วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ปลัดมหาดไทยเรียกหาทีมเวิร์คแก้จน ชูโคกหนองนาต้นแบบบริหารจัดการน้ำ ยกเจ้าคุณโซล่าร์-เจ้าคุณวัดป่าดงใหญ่วังอ้อเป็นตัวอย่าง

 


เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565  เวลา 11:00 น. ที่ห้องประชุมเฟื่องนคร ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ป.ย.ป.1 ร่วมมอบนโยบาย หัวข้อ "การสร้างตัวแบบนโยบายและขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" ในการประชุมขับเคลื่อนและบูรณาการโจทย์ภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปี 2565 โจทย์หัวข้อที่ 2 ด้านการบริหารจัดการน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ป.ย.ป.2 รองอธิบดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่นำร่อง (เชียงใหม่ สุโขทัย อุบลราชธานี) รองหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทีม Change for Good รุ่น 1 รุ่น 2 และพื้นที่นำร่อง และข้าราชการทุกกระทรวง รวมกว่า 150 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์  กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นแนวทางไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ทั้งในมิติการป้องกันปัญหาภัยแล้ง และการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ยังผลทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังใจความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ อาทิ

องค์ที่ 1 "… หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้.." ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2539 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้ามีน้ำคนก็อยู่ได้ ไม่มีน้ำฝนก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์

องค์ที่ 2 "…เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำพอเพียงและเหมาะสม คำว่าพอเพียง ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้บริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่า ประเทศเราก้าวหน้าเจริญ ก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ.." ที่ได้พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 สะท้อนถึงวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้มีทรัพยากรน้ำพอเพียงและเหมาะสม ทั้งในการบริโภค ในการใช้ เป็นการตอกย้ำว่า ถ้าไม่มีน้ำ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไปต่อไม่ได้ ความเจริญก็ไม่เกิด

และองค์ที่ 3 ".. เราควรพิจารณาว่า ถ้าสามารถที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วม สกัดไว้ไม่ให้ลงมาท่วม ก็จะบรรเทาการท่วมและลดความเสียหาย ฉะนั้นการหาทางที่จะเก็บน้ำที่ลงมาท่วมเอาไว้ได้ สำหรับให้เป็นน้ำที่ให้คุณที่ช่วยให้มีรายได้ ก็จะเป็นการดีเป็นทวีคูณ…… การที่จะทำโครงการที่แยบคาย เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายในการท่วมนั้น และเพิ่มพูนผลิตผลในหน้าแล้ง ก็ได้ผลสองเท่าตัว คือไม่ต้องใช้เงินแก้ไข หรือบรรเทาทุกข์ของประชาชน ซ้ำจะได้ให้ประชาชนทำกินได้ เพิ่มพูนขึ้นไปเกือบสองเท่า.." ที่ได้พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2533 อันเป็นกรอบความคิด (Conceptual Framework) ที่ทรงชี้ให้เห็นถึงภัยพิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยทรงยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เมื่อปี 2533 ว่า น้ำท่วมทำให้เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน ซึ่งในการแก้ปัญหาหากเร่งรัดผลักดันน้ำสู่ทะเลเร็ว ๆ ก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก สร้างความเสียหายกับรัฐอีก และเมื่อถึงหน้าแล้งซึ่งชาวบ้านต้องใช้น้ำ ก็ดันนำน้ำไปทิ้งทะเลเสียหมดแล้ว โดยพระองค์ทรงเตือนว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาน้ำแล้วเอาไปทิ้ง แต่ต้องหาทางเก็บน้ำไว้เพื่อเพาะปลูกเพื่อทดแทนสิ่งที่เสียไป

"นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนคนไทยที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ทุกคนได้รอดพ้นจากภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว โดยข้าราชการทุกคน ทุกหน่วยงานต้องเปิดใจและน้อมนำเอาพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้มาบูรณาการสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อยังประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงแรก

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการภัยพิบัติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ของไทย ได้แก่ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายลดความเสียหายและผลกระทบ ลดความเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มกัน จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ 1 ป้องกันและลดผลกระทบในพื้นที่สำคัญ 2 เพิ่มศักยภาพในการรับมือของประชาชนและชุมชน 3 ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการความเสี่ยง 4 อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ

และ 5 ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อบริหารจัดการภัย อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ตามหมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์พัฒนาแห่งอนาคต ซึ่งหมุดหมายต่าง ๆ นี้ ล้วนสอดคล้องกับพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ให้กับคนไทย

ทั้งเรื่องขจัดความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความหิวโหย เรื่องน้ำท่า และเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญและน้อมนำมายึดถือปฏิบัติในการกำหนดนโยบายและแผนสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ด้วยการมุ่งมั่น "พัฒนาคน" เพราะ "คน หรือ ทรัพยากรมนุษย์" เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ภัยธรรมชาติเป็นเพียงองค์ประกอบปัจจัยหนึ่ง ดังนั้น เมื่อคนได้รับการพัฒนา มีความรู้ มีความเข้าใจ ก็จะสามารถไปพัฒนาพื้นที่ ไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไปส่งเสริมด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้นและมีความทุกข์น้อยลง และยังได้รับการถ่ายทอดส่งต่อสู่รุ่นต่าง ๆ นำไปสู่ความยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านวิสัยทัศน์ มุมมอง ความเห็นเชิงนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน และการให้การสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย ทั้ง "ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" เช่น การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และ "ด้านการรองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ" เช่น การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สำคัญ และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวมานี้เป็นระยะเวลา 2-3 ปีภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยน้อมนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ "จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที" หรือทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ไปใช้ในการพัฒนากรมนุษย์จนเกิดมรรคผลและได้ผลที่ดี

พร้อมทั้งได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ (ศจพ.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแนวทางฯ ดังกล่าว ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ "การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model)" มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง จากการประมวลและสรุปองค์ความรู้ แบบอย่างการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา และจัดทำโครงการในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงสอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อนำมาเป็นกรอบและทิศทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย พร้อมทั้งการสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในระดับพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางน้ำ อาหาร พลังงานให้กับครัวเรือนและชุมชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยมี ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ คือ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาฯ ด้วยการนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา มาพลิกพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เป็นภูเขาหัวโล้นเต็มไปด้วยสารเคมี หน้าแล้งมีแต่หมอกควัน หน้าฝนมีแต่โดนน้ำชะล้างดินพังทลาย จัดทำเป็นวาระแก้ปัญหาป่าไม้ และวาระการงดใช้สารเคมีทำการเกษตร เน้นทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และร่วมกันกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดำเนินการฟื้นป่า "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" จัดทำฝายชะลอน้ำตามร่องน้ำภูเขาทุกหมู่บ้าน จนทำให้อำเภอแม่แจ่มในปัจจุบันกลับกลายมามีชีวิตชีวา พื้นที่ภูเขาเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการส่งเสริมและฟื้นฟูภูมิปัญญาในเรื่องการทำมาหากินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" ไปสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ "พุทธเกษตร" โดยท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หรือท่านเจ้าคุณโซล่าร์ และท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการน้อมนำหลักดังกล่าว ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสามารถฟื้นคืนชีวิตที่มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

"ตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ เป็นรูปธรรมสำคัญที่สามารถนำไปขยายผลด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง ทบวง กรมที่มีความเกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันแบบ Teamwork อันจะทำให้เกิดความสำเร็จทั้งในด้านการแก้ปัญหาความยากจน และช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ ลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างเห็นผลอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...