วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562
'จุรินทร์'โชว์ลุยขายยางอินเดียรวดเดียว 100,000 ตัน 9,000 ล้าน
วันที่ 27 กันยายน 2562 เวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น จากการที่กระทรวงพาณิชย์ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงและคณะผู้แทนการค้าภาคเอกชนเดินทางยืนประเทศอินเดียในโครงการระหว่างวันที่ 24 ถึง 28 กันยายน 2562 นั้น นายจุรินทร์ เปิดเผยสรุปเป้าหมายและยอดการซื้อขายจากกิจกรรมต่างๆ ในมุมไบ กับ เจนไน (25 - 27 กันยายน 2562)ว่า ในรายละเอียดของการทำงานสามารถทำข้อตกลง MoU ซื้อขายยางพาราในวันนี้ ยอดสั่งซื้อรวม 100,000 ตัน มูลค่า 7,500 ล้านบาท และไม้ยางพาราอีก 130 ล้านนและผลิตภัณฑ์ยางพารา 1,370 ล้านบาท จึงรวมยอดเฉพาะยางพาราขายได้รวม 9,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ถือว่าเป็นที่พอใจ และเป็นสัญญาณที่ดีเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากนี้จะกลับมาอีกครั้งเพื่อเปิดตลาดผลไม้ อาหาร เวชสำอาง โดยเชิญคณะวัสดุก่อสร้าง ผู้ประกอบการย่อยสลายพลาสติก และ อสังหาริมทรัพย์ ของอินเดียไปเยือนไทยเพื่อพบเอกชนไทยในเดือน พย.นี้ ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อรวมภารกิจ 3 วันในอินเดียสามารถสร้างยอดขายรวมสินค้าอื่นด้วยเป็น 12,073 ล้านบาท
รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับการสัมมนาที่เมืองเจนไน เรื่องโอกาสใหม่ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมยางระหว่างไทยและอินเดียเป็นเป้าหมายการเปิดตลาดยางพาราของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลนี้
ฝ่ายค้านเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากเกษตรกรสวนยางพารายะลา
ขณะที่ฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจรภาคใต้ เปิดเวทีรับฟังปัญหาจากเกษตรกรสวนยางพารา ในสวนยางพารา ที่ตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลา นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, นายคมฐณิษฎ์ ภษิกุญ โฆษกพลังปวงชนไทย, พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีต เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายประพันธ์ เอี่ยมศิริ โฆษกพรรคเศรษฐกิจใหม่, นายบุญเลิศ เหลียงกอบกิจ กรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย, นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่, นายสราวุธ ยุติโยธิน รองโฆษกเพื่อชาติ พร้อมด้วย ส.ส. ในพื้นที่ นายซูการ์โน มะทา และนายอัลดุลอายี สาแม็ง ส.ส. ยะลา และนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี มาต้อนรับ
นายมะเสาวดี ไสสากา ตัวแทนเกษตรจากสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า รายได้ชาวยะลาส่วนใหญ่มาจากส่วนยาง อีกส่วนมาจากสวนไม้ผล ชาวยะลาปลูกยางพาราราว 2 ล้านไร่ แต่อยู่ในระบบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) 1.2 ล้านไร่ แต่อีก 8 แสนไร่ไม่ได้อยู่ในกองทุนฯ เพราะประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน แม้จะถูกเก็บภาษีจากการค้ายางพารา แต่ไม่เคยได้รับเงินชดเชยเพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์
ขณะเดียวกันปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 250 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มีรายได้รวมๆ 3,000 กว่าบาทต่อไร่ ต่อครอบครัว แล้วครอบครัวส่วนใหญ่มี 5-10 ไร่ ซึ่งรายได้ดังกล่าวยังต้องแบ่งครึ่งระหว่างเจ้าของสวนยางกับคนกรีดยาง อย่างไรก็ตามราคายาง 15 บาทต่อกิโลกรัมอยู่ไม่ได้ ต้องยกระดับเท่าตัวเป็น 30 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังฝากฝ่ายค้านไปกระตุ้นรัฐบาลให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อเป็นนายทุนผลิตเอง เปิดโรงงานของเกษตรกรเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่โรงงานจากนายทุนจากข้างนอก
ตัวแทนจากทั้ง 7 พรรครับเรื่องร้องเรียนของประชาชน และจะนำกลับไปคิดหาทางออกเพื่อกระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินการอีกครั้ง
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายจะทำไม่ได้จริงเลย ถ้าขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น ตลาดประชารัฐ ทุกวันนี้ซบเซาไม่มีคนซื้อ นโยบายโครงการมารดาประชารัฐ ค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้กระทั่งราคายางที่รัฐบาลเคยสัญญาตอนหาเสียงว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังทำไม่ได้
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลไม่ลงลึกในรายละเอียด เช่นปัญหาราคายางพารา สามารถแก้ได้ แต่ไม่สนใจ เหมือนกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายนิคม กล่าวว่า งบประมาณของชาติส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับกองทัพ แต่ถ้ารัฐบาลนำมาพัฒนาและแก้ปัญหาการเกษตร ก็จะแก้ปัญหาราคายางพาราได้ ขณะที่การค้าขายกับต่างประเทศขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในรัฐบาล แต่รัฐบาลที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลเผด็จการ ต่างชาติก็ไม่ค้าขายด้วย รวมทั้งรัฐบาลทหารเองก็ไม่มีฝีมือ แทนที่จะหาเทคโนโลยีหรือนโยบายใหม่ๆ มาแก้ปัญหาราคายาง เช่น นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การเอาสินค้าเกษตรไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างชาติที่ประเทศไทยผลิตไม่ได้
นายนิรามาน แนะนำว่า รัฐบาลควรใช้ความรู้ในสถาบันการศึกษามาแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้เป็นอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ใช่ส่งออกยางพาราออกไปต่างประเทศ แล้วซื้อสินค้าที่แปรรูปจากยางพารากลับมาในราคาแพง
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ปัญหาของภาคใต้ก็เป็นปัญหาเดียวกับภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วนด้วย นั่นคือปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่พูดกับนายกรัฐมนตรีก็ไม่เข้าหู
“พูดกับประยุทธ์เหมือนพูดกับต้นยาง ไม่รู้เรื่อง ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีไม่มีวันที่ราคายางจะขึ้นมาเลย เพราะขึ้นอยู่กับว่าทำเป็นหรือไม่เป็น ถ้าจะให้ราคายางขึ้นต้องเปลี่ยนนายกฯ ต่อให้เล่าให้ฟังก็ไม่เข้าหู อย่าว่าแต่เข้าใจเลย เพราะฟังไม่ได้ รัฐบาลนี้แก้ปัญหายางไม่ได้เพราะทำไม่เป็น”
ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ ยกตัวอย่าง นโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ผ่านมา เช่น รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นำเรื่องราคายางไปคุยกับรัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้ประกันราคายางพาราและพร้อมรับซื้อพร้อมกันหากราคาตก ทำให้ราคายางขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลทำเป็นมีฝีมือ ฉลาด คิดได้ เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคนไม่มีฝีมือจะมาทำ ตนไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องรอ เช่นพรรคเศรษฐกิจใหม่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เคยทำให้ราคายางขึ้น จนยางพาราไม่พอขาย แต่พอปฏิวัติราคายางตกเรื่อยๆ
อีกประเด็นหนึ่งคือ ชาวสวนยางพาราอีก 8 แสนไร่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งที่ปลูกยางมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แต่อยู่ๆ รัฐบาลก็เข้ามาประกาศว่าเป็นเขตป่าสงวน ป่าต้นน้ำ รัฐบาลนี้ไม่ดูแลเรื่องที่ดินให้ประชาชน ชาวบ้านปลูกยางพารา 5 ไร่ 10 ไร่ แต่ก็มาไล่ออกจากพื้นที่ ขณะที่เศรษฐีมีที่เป็นแสนไร่ เช่าที่ป่าได้ แต่คนจนผิดหมด คนรวยทำยังไงก็ได้ นี่คือไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน
ทุกวันนี้ยางก้นถ้วยมีต้นทุน 30 บาท ถ้าได้ราคาเกินนี้ก็จะอยู่ได้ แต่รัฐบาลประกันราคา 18-20 บาท ขณะที่ราคายางพาราหากต่ำกว่า 70 บาทคนใต้จะยากจนหมด รัฐบาลของประชาชนต้องทำให้ราคายางเกิน 70 บาทให้ได้ ชาวบ้านจะได้ส่งลูกเรียนได้ ซื้อเสื้อผ้าได้ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศก็จะดีขึ้น ตนยังจำได้ว่าสมัยตนเป็น ส.ส. เศรษฐกิจดี จนรถขายไม่ทัน ตอนนี้เศรษฐกิจพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะราคายางพาราตกต่ำ
หัวหน้าพรรคประชาชาติยังกล่าวย้ำว่า ภาคใต้ไม่มีทางดีขึ้นถ้าราคายางตกต่ำ และรัฐบาลต้องเร่งออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวสวนยาง เพราะเขาทำมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แต่อยู่ๆ เอากฎหมายอะไรมาบังคับก็ไม่รู้ ถ้าบอกว่าประชาชนผิดกฎหมายอยู่ไม่ได้ แล้วอยากถามกลับว่าคุณทำผิดรัฐธรรมนูญ ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ตามมาตรา 162 อยู่ได้ยังไง
ขณะที่นายเวดาแม เตะโลกา ชาว จ.ยะลา ลุกขึ้นทวงถามคำสัญญา จากนายกฯรัฐมนตรีว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายกฯลงมาเปิดตลาดกลางยางพาราซึ่งเป็นตลาดรับซื้อทุเรียน ตนเข้าไปจับมือพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าตอนนี้คนจนจะตายอยู่แล้วไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน รัฐบาลไม่ยอมออกให้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็รับปากพร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเอาเรื่องนี้ไปดำเนินการแต่ผ่านมา1เดือนแล้วเรื่องก็เงียบกริบไม่มีใครมาสอบถามหรือแก้ไขให้ จึงฝากฝ่ายค้านไปบอกพล.อ.ประยุทธ์ว่าตนมาทวงคำสัญญาแล้ว ไม่ใช่จับมือรับปัญหาแล้วเงียบเฉย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น