วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566

ส.ว.ตรวจเยี่ยมอำเภอนำร่องแม่ใจ ปลื้มแก้จนตามแนวพอเพียงพึ่งพาตนเองได้



สมาชิกวุฒิสภาตรวจเยี่ยมโครงการอำเภอนำร่องฯ ที่อำเภอแม่ใจ ปลื้มเน้นการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง ด้านนายอำเภอแม่ใจ ย้ำความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือ และความสามัคคี พร้อมขยายผลสู่ความยั่งยืนในทุกมิติต่อไป 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม  2566 นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ (19 ม.ค. 66) คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) ประกอบด้วย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์, นายณรงค์ อ่อนสะอาด, นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย และพลเอก สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ได้ลงพื้นที่ ณ ห้องประชุมพญาคำแดง ที่ว่าการอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เพื่อติดตามและรับฟังความคิดเห็นการขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ สร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอำเภอแม่ใจได้มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ และ สืบสาน รักษาต่อยอดตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน โดยมีทีมอำเภอแม่ใจ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และพี่น้องประชาชนอำเภอแม่ใจ ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม 



นายพีรัช กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการคัดเลือกอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ยอดเยี่ยม ซึ่งมี อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.วังเจ้า จ.ตาก ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับยอดเยี่ยม ในส่วนของอำเภอแม่ใจ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับดีเด่น โดยได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ และ สืบสาน รักษาต่อยอดตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาแม่ใจอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรม 70 พรรษา 700 ฝาย แม่ใจร้อยใจภักดิ์เทิดไท้องค์ราชัน (ซ่อมสร้างฝาย) ให้สามารถจัดการลดตะกอนดิน ตะกอนหินไม่ให้ไหลลงสู่หนองเล็งทราย เพื่อให้สามารถกักเก็บรองรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยผลการดำเนินการ ซ่อมสร้างฝ่ายชะลอน้ำเดิม จำนวน 319 ฝาย สร้างฝายใหม่ในทุกตำบล ทั้งสิ้น 132 ฝาย และอยู่ระหว่างดำเนินการสร้างฝายใหม่ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับงบประมาณแล้ว จำนวน 649 ฝาย หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดจะมีฝายทั้งสิ้น จำนวน 1,100 ฝาย กิจกรรมต่อมา คือ การสร้างธรรมนูญแก่เหมือง แก่ฝาย ในการดูแลรักษาจัดการน้ำอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน ซึ่งมีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน และร่วมกันสร้างกฎ กติกา การบริหารจัดการน้ำในเหมืองและฝายจากการใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละชุมชน เพื่อให้เกิดธรรมนูญกลาง และเผยแพร่ให้แก่ชาวบ้านในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน 

 


นายพีรัช กล่าวต่อว่า กิจกรรมที่ 3 คือ คันนาทองคำ นำสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมการรักษาระบบนิเวศน์ให้อยู่ในภาวะสมดุลจากพื้นที่ แนวคันดิน สร้างให้เป็นคันนาทองคำ สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวในระดับครัวเรือนต่อยอดถึงการสร้างรายได้ ผลการดำเนินการ ขอสนับสนุนต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ความดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กลุ่มเป้าหมายปลูกแบบกสิกรรมธรรมชาติ บนคันนาที่มีขนาดเหมาะสมใน 66 หมู่บ้าน ในอำเภอแม่ใจ มีความยาวประมาณ 7,000 เมตร กิจกรรมที่ 4 คือ 70 พรรษาเมล็ดพันธุ์ความดี 700 ครัวเรือนสุขี สู่วิถียั่งยืน (สร้างความมั่นคงทางอาหาร) บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้มีรายได้น้อย คนชราคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้มีพืชผักสวนครัวไว้บริโภค ผลการดำเนินการ มอบเมล็ดพันธุ์ความดีให้แก่ประชาชน 700 ครัวเรือน ผู้มีรายได้น้อยคนชรา คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้มีพืชผักสวนครัวไว้บริโภคครอบคลุมทั้งอำเภอ อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ เสริมสร้างความรักความสามัคคีและความเกื้อกูลของคนในชุมชน และกิจกรรมสุดท้าย คือ 70 พรรษา 700 ต้นกล้าความดี วิถีพอเพียง ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอแม่ใจ มีความรู้ความเข้าใจในการใช้น้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามศาสตร์พระราชาสร้างทีมแห่งเปลี่ยนแปลงด้วยความรัก ความสามัคคี และอุดมการณ์ที่แน่วแน่เพื่อสร้าง "ความสุขที่ยั่งยืน" โดยใช้กลไกในการทำงานด้วยการประสานภาคีเครือข่ายร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูจากสถานศึกษา 18 + 1 plus ประกอบด้วย โรงเรียนในอำเภอแม่ใจ สังกัด สพป.พะเยา เขต 1 จำนวน 18 แห่ง โรงเรียนสังกัด สพม.พะเยา จำนวน 1 แห่ง กศน.แม่ใจ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ และทักษะชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายในการมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็น คนเก่ง คนดี และมีความสุข มุ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ได้ใช้กระบวนการคิด Active Learning และสามารถดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 จำนวน 700 คน

 


"โครงการอำเภอนำร่องฯ นี้ เป็นการนำแนวคิด Change for Good ที่เป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่ได้จากการดำเนินโครงการและถ่ายทอดความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ คือ พลังความร่วมมือ พลังความร่วมใจ การรวมพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเเปลง หรือ Momentum for Change อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอำเภอแม่ใจที่ยั่งยืน ซึ่งภายหลังจากการรายงานผลการดำเนินงานเสร็จสิ้นเเล้ว ทางคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน ได้กล่าวชื่นชมอำเภอแม่ใจถึงการดำเนินงาน โดยเฉพาะการบูรณาการความร่วมมือ ร่วมใจ จากทุกภาคส่วน สร้างพลังผู้นำ สร้างพลังกลุ่มเครือข่าย ขยายผลต่อยอดสู่หมู่บ้านและชุมชน อันเป็นผลผลิตจากการดำเนินโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ นอกจากนี้ ท่านสมาชิกวุฒิสภาได้กล่าวคำปรารภว่า จากข่าวมีการโจมตีโครงการอำเภอ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ว่ามีการใช้งบประมาณ ในการดำเนินการค่าจ้างวิทยากรสูง และทำไมต้องนำนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายไปอบรมด้วย แต่หลังจากฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินการของอำเภอแม่ใจแล้ว ได้เข้าใจเป็นอย่างดียิ่งว่าโครงการฯ นี้ ได้ผลเชิงประจักษ์จริง งบที่ถูกโจมตีว่าใช้มากถึง 49 ล้านนั้น ยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ กับผลเชิงประจักษ์ที่ทุกอำเภอจะได้ไปขับเคลื่อนดังเช่นที่อำเภอแม่ใจดำเนินการ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ยังได้กล่าวอีกว่า หากมีการขยายผลโครงการฯ นี้ ในวงกว้างจะช่วยทำให้เกิดกิจกรรมดี ๆ ที่เป็นพลังในการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนได้อย่างเเท้จริง" นายอำเภอแม่ใจ กล่าว

 

นายอำเภอแม่ใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ โดยเน้นที่การสร้างความยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมา ประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เพราะกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยทุกโครงการล้วนเเล้วเเต่เป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระบรมราโชบายทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ผ่านโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่เป็นโครงการขยายผลจากโครงการอำเภอนำร่องฯ ควบคู่ไปกับต่อยอดแนวพระดำริด้วยการขับเคลื่อนสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่งจะคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพน้อยที่สุดของตำบล จำนวน 1 หมู่บ้าน มาพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยส่วนร่วมจากทุกภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์จากโครงการต่าง ๆ ในปีที่ผ่าน พร้อมนำไปสู่การเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...