วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2566

พล.อ.ประวิตรประชุมวางแผนทำงบฯปี 67 บูรณาการ 3 คณะ น้อมนำศาสตร์พระราชาสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ



พล.อ.ประวิตรประชุมวางแผนทำงบฯปี67 บูรณาการ 3 คณะ  เกาะติดแก้ปัญหา จชต.-น้ำ-รัฐบาลดิจิทัล  น้อมนำศาสตร์พระราชาประยุกต์สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ  ย้ำงานไม่ซ้ำซ้อน  ปชช.มีส่วนร่วม ได้ประโยชน์ตรงความต้องการ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566  เวลา 10.00 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการปี 2567 ทั้ง 3 คณะต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็น 3 แผนงาน จากทั้งหมด 11 แผนงาน ที่ นรม.มอบหมาย  ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ  สมช.  ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมคณะแรก (คณะที่ 1.1) การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา จชต. ซึ่งมี สมช.เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ กอ.รมน. และ ศอ.บต. โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ กรอบงบประมาณรายจ่ายบูรณาการตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จชต. งบปี2567 มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำงบฯที่สำคัญ อาทิ ต้องสอดคล้องกับเจตนารมย์และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีการเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน แบบห่วงโซ่คุณค่า (value chain) คำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ UN รวมถึงให้มีการขยายผลตามแนวศาสตร์พระราชา และยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นต้น ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ให้นโยบายการทำงาน ต้องลดความหวาดระแวง สร้างกระบวนการยุติธรรมให้เด่นชัด มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจน และการพัฒนาการศึกษา ให้เป็นรูปธรรม

ต่อด้วย การประชุมคณะที่สอง (คณะที่ 1.2) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มี สทนช.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ หลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี67 ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และเป็นแผน/โครงการ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำที่ กนช. เห็นชอบแล้ว รวมทั้งได้พิจารณาเห็นชอบ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปี 2567 ซึ่งจะมี 21 หน่วยงานจาก 8กระทรวง รับผิดชอบ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร  ได้กำชับ ให้ สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ อย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน เนื่องจากน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ต่อทุกคน ทุกพื้นที่ และการบริหาร งป.ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ด้วย 

จากนั้น เป็นการประชุมคณะที่สาม (คณะที่ 1.3) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.)เป็นเจ้าภาพหลัก และมีการเห็นชอบ แนวทางการดำเนินงาน ภายใต้แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2567 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเน้น การพัฒนาบุคลากร การลดความซ้ำซ้อน การประหยัดงบประมาณ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ครอบคลุมการบริการ และยกระดับคุณภาพการดำเนินชีวิตของประชาชน ทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบทั้ง 3แผนงาน โดยต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยภาคประชาชน ให้ได้แนวทางที่ชัดเจน น้อมนำศาสตร์พระราชา มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เป็นรูปธรรม โดยงานจะต้องไม่เกิดการซ้ำซ้อน อย่างเด็ดขาด และการใช้งบประมาณอย่างประหยัด คุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพ ประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ทั่วถึง นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี และยั่งยืน ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...