วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566

โฆษกรัฐบาลเผย "บิ๊กตู่" ขอความร่วมมือภาคเอกชน แยกขยะตามนโยบาย BCG



วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566   นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบายหลักของ BCG Economy Model ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการใช้พลาสติก ที่ส่งเสริมให้นำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปีที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ยังคงมีปริมาณสูงเกือบ 25 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของประเภทบรรจุภัณฑ์พบว่า กลุ่มที่บรรจุเครื่องดื่มยังคงมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงมีปริมาณสูง จึงขอความร่วมมือภาคเอกชน ได้ช่วยสร้างการรับรู้และแนวทางการปฏิบัติเรื่องการแยกขยะ ตามแนวนโยบาย BCG ของรัฐบาล

“รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนร่วมกันศึกษา และพัฒนาแนวทางการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมและผลักดันการจัดการด้านขยะพลาสติก สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติก เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy Model และบรรลุตามเจตนารมณ์ของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” นายอนุชาฯ กล่าว

นายอนุชาฯ กล่าวด้วยว่า ไทยตั้งเป้านำขยะพลาสติก 7 ชนิดกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติก ซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 โดยจะเป็นการออกมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพภาคเอกชนที่ร่วมมือกันนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาใช้ตรวจสอบคุณภาพวัสดุ คัดแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมคืนขวด “เซอร์คูล่าร์วัน (CircularOne)” ตู้คืนขวด นวัตกรรมรับผิดชอบต่อโลก ที่เปิดให้ประชาชนนำขวดชนิดต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมจากการใช้แล้วมาหยอดในตู้เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยมีจุดเด่นคือ ขวดที่นำมาหยอดตู้สามารถแลกเป็นเงินคืนให้กับผู้หยอดได้ ซึ่งเมื่อหยอดขวด-บรรจุภัณฑ์ใส่ในตู้ดังกล่าว จะสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือรับคะแนนสะสมเพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้า หรืออื่น ๆ ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ด โดย CircularOne เป็นนวัตกรรมรับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรียูสและรีไซเคิลแบบอัตโนมัติ หรือ Reverse Vending Machine รุ่นแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถรับคืนขวดพลาสติกใส กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และไปจัดเก็บ คัดแยกประเภท ไว้ในสภาพสมบูรณ์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการคัดแยกขวดบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์เรื่องการส่งขวดไปรียูสที่โรงงาน สามารถช่วยลดขั้นตอนการผลิตของโรงงานได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรับทราบและใช้เป็นแนวทางในการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติก ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งจะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมาย ที่ระบุชนิด/ประเภท ของพลาสติก ดังนี้

1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา

2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เช่น ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า

3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) เช่น ท่อน้ำ สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก

4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) เช่น ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ

5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด

6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เช่น ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อม พลาสติก

7. พลาสติกอื่น ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (โดยจะมีชื่อของพลาสติกนั้น ไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) และเป็นพลาสติกแข็งที่ใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการ กกต. แจงกฎเลือก สว. ห้ามหาเสียงได้แค่แนะนำตัว เตือนฮั้วเลือกตั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567   นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Sawaeng Boonmee ระบุว่า สว.รัฐธรรมนู...