วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

“สมเด็จธีร์”เป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่พระภิกษุผู้ผ่านการอบรมพระธรรมทูตจำนวน 116 รูป



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.30 น. ณ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้เดินทางไปปฎิบัติศาสนกิจแทนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในการเป็นประธานพิธีปัจฉิมนิเทศและมอบวุฒิบัตรแก่พระธรรมทูตผู้ผ่านการอบรมจำนวน 116 รูป 



โดยมี พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี,พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และนายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา , นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายการต้อนรับ 

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้กล่าวให้โอวาทว่า ในพระนามของสมเด็จพระสังฆราช ขอแสดงความชื่นชม ยินดี ที่พระธรรมทูตได้ผ่านการอบรมอย่างสมบูรณ์ ซึ่งงานด้านพระธรรมทูต เป็นเรื่องที่ มส.ให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นทูตทางธรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศแล้ว ยังต้องเป็นทูตทางวัฒนธรรมในการนำวัฒนธรรม ประเพณีไทยที่ดีงาม ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศด้วย ทั้งนี้งานพระธรรมทูตมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ผู้เป็นพระธรรมทูตต้องมีความอดทน วิริยะ อุตสาหะ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานพระธรรมทูตในต่างประเทศ และขอให้พระธรรมทูตตระหนักไว้ด้วยว่า ในการปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตในต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามทั้งพระธรรมวินัย และกฎหมายในประเทศที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องยึดถือปฏิบัติทั้งสองด้าน อย่าทำงานเพียงแค่ถูกใจ แต่การทำงานต้องถูกต้องด้วย

พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร ในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 28 กล่าวว่า การดำเนินงานอบรมผ่านไปด้วยดี แม้ผู้เข้าร่วมอบรมจะมีพรรษาที่ต่างกันมาก แต่ก็สามารถร่วมอบรมด้วยกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการอบรมจะเน้นให้พระธรรมทูตได้ฝึกตนเอง ฝึกการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มีพระวิปัสสนาจารย์มาเป็นผู้สอบอารมณ์ อีกทั้งยังเน้นอบรมทักษะในเรื่องภาษาต่างประเทศ โดยพระธรรมทูตต้องมีความรู้ในภาษาบาลี ไทย อังกฤษ และภาษาของประเทศ ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย เพราะภาษามีความสำคัญมากในการใช้เผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา



ดร.พระพฤกษ์ กตกุสโล จากวัดพุทธเมตตาบุญญานุภาพ อ.เถิน จ.ลำปาง หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมพระธรรมทูต เปิดเผยว่า ตอนเองจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เดินทางมาจังหวัดลำปาง ซึ่งหลังจากจบโครงการท่านเจ้าอาวาสวัดพุทธเมตตาบุญญานุภาพ หากไม่ติดขัดอะไรท่านตั้งใจไว้ว่าจะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย

 “อาตมาพรรษา 5 จบนักธรรมเอก และปริญญาเอก อยากเป็นพระธรรมทูตจึงเข้าอบรม การอบรมที่นี้ไม่ใช่ได้เฉพาะความรู้อย่างเดียว ตลอด 3 เดือนนี้ได้เพื่อน ได้กัลยาณมิตรเพื่อเป็นเครือข่ายจำนวนมาก มีทั้งประโยค 9 ปริญญาเอก บางคนเป็นครูบาอาจารย์ มีแต่คนมีความรู้ หัวใจสำคัญของการเป็นพระธรรมทูตมันต้องมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา รู้เรื่องกรรมฐาน สติปัฎฐานสี่ ส่วนภาษาแม้จะสำคัญ แต่ก็เรียนรู้กันได้  ความอ่อนน้อมนอบถ้อม การมีหัวใจที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน..”



ขณะที่ ดร.พระพรชัย อาสโภ  วัดป่าเทพอินทรประดิษฐ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เล่าว่า การอบรมพระธรรมทูตในครั้งนี้ได้ปฎิบัติวิปัสสนาอย่างเข้มงวด โดยมีพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องวิปัสสนามาอบรมให้ไม่ต่ำกว่า 8 รูป โครงการอบรมพระธรรมทูตนี้จึงเป็นการต่อยอดในการที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

“หลังจากจบการอบรมพระธรรมทูตแล้ว อาตมาตั้งใจจะไปเป็นพระธรรมทูตที่ประเทศเกาหลีใต้ จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นั้น เนื่องจากอาตมาจบปริญญาโทด้านวิปัสสนาภาวนา ที่ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จังหวัดนครปฐมและจบปริญญาเอกพุทธจิตวิทยา มจร วังน้อยแห่งนี้ การอบรมพระธรรมทูตคุณสมบัติเบื้องต้นต้องจบนักธรรมเอก ปริญญาตรีจึงเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ การอบรมเข้มข้นมาก ได้ทั้งความรู้และเทคนิคการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งโครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย..”


Cr.https://thebuddh.com/?p=62679 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลักดันหมอลำขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก

การผลักดันหมอลำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไ...