วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

หนึ่งปีมีหนึ่งครั้งวาทะนักการเมือง ยาหอมวันแรงงานแห่งชาติ

 


"สุดารัตน์" แนะรัฐบาลต้องหยุดประวิงเวลา ดำเนินการปลดล็อคกฎหมาย หาทางคืนเงินผู้ประกันตนเป็นการเร่งด่วน ขณะที่ "อนุทิน" ชื่นชม “แรงงานไทย”เป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจ  "เอ้-สุชัชวีร์" ชูนโยบายเพื่อคนทำงาน "จัดตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชน" สร้างอาชีพ สร้างโอกาส เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในศก. ฐานราก "อิสระ" หนุนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบขั้นบันได แต่ไม่ใช่ก้าวกระโดด  492 บาท ส่วน  "ราเมศ" ยกพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือกำลังสำคัญในการ "สรรค์สร้างประเทศ"  

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 วันแรงงานแห่งชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า  รัฐบาลต้องหยุดประวิงเวลา ดำเนินการปลดล็อคกฎหมาย หาทางคืนเงินผู้ประกันตนเป็นการเร่งด่วน!!


1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ หน่อยและทีมงานของพรรคไทยสร้างไทย ขอส่งความปรารถนาดี และกำลังใจแก่พี่น้องแรงงาน คนทำงานทั่วประเทศ พร้อมทั้งขอใช้โอกาสสำคัญวันนี้ ประกาศจุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยในการแก้ไขกฎหมายเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานเป็นการเร่งด่วน


การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อพี่น้องแรงงานทั่วประเทศแบบฉันพลัน ตลอดสองปีนี้ หน่อยได้พูดคุยกับพี่น้องแรงงานหลายกลุ่ม ทำให้ทราบว่าต้องเจอปัญหาหนัก ตั้งแต่ลดเงินเดือน ปลดออกจากงาน ความคล่องตัวทางการเงินหายไปมาก ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย 


เมื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ประกันตนที่ได้ส่งหรือเคยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจนมีเงินเก็บ เสนอว่าต้องการนำเงินส่วนนี้มาใช้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไปได้ โดยจุดประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2563 ก็ปรากฏว่า ทั้งรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ได้ประวิงเวลาในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด 


ประวิงเวลาแบบชนิดที่ว่า มีการเรียกร้องตั้งแต่ปี 2563 แต่เข้าเดือนที่ 5 ของปี 2565 จนวิกฤติโควิดผ่านมาหลายระลอกแล้ว ยังไม่มีการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนอย่างเป็นรูปธรรม 


ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจ และไม่เห็นปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อถามหาความคืบหน้า ที่ได้มาคือคำตอบในขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อประวิงเวลาทั้งสิ้น 


ผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ จะรู้หรือไม่ว่า ทุกนาทีที่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความล่าช้า ก็เหมือนความช่วยเหลือที่มาไม่ถูกเวลา ย่อมไม่สามารถเยียวยาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ในเวลาที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด 


พรรคไทยสร้างไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาชิกกลุ่มและเพจขอคืนไม่ได้ขอทานที่มีสมาชิกกว่า 40,000 คน ว่า ในเมื่อการแก้ไขยกร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมยังคงต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงเงินสะสมของตนเองได้ จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจของนายกตามกฎหมาย ออก พ.ร.ก. คืนเงินประกันสังคม 


โดยให้ผู้ประกันตนในระบบปัจจุบันให้กำหนดคืนเงิน 30% ของเงินสมทบทั้งหมด โดยผู้ประกันตนที่มารับเงิน 30% คืนมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะสามารถรับเงินส่วนที่เหลือในรูปแบบบำเหน็จชราภาพเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ขอรับเงินคืนสามารถที่จะเลือกรับเงินในรูปแบบบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพได้ตามกฎหมาย


นอกจากนั้นยังให้ผู้ประกันตนสามารถกู้เงินได้ โดยนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน


พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาโดยเร่งด่วน เพราะยิ่งประวิงเวลาโดยอ้างขั้นตอนทางราชการ ก็ยิ่งสะท้อนความอ่อนแอของรัฐบาลในการดูแลผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ


พรรคไทยสร้าง มีเป้าหมายในการ Liberate หรือปลดปล่อย ปลดล็อก พี่น้องประชาชน ออกจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการทำมาหากินของประชาชน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หากเราได้เป็นรัฐบาล เราจะเป็นรัฐบาลที่กระตือรือร้นต่อทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ไม่ปล่อยให้ปัญหาและขั้นตอนทางราชการกลายเป็นอุปสรรคในการเยียวยาความทุกข์ของพี่น้องประชาชนแบบเช่นที่เกิดขึ้นในเวลานี้


 

“อนุทิน” ชื่นชม “แรงงานไทย”เป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจ ยก “Service Mind” จุดแข็ง ผนวกความแกร่งด้านระบบสาธารณสุข พาชาติไปโลด 


ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เนื่องในวันแรงงาน ระบุว่า “ในฐานะนักบิน คำว่า “May Day” จะถูกใช้เพื่อขอความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สำหรับวันนี้ คำว่า “May Day” มีความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะเป็นวันที่พี่น้องแรงงานไทย จะได้รำลึกถึงพลังและศักดิ์ศรีของพวกท่าน รวมถึงการยกย่องเชิดชูและแสดงมุทิตาจิตต่อผู้ที่ได้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในนามผู้ใช้แรงงานเพื่อปกป้อง พิทักษ์ประโยชน์และสวัสดิภาพของเหล่าผู้ใช้แรงงานทุกคนตราบจนถึงปัจจุบัน 


ประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำคือ การเคลื่อนไหวเพื่อการทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน (eight-hour day movement) ซึ่งได้กลายเป็นมาตรฐานและเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องปกป้องสิทธิแรงงานในด้านอื่นๆมาอย่างต่อเนื่อง และการสร้างคุณค่าและการเชิดชูศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน ทำให้รัฐต้องเปลี่ยนชื่อวันนี้จาก “วันกรรมกร” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” และไ้ด้ทำการสถาปนา กระทรวงแรงงาน ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลสนับสนุนสิทธิและประโยชน์ของพี่น้องแรงงานไทย จากเดิมซึ่งมีสถานภาพเป็นเพียงกรมแรงงาน ภายใต้กระทรวงมหาดไทย


แรงงานถือเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานจะได้ส่งเสียงย้ำเตือนถึงความสำคัญและข้อเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นเสียงสำคัญยิ่งที่ผู้บริหารประเทศจะต้องรับฟัง


ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม ตลอดจนด้านกีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของพี่น้องแรงงานไทยทุกคน ผมมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับพื้นฐานคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ต่อเนื่องมากว่าสองปี 


แต่ผมขอให้ความมั่นใจต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนว่า เรากำลังจะก้าวข้ามสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปด้วยกันแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนสถานะโรคระบาดโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น หรือ Endemic ซึ่งจะยังผลให้ผู้ประกอบการและสภาพเศรษฐกิจได้พลิกฟื้นกลับมาเฟื่องฟูอย่างเต็มที่ด้วยศักยภาพและความพร้อมของพวกท่านและโอกาสทางธุรกิจที่จะมีมากขึ้นกว่าเดิม


ประเทศไทยของเราได้รับความเชื่อถือและยกย่องจากนานาประเทศว่าเราเป็นต้นแบบในการบริหารสถานการณ์โควิด และได้รับการยอมรับว่ามีความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นลำดับต้นๆของโลก ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้รวมกับต้นทุนทางศักยภาพและวัฒนธรรมแห่งจิตใจบริการ หรือ Service mind ที่แรงงานไทยมีอยู่อย่างโดดเด่น เน้นความเป็น SOFT POWER จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ฟื้นตัวและก้าวไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วอีกครั้ง 


ความเชื่อมั่นของทั้งโลกต่อประเทศไทยจะมีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงต่อการประกอบกิจการทุกแขนงและเป็นการต่อยอดโอกาสในกิจการด้านอื่นๆนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า การเกษตร การก่อสร้าง ธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจด้านโลจิสติค อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่เราเคยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และจากการถึงพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ 


ประเทศไทยของเราจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้และจะเป็นจุดหมายปลายทางของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลที่ผู้คนทั่วโลกจะมาขอรับบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจรหรือที่เรียกว่า Medical Hub สร้างโอกาส สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้อีกมากมาย ซึ่งหน่วยงานทุกแห่งในการกำกับดูแลของผมได้รับนโยบายไปปฎิบัติเพื่อให้เกิดความพร้อมในทุกๆด้านและดำเนินการได้ทันที


ผมขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน และขอร่วมส่งเสียงสนับสนุนนายจ้างให้ได้ช่วยกันส่งเสริมสวัสดิภาพของลูกจ้าง ทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาวะทางเศรษฐกิจ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรากำลังจะผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน


 #ฟ้าหลังฝนมีความสดใสอยู่เสมอครับ


"เอ้-สุชัชวีร์"  ชู "จัดตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชน" เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในศก. ฐานราก


ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 ได้โพสต์ข้อความว่า  1 พ.ค.2565 เอ้-สุชัชวีร์ เบอร์ 4 ขอร่วมเป็นหนึ่งกำลังใจให้ผู้ใช้แรงงานทุกท่าน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี มีสวัสดิการที่เหมาะสม เท่าเทียม วันที่ 1 พฤษภาคม หรือวันแรงงานแห่งชาติ ไม่เพียงเป็นวันระลึกถึงความสำคัญ แต่เป็นวันที่ย้ำเตือนว่า เราต้องดูแลคนทำงานทุกคนให้ดีที่สุด คนทำงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจของกทม. ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง สิ่งหนึ่งที่คนทำงานทุกคนต้องได้รับ คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี 


ที่เพจ “เอ้ สุชัชวีร์” ได้โพสต์ถึง นโยบายเพื่อคนทำงาน พ่อค้าแม่ขายทุกชุมชน  มอบเป็นพลังในการทำงาน และเป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน กทม. ด้วยนโยบาย “กองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชน” เป็นนโยบายเพื่อการสร้างอาชีพ สร้างโอกาส เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในฐานราก พร้อมกับเพิ่มสวัสดิการลูกจ้าง กทม. และดูแลการประกันสุขภาพแบบกลุ่ม เพราะยิ่งมีคนเยอะเท่าไหร่ค่าเบี้ยยิ่งถูกลง ซึ่งจะเป็นหลักประกันสุขภาพที่ทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มที่


จากสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดคนว่างงานใน กทม.เพิ่มขึ้น กองทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดลงไปในเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะจัดสรรตามขนาดชุมชน  ให้ “ชุมชนเป็นผู้กำหนดงาน” สำหรับตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไป เพื่อเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน ที่สำคัญคือจะเป็นการ "เพิ่มรายได้ทันที" เกิดงาน เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน


นอกจาก “เงินเต็มบ้าน งานเต็มมือ” ด้วยกองทุนจ้างงานชุมชนช่วยให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง แล้ว  ยังลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยอินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จุดทั่วกรุงเทพ คน กทม. จำเป็นจะต้องมีระบบที่สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาเดินทางไปหาหมอในเมือง มีโรงเรียนดี ใกล้บ้าน ให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาฟรีและมีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเพิ่มค่าอาหารเด็กเล็ก ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง กทม. ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดให้มี 12 เทศกาลใหญ่ระดับโลกและ 50 เทศกาลเขต นอกจากจะสร้างอาชีพและรายได้แล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งสนับสนุนคนในชุมชนได้พัฒนาทักษะ เพื่อต่อยอดความสามารถ ผ่านศูนย์ฝึกอาชีพทันสมัยของ กทม. อีกด้วย มาร่วมกันเปลี่ยนกรุงเทพ ดูแลคนทำงาน ผู้ขับเคลื่อนกทม.ให้ดีที่สุด เลือก “เอ้-สุชัชวีร์” เบอร์ 4  คิดให้ครบ จบทีเดียว เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ #เราทำได้


ทั้งนี้ “เอ้ สุชัชวีร์” ยังเผยกำหนดการปราศรัยครั้งแรกที่จะจัดขึ้น โดย “ทีมสุชัชวีร์” ที่ประกอบด้วย คลองสามวา คันนายาว บางเขน มีนบุรี สายไหม หนองจอก ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.20 น. ที่โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ คลองสามวา กรุงเทพมหานคร


"อิสระ" หนุนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบขั้นบันได แต่ไม่ใช่ก้าวกระโดด  492 บาท ชี้บทเรียนหาเสียงด้วยนโยบายขายฝัน 


นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินเเละตลาดการเงิน สภาฯ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายเเรงงาน นำโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรม "วันกรรมกรสากล 2565-May Day 2022 " เดินทางไปที่ทำเนียบฯ ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ทำตามสัญญาที่หาเสียงช่วงเลือกตั้งไว้ ว่า ก่อนหน้านี้ ตนมองเนื้อหา จดหมายเปิดผนึก ที่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มเป็นวันละ 492 บาท ในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ นั้นก็เข้าใจเเละเห็นใจพี่น้องแรงงาน แต่ในความเป็นจริงการปรับขึ้นต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างความต้องการของทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ที่เจอภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 เล่นงานอย่างสาหัส น่าเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าแก้ผิดจุดจะกลายเป็น วิกฤติซ้อนวิกฤติ แก้ปัญหาหนึ่งแต่สร้างอีกปัญหาหนึ่ง โดยถ้าไม่ปรับขึ้นค่าเเรงใดๆเลย ผู้ใช้เเรงงานคงอยู่ลำบาก จากการปรับตัวขึ้นราคาของสินค้าที่แม้กระทรวงพาณิชย์จะพยายามช่วยให้กระทบน้อยที่สุด แต่จากตัวเลขผลสำรวจแรงงานไทย ช่วงเดือนเม.ย.นี้ ส่วนใหญ่มีหนี้สินเฉลี่ยกว่า 2 แสนบาท ต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.90% เทียบกับปีที่แล้ว สูงที่สุดในรอบ 14 ปี แต่หากยิ่งปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงแบบก้าวกระโดดจาก 313-336 บาท ไป 492 บาท ราคาสินค้าที่สูงอยู่แล้วก็ต้องยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น  


นายอิสระ กล่าวว่า หากขึ้นแบบก้าวกระโดด รับรองว่าพี่น้องเเรงงาน ดีใจกันได้ไม่เกิน 1 เดือนแน่นอน นอกจากของทุกอย่างจะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว จะมีนายจ้างหลายราย ทยอยยกธงขาว ปิดกิจการ ปลดคน เกิดปัญหาลูกจ้างตกงานลามเป็นห่วงโซ่ มีบทเรียนราคาเเพงเคยเกิดมาเเล้ว ในปี 2555 ตอนขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดเป็น 300 บาท ทั้งนี้ ตนเห็นด้วย ที่ต้องมีการขึ้นค่าเเรง ณ เวลานี้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักทุกมิติ กำหนดตัวเลขที่ทั้งฟากเเรงงาน และผู้ประกอบการรับได้  โดยควรปรับขึ้นตามสัดส่วนขั้นบันได มากกว่าการขึ้นพร้อมกันตัวเลขเดียวทั้งประเทศ อยากให้คณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาให้รอบคอบด้วย ตนไม่อยากให้เกิดภาพที่ว่าพอใกล้วันเเรงงาน 1 พ.ค. ของทุกปี ก็ต้องออกมากระตุ้นกันที เพราะสัญญาจะขึ้นค่าเเรงไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียง แต่พอได้เป็นรัฐบาล สัญญานั้นก็หายไปกับสายลม นี่คือเครื่องเตือนใจก่อนเข้าคูหา ว่าอย่าเลือกเพราะนโยบายขายฝัน ที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าทำไม่ได้จริง 


นายอิสระ กล่าวว่า ดังนั้น พรรคไหน เคยรับปากไว้แล้วตอนหาเสียง แต่ยังทำไม่ได้ ก็ควรต้องเร่งแก้ไขเยียวยาด้วยวิธีอื่น ทั้งในภาคอุตสาหกรรม คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยหาทางลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น เร่งแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์เรือขนส่งขาดแคลน ที่ส่งผลทำให้ค่าเฟรทสูง ซึ่งกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว รวมถึงภาคท่องเที่ยว ที่เราจะเปิดประเทศ 1 พ.ค. นี้ ต้องควบคุมและบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จทุกท้องที่อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นก็จะล้มกันหมดทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ


"ราเมศ" ยกพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือกำลังสำคัญในการ "สรรค์สร้างประเทศ" 


นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2565 ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงานไทยและผู้ใช้แรงงานทั่วโลก มีความยินดีในวัน สำคัญของผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้แรงงานคือบุคคลสำคัญที่ร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงผู้ที่ใช้แรงงานของตนในการสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นพัฒนาขึ้น ในประเทศนี้อย่างมากมายแต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองและสังคมให้เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทุก ๆ ประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ในปีพุทธศักราช 2565 นี้ สถานการณ์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นปีที่มีความยากลำบาก เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทำให้สถานประกอบกิจการ ต้องประสบปัญหามีผลกระทบถึงพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ด้วย


พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งผลักดันช่วยเหลือผู้ประกอบการและพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่ และยังได้ออกมาตรการหลายด้านเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ  การเพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ ผู้สูงอายุ และอื่นที่เกี่ยวข้อง ในวันสำคัญนี้ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและครอบครัว จงประสบแต่สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้ารุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เตือนผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย

   เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567  ด้วยปรากฏว่ามีบุคคล กลุ่มบุคคล ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเล...