วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนระมัดระวัง 3 โรคสำคัญหลังน้ำลด



กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมระมัดระวัง 3 โรคสำคัญหลังน้ำลด ได้แก่      โรคอุจจาระร่วง โรคไข้ฉี่หนู และโรคติดต่อนำโดยยุงลาย พร้อมแนะประชาชนขณะกลับเข้าบ้าน สำรวจบริเวณรอบๆตัวบ้านและในชุมชน โดยเฉพาะตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆที่อาจมีน้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขอให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกประเภท เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค

วันที่ 28 กันยายน 2562  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล        รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นห่วงสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ในบางพื้นที่น้ำเริ่มลดลงแล้ว จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำลด โดยเฉพาะ 3 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้ฉี่หนู และโรคติดต่อนำโดยยุงลาย

โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้ำท่วม หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดนำมาชำระล้างภาชนะใส่อาหาร เช่น ถ้วย ชาม ช้อน ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ ขยะมูลฝอย       ที่บูดเน่า หรือจากการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงอาหาร จะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารต่างๆ ได้ การป้องกันโรคสามารถทำได้โดยการดื่มน้ำสะอาด น้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน การล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำมาใช้ รักษาความสะอาดโดยการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค การกำจัดอุจจาระ ปัสสาวะที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระในน้ำที่ท่วมเพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้          (ในภาวะน้ำท่วมสูงควรถ่ายใส่ถุงดำแล้วโรยปูนขาว ปิดปากถุงให้แน่น รอเรือเก็บขยะมาเก็บ)  

โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส โดยเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำ ในดิน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หรือเยื่อบุตา ปาก จมูก หลังจากได้รับเชื้อโดยเฉลี่ย 10 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือตา บางรายปวดบริเวณขมับ     ทั้งสองข้าง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณ ขา น่อง มีไข้สูงร่วมกับหนาวสั่น อาการต่างๆ อาจอยู่ได้ 4 - 7 วัน นอกจากอาการดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง การตรวจร่างกายในระยะนี้อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการตาแดง วิธีการป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท ล้างเท้าหรือส่วนที่แช่อยู่ในน้ำ เมื่อขึ้นจากการแช่น้ำทุกครั้งควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที หากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อหรือมีอาการตาแดง ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า อีกโรคที่สำคัญในช่วงน้ำลด คือ โรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยหลังจากน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมา อาจพบผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนหลังจากน้ำลดและกลับเข้าบ้านแล้ว ขอให้สำรวจและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณโดยรอบตัวบ้านและในชุมชน เพื่อดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ ซึ่งจะป้องกันได้ 3 โรค คือ               โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มีกินกันหรือยัง น้ำพริกพี่ญาคนรุม น้ำพริกหมดแล้วมั้ง

สั่งทางสยามพงษ์ช้อปได้เลยนะ https://www.tiktok.com/@siampongs