิสิตปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา 2 วัน
ช่วงนี้ที่ฮังการีเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อน (Summer) เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) ครับ ทุกช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลจะเป็นวันหยุดของที่นี่ ล่าสุดระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน รวม 5 วัน เป็นวันหยุดเนื่องในโอกาสเปลี่ยนผ่านฤดูกาลของที่นี่ ช่วงนี้ต้นไม้ส่วนใหญ่มีใบเหลืองและกำลังร่วงหล่นโดยลำดับ อย่างต้นเมเปิลหน้าตึกที่ผมพักอาศัยก็ใบเหลืองและร่วงหล่นไปมากแล้ว สภาพอากาศก็หนาวลงโดยลำดับ กลางวันประมาณ 15 องศา กลางคืนประมาณ 9-12 องศา
แต่ท่ามกลางใบไม้เหลืองหม่น ยังมีไม้ดอกบางชนิดที่เบ่งบานชูช่อในช่วงฤดูนี้ อย่างสวนหย่อมที่หน้าตึกผมและตึกข้างเคียงก็มีให้เห็นประปราย
เมื่อเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน2561 ได้โพสต์อีกครั้งความว่า ภารกิจที่ฮังการี: พระพุทธศาสนาเถรวาท (01)
นับตั้งแต่ผมมาปฏิบัติหน้าที่อยู่กรุงบาดาเปสต์ ประเทศฮังการี วิชาแรกที่ผมได้รับมอบหมายให้สอน คือ วิชา "ประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาท" (Theravada Buddhist Countries) จุดมุ่งหลายหลักของวิชานี้คือเพื่อทำความเข้าใจพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศต่างๆ ผ่านมิติทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นเหตุการณ์ที่สำคัญ (major events) วิชานี้เปิดให้นิสิตเลือกลงทะเบียนเรียนได้ตามความสนใจ บางท่านเป็นนิสิตปี 1 บางท่านปี 2 บางท่านเป็นอาจารย์ของที่นี่ บางท่านกำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาอื่นแต่มาขอเข้านั่งฟังด้วย มีคนหนึ่งเป็นชาวสเปนกำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งในบูดาเปสต์
ก่อนทำความเข้าใจ "เถรวาท" ผมได้ให้ข้อมูลนิสิตเกี่ยวกับค่านิยมในแวดวงวิชาการพระพุทธศาสนาว่า เพื่อให้ง่ายในการสื่อสารและการศึกษา เรานิยมแบ่งพระพุทธศาสนาออกเป็น 2 ยุคหลัก คือ (1) พระพุทธศาสนายุคต้น ซึ่งนิยมเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Early Buddhism" บ้าง "Pre-sectarian Buddhism" (พระพุทธศาสนาก่อนแตกนิกาย) บ้าง "Original Buddhism" บ้าง "Premitive Buddhism" บ้าง และอื่นๆ แม้ความเห็นของนักวิชาการอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่เป็นที่รับรู้ร่วมกันคร่าวๆว่า หมายถึงพระพุทธศาสนาแบบที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล ซึ่งได้แก่พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้เอง รวมถึงคำสอนของพระสาวกในสมัยนั้นด้วย ยาวไปจนถึงยุคหลังพุทธกาลก่อนเกิดการแตกนิกายในสมัยสังคายนาครั้งที่ 2 เรียกง่ายๆ ว่า พระพุทธศาสนายุคต้นก็คือพระพุทธศาสนาตามที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง และ (2) พระพุทธศาสนายุคหลัง (Later/Sectarian Buddhism) หมายถึง พระพุทธศาสนาหลังเกิดการแตกนิกาย กำหนดคร่าวๆ คือ พระพุทธศาสนาหลังเกิดการแตกนิกายในสมัยสังคายนาครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงพระพุทธศาสนายุคหลังนั้น ต้องอย่าลืมใส่วงเล็บด้วยว่า ที่ว่ายุคหลังนั้นหลังน้อยหรือหลังมากแค่ไหน โดยมีหลักบางอย่างที่บ่งความเป็นพระพุทธศาสนายุคหลัง เช่น มีแยกออกเป็นกลุ่มนิกายต่างๆ มีการสร้างอัตลักษณ์บางอย่างที่บ่งบอกความเป็นนิกายนั้นๆ อย่างการตีความคำสอนบางอย่างไม่เหมือนกัน มีการแต่งคัมภีร์อธิบายพระธรรมวินัยเป็นของเฉพาะตน เป็นต้น
และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 พระมหาสมบูรณ์ได้รายงานกิจกรรมการปฏิบัติธรรมของนิสิตดังกล่าว ที่สะท้อนถึงแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันนี้ชาวยุโรปและอเมริกาให้หันมาสนใจฝึกสติมากขึ้น หากมีแง่มุมที่น่าสนใจ(สมาทปนา ในพุทธลีลา4) และครั้งนี้เป็นครั้งนี้ 2 ที่พระมหาสมบูรณ์เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าว จึงขออนุญาตนำมารายงานเผยแพร่อีกช่วงหนึ่งเป็นระยะๆ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รูปแบบการเรียนภาษาบาลีของพระสงฆ์เมียนมา ที่คณะสงฆ์ไทยจะนำมาเป็นต้นแบบ
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุมโรงเรียนพระปริยัติธรรมพระปิ่นเกล้า ชั้น 2 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พระธรรมว...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น