วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2566

กรมศิลป์รับมอบพระพุทธรูปแกะสลักโบราณคืนจากชาวออสเตรเลีย



วันพุธที่ 25 มกราคม 2566 นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ประกอบด้วยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารเทศ นายณัฐพล ณ สงขลา ผู้อำนวยการกองทูตวัฒนธรรม เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ในพิธีมอบพระพุทธรูปไม้ที่มีผู้ประสงค์ส่งมอบคืนให้กับประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศให้แก่กรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้แทนกรมศิลปากรเข้าร่วมในพิธี  ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

พระพุทธรูปไม้แกะสลักที่ได้รับมอบในครั้งนี้มีจำนวน 9 องค์ เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักขนาดเล็ก ซึ่งนาย Murray Upton ชาวออสเตรเลีย ประสงค์จะมอบคืนให้แก่ประเทศไทย โดยได้ประสานผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตามข้อมูลระบุว่า นาย Upton ได้รับพระพุทธรูปจากบิดาซึ่งเป็นนักสำรวจและวิศวกรของบริษัท Southern Siam ที่ได้สำรวจเส้นทางและก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2454 ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง

ทางกรมศิลปากรได้พิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการรับพระพุทธรูปดังกล่าวกลับคืนสู่ประเทศไทย กรมศิลปากรจึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นผู้แทนรับมอบและจัดส่งผ่านถุงเมล์การทูตกลับคืนสู่ประเทศไทย

สำหรับพระพุทธรูปไม้แกะสลักดังกล่าว ตามประวัติและรูปแบบศิลปกรรมเป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยฝีมือช่างพื้นถิ่นคงมีแหล่งที่มาจากภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันเหลือจำนวนไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่มักเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนในพื้นที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อประดิษฐานในวัด หรือถ้ำศาสนสถาน จึงเป็นการดีที่ได้นำกลับมาเพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษารูปแบบศิลปกรรมของท้องถิ่นภาคใต้

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่รับมอบแล้วจะนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...