วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

ผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพสื่อร้องกมธ.พัฒนาการเมืองค้านร่างพรบ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ



เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1(โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน รับยื่นหนังสือจาก น.ส. วศินี พบูประภาพ ผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....  พร้อมแนบรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านจำนวน 2,000 รายชื่อ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 แล้วนั้น คาดว่าจะนำเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเร็ว ๆ นี้ 

โดยมีบันทึกหลักการและเหตุผลว่า “สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรองและกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม" ซึ่งมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ กำหนดให้มีองค์กรชื่อ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน พร้อมกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมนั้น โดยมีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อในปัจจุบันจำนวน  5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ อีกจำนวน 5 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา พร้อมกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีกจำนวน 1 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 11 คน ทั้งนี้ นักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน ได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความกังวลต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้

1. การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน : มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น "ตามจริยธรรมสื่อมวลชน" แต่ก็มีข้อยกเวันว่า"ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า "หน้าที่ของปวงชนชาวไทย" และ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในการจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย


2. ผลประโยชน์ทับซ้อน : มาตราที่ 8 และ 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่ามาจาก 7 ช่องทาง รวมถึงจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินที่ได้รับการจัดสรรโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะรับประกันความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐ


3. ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม : คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด ได้แก่

1. คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือ ผู้แทนคณะ หรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

2.คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือ ผู้แทนคณะ หรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัย ราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

3. คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือ ผู้แทนคณะ หรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

4. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ1 คน 

5. ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน

โครงสร้างของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ยึดโยงกับสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือก


จึงมีขอเรียกร้องร่วมกันดังต่อไปนี้


1.ขอให้รัฐสภา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน 

2.ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ว่าจำเป็นจะต้องมีร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมาหรือไม่ พร้อมจัดทำข้อคำนึงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตามกระบวนการรัฐสภาต่อไป


นายณัฐชา กล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือว่า คณะ กมธ. มีความห่วงใยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ดังนั้น คณะ กมธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันพรุ่งนี้  เพื่อขอมติในการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงต่อคณะ กมธ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลูกศิษย์ส่งหลวงปู่ธัมมาพิทักษาพระมหาเถระผู้มีพระคุณยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย

วันที่ ๒๗ เมษายน  ๒๕๖๗  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,  ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิท...