วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

กระทรวง พม. หนุนโครงการพระธรรมจาริกสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน



ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2566 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดารในพระราชูปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสำนักงานประธานคณะพระธรรมจาริก ได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศพระธรรมจาริกปีที่ 58 ณ วัดศรีโสดา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกิตติ อินทรกุล รักษาการแทนอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส 

พระพรหมเสนาบดีกล่าวว่า “พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือถิ่นกันดาร ยิ่งในพื้นที่สูงจำเป็นต้องพัฒนาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อนำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมา โครงการพระธรรมจาริกได้ทำหน้าที่อย่างดียิ่ง โดยมีการส่งเสริมการเรียนรู้ การให้โอกาสทางการศึกษา การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ การพัฒนาจิตใจและปัญญา ควบคู่กับการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสงฆ์ภาค 7 ซึ่งมีพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พร้อมสนับสนุนการทำงานของคณะพระธรรมจาริก เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีศักยภาพในการร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยตนเองอย่างยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา”

ด้านนายกิตติ อินทรกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า “ กรมพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ กิจกรรม และเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานของพระธรรมจาริกให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยจะยกระดับการทำงานของพระธรรมจาริก ควบคู่กับการพัฒนาในระดับพื้นที่จับคู่พัฒนาร่วมกับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมนุมตามภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีคุณค่าและความทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” 

ส่วนพระธรรมวชิราธิบดี ประธานคณะพระธรรมจาริก เจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ระบุว่า ปัจจุบันโครงการพระธรรมจาริกมีอาศรมธรรมจาริกจำนวน 337 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การปฏิบัติงานกว่า 20 จังหวัด มีพระธรรมจาริก 489 รูป มีศาสนทายาททั้งสามเณรแยะเยาวชนชายญิง จำนวน 498 รูป/คน ซึ่งกำลังศึกษาในโรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม และศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนสตรี อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่  นับว่าโครงการพระธรรมจาริกได้ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับการพัฒนาสังคมอย่างดียิ่ง โดยปี 2566 นี้จะมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การบรรพชาอุปสมบทชาวเขา การจัดมหกรรมโครงการพระธรรมจาริก แสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ของชาวเขา ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร”

ด้านพระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะรองประธานพระธรรมจาริก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ร่วมดำเนินการกับโครงการพระธรรมจาริกและบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัย เพื่อให้พระสงฆ์รุ่นใหม่มีอุดมการณ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการพัฒนาบนพื้นที่สูง ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพพระธรรมจาริกให้มีแนวทางการทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์ปกครองท้องถิ่น เพิ่อคนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”


ในการประชุมปฐมนิเทศและการอบรมพระธรรมจาริกประจำปี 2566 นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่โครงการพระธรรมจาริก และจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ก่อนจะส่งพระธรรมจาริกขึ้นไปปฏิบัติงาน ณ อาศรมต่างๆ ในพื้นที่ 20 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง เช่น  อุทัยธานี กาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ทีมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...