เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ลานภัตตศาลา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพฯ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด เปิดตัวแอปพลิเคชัน Line OA "ปันกันอิ่ม" สร้างระบบแบ่งปันสู่โลกออนไลน์ ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับ แบ่งปันความอิ่มกันได้อย่างรวดเร็ว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนให้เกิดโครงการปันกันอิ่มตั้งแต่ระยะเริ่มต้น มีเป้าหมายทำให้สังคมเห็นคุณค่าของคำว่า "การให้" เพื่อเป็นช่องทางพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในสถานการณ์ปกติ วิกฤติเศรษฐกิจ และโควิด-19 การเชิญชวน "ร้านอาหารทั่วประเทศ" เข้าร่วมโครงการในฐานะ "ผู้ให้" คือเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการช่วยเหลือคนในสังคมที่กำลังเผชิญความยากลำบากได้รับความช่วยเหลือผ่านการแบ่งปันความอิ่ม ในฐานะ "ผู้รับ" เพื่อให้มีพลังกาย พลังใจ ใช้ชีวิตได้ต่อไป ปัจจุบัน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย หาช่องทางขยายโอกาสเพื่อคนไทยทุกคน มีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะรูปแบบแอปพลิเคชัน "Line OA ปันกันอิ่ม" เพื่อเป็นก้าวสำคัญขยายการแบ่งปันสู่โลกออนไลน์ให้กว้างขวางและทั่วถึงในโลกยุคดิจิทัล ที่ระบบนิเวศสื่อมีความหลากหลาย
"ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วันนี้เราอยู่ในโลกสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ทุกอย่างในชีวิตเกี่ยวพันกับดิจิทัลทั้งหมด สสส. หวังว่า การร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้โครงการปันกันอิ่มเป็นช่องทางในการเกื้อกูลคนในสังคมที่ขาดแคลนได้เข้าถึงความช่วยเหลือมากขึ้น เป็นหนึ่งในกลไกที่เป็นเหมือนสะพานบุญเชื่อมต่อการให้และการรับในสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป" นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ริเริ่มโครงการปันกันอิ่มขึ้นด้วยความคาดหวังว่า จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเหลือคนที่มีความจำเป็นหรือลำบากในชีวิตในเรื่องความเป็นอยู่โดยเฉพาะในด้านอาหาร มูลนิธิฯ เชื่อว่า สังคมไทยมีต้นทุนเรื่องการทำบุญทำทานช่วยเหลือคนลำบากอยู่แล้ว จึงใช้ต้นทุนนี้ มาขยายโอกาสจากการทำบุญเพื่อช่วยเหลือเป็นรายบุคคล สร้างเป็นระบบปันกันอิ่มช่วยแก้ปัญหาสังคมในวงกว้างยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาโครงการปันกันอิ่มพยายามขยายงานด้วยการเพิ่มร้านอาหารในโครงการ เพื่อกระจายไปให้ผู้รับได้เข้าถึงมากขึ้น แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเพิ่มร้านค้าได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความไว้เนื้อเชื่อใจของร้านค้า ผู้ให้ และผู้รับ แต่เมื่อได้ประสานความร่วมมือกับทางไอคอน เฟรมเวิร์ค ใช้ระบบ Line OA ทำให้ช่องทางการสมัครเป็นร้านปันกันอิ่มสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของประเทศ ทั้งผู้ให้ก็สามารถแบ่งปันได้ง่ายเพียงแอดไลน์ ที่สำคัญคือมีระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ติดตาม เรื่องการรับบริจาค ซึ่งนับเป็นอีกก้าวต่อไปของโครงการที่จะสามารถเพิ่มจำนวนร้านค้า เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้เข้าถึงอาหารได้มากขึ้น
"ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้ระบบ Line OA ปันกันอิ่ม ได้แล้ววันนี้ โดยค้นหาเพื่อน @payitforward เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ผู้ให้สามารถปันอิ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกร้านที่สนใจ ร้านที่อยู่ใกล้ ร้านที่ต้องการแบ่งปัน หรือเลือกร้านที่ปรากฏในหน้าแรก เป็นร้านที่มีจำนวนเงินเหลือน้อยหรือเหลือศูนย์บาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีคนลำบากอยู่มาก ทำให้มียอดปันอิ่มสูง คนที่ต้องการทำบุญสามารถโอนเงินไปที่ร้านค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ส่วนผู้รับที่ประสบความลำบาก สามารถเลือก "ร้านปันอิ่มใกล้คุณ" เพื่อรับอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน ทุกร้านมีจุดหมายเดียวกัน คือช่วยเหลือคนยากลำบากให้อิ่มท้อง สอบถามหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Budnet.org หรือทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปันกันอิ่ม พุทธิกา-Pay it forward Thailand'" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวรรณเทพ หรูวิจิตร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นหลักของระบบ Line OA ปันกันอิ่มคือการทำให้โครงการปันกันอิ่มสามารถกระจายความช่วยเหลือได้รวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้คนที่นั่งอยู่บ้านหรือออฟฟิศสามารถบริจาคได้ โดยไม่ต้องเดินไปที่ร้านค้า อีกทั้งยังให้ผู้บริจาคสามารถดูได้ว่า ร้านที่รับเงินบริจาคนั้นมีการปันกันอิ่มเกิดขึ้นจริง ดังนั้นด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน ภาระต่าง ๆ ที่กลุ่มคนเปราะบางและรายได้น้อยต้องเผชิญ ความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในชีวิตได้ เป็นการลดภาระของสังคม และนอกจากผู้รับอาหารจะได้อิ่มท้องแล้ว ผู้ขายอาหารก็ยังสามารถมีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ได้ โดยที่ระบบไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น