วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2566

สภาล่มเป็นอาจิณอีกแล้ว! ส.ส.แห่ลาออก "เบญญา" ชิงไขก๊อกยังไม่ทันปฏิญาณตน



ส.ส.แห่ลาออกเหลือเสียงในสภา 429 เสียง ทำองค์ประชุมเหลือ 215 ด้าน"เบญญา" ชิงไขก๊อก ยังไม่ทันปฏิญาณตน ส่งผลล่มเป็นอาจิณอีกแล้ว "สุชาติ" สั่งปิดประชุมหลังนับองค์ได้แค่ 153 เสียง โอดได้รับฉายา ‘มือปิดประชุม’ แต่จำต้องทำปิดเพราะขาดอีกเยอะ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566  ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งถึงการลาออกจากส.ส.และการสังกัดพรรคการเมืองจำนวน 7 คน ได้แก่ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย นายอภิชา เลิศพชร กมล ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย นายศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรประชาธิปัตย์ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย และ นางเบญญา นันทขว้าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง ทำให้มีส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ 429 คน โดยต้องใช้องค์ประชุม 215 คน

พร้อมกับให้ส.ส.ที่ได้รับการเลื่อนลำดับมาแทนตำแหน่งที่ว่าง4 คน คือ นายพิชัย ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไท, นายโกมินทร์ ทีฆธนานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุรบถ หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่

สำหรับนางเบญญานั้นได้รับการเลื่อนลำดับมาแทนนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง ซึ่งราชกิจจานุเบกษาประกาศการเลื่อนลำดับเมื่อ 19 มกราคม ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งส.ส. เมื่อ 24 มกราคม ก่อนที่จะมีการกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนปฏิบัติหน้าที่

 ล่มเป็นอาจิณ! ‘สุชาติ’ สั่งปิดประชุมหลังนับองค์ได้แค่ 153 เสียง 

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายศุภชัย ได้เข้าวาระการพิจารณาเพื่อรับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี2564 โดยมีการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายซักถาม พร้อมให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตอบชี้แจง โดยนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือให้มีการตรวจสอบองค์ประชุมเนื่องจาก ไม่สบายใจ ที่ในวันนี้มีกระทู้สดจำนวน10กระทู้ เป็นเรื่องสำคัญต่อบ้านเมือง แต่มาตอบเพียง2กระทู้เท่านั้น แสดงว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับสภาฯแห่งนี้ ซึ่งนายศุภชัย ชี้แจงนายอุบลศักดิ์ว่า ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ขอร้องให้การประชุมเดินหน้าไปตามปกติ เพื่อให้มีการทำงานมากที่สุด เพราะสภาฯเหลือน้อยแล้ว

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของนายอุบลศักดิ์ พร้อมกล่าวว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม มีการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีส.ว.ไม่มาแสดงตน และ ฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ และในการประชุมสภาฯ วาระกระทู้ที่สำคัญ ที่พบว่ามีบางพรรคการเมืองใช้สถานที่ของผู้ค้ายาเสพติดเป็นอาคารสำนักงาน แต่ไม่ได้พูดในสภา ต้องเลื่อนไปวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งเชื่อว่ายุบสภาไปแล้ว ดังนั้นการประชุมวันนี้( 26 มกราคม) จะให้ฝ่ายค้านนั่งฟังเพื่ออะไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ส.ส.ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบเป็นองค์ประชุม ไม่ใช่ให้ฝ่ายค้านนั่งเป็นองค์ประชุม แต่ไม่อยู่ ต้องทำตามข้อบังคับของสภาฯ อย่างเคร่งครัดให้ตรวจสอบองค์ประชุม ถือเป็นความรับผิดชอบแต่ละบุคคล

ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวขึ้นว่า “ผมนั่งอยู่บนนี้ เห็นหมด ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ารรัฐบาลอยู่พอๆกัน การทำหน้าที่ในสภาเป็นหน้าที่ของส.ส.ทุกกคน เพราะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนเรื่องเมื่อวานให้เป็นเรื่องเมื่อวาน ส่วนวันนี้เป็นเรื่องของวันนี้” พร้อมร้องขอให้ยกเลิกการเสนอนับองค์ประชุม แต่ไม่เป็นผลทำให้นายศุภชัย ต้องเรียกสมาชิกมาแสดงตนเมื่อเวลา 12.58 น.

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการแสดงตนดังกล่าวมีส.ส. กว่า 30 คนที่ใช้การแสดงตนด้วยการขานชื่อแทนการกดบัตรแสดงตน หลังจากที่ ส.ส.เพื่อไทย ชี้ชวนให้ประชาชนเห็นว่าการเข้าประชุมนั้นเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล

ต่อมาในเวลา13.20น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ได้สลับมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และใช้เวลารอองค์ประชุมเพียงไม่กี่นาที ก่อนจะกล่าวปิดการแสดงตน พร้อมกล่าวด้วยว่า “ผมขึ้นทีไร ก็ปิดการประชุมทุกที จนได้รับฉายาว่ามือปิดประชุม แต่ผมไม่รู้จะประชุมต่อได้อย่างไร เพราะองค์ประชุมไม่ครบ มีคนกดบัตรแสดงตน 122 คน และแสดงตนผ่านการขานชื่อ 30 คน และรวมผมด้วย เป็น 31 คน แต่ยังขาดอีกเยอะ องค์ประชุม ไม่เป็นองค์ประชุมต้องเลิกโดยปริยาย ต้องเลิกประชุม” และได้สั่งปิดประชุมในเวลา13.25น.

ทั้งนี้การที่องค์ประชุมสภาฯล่มดังกล่าวในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 เป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...