วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รองปธ.กมธ.ศานาฯสภาฯติงมติ มส. ห้ามพระเป็น "ที่ปรึกษา" เหมือน "แยกพระออกจากชาวบ้าน"



รองปธ.กมธ.ศานาฯสภาฯติงมติ มส. ห้ามพระเป็น "ที่ปรึกษา" เหมือน  "แยกพระออกจากชาวบ้าน" ขณะที่ กมธ.ศาสนาฯวุฒิเอาบ้าง ดันแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพิ่มโทษหนักเสพเมถุน เจอคุก 10 ปี  ส่วน "วิษณุ" บอกมีอีกเยอะเรื่องเสื่อมวงการสงฆ์  

วันที่ 12 พ.ค. 2565  หลังจากมหาเถรสมาคมมีมติห้าม พระภิกษุไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง  โดยมีรายละเอียดมติดังกล่าวว่า 1.กรณีพระภิกษุไปเป็นกรรมาธิการ,อนุกรรมาธิการ,ที่ปรึกษากรรมาธิการ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของบ้านเมือง ซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มอบให้ประธานฝ่ายปกครองที่ มหาเถรสมาคมแต่งตั้งไปพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทาง วิธีการหรือวิธีการที่ชัดเจนตำหนิโทษหรือป้องปรามเป็นลายลักษณ์อักษร

2.กรณีที่หน่อยงานราชการที่ขอให้กรรมการมหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการผู้ทรงวุฒิให้เสนอผ่านมหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา

3.กรณีรัฐสภาขอให้มหาเถรสมาคมเป็นกรรมาธิการ, อนุกรรมาธิการหรือที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้แทนมหาเถรสมาคมและเมื่อดำเนินการในนามมหาเถรสมาคมเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานมหาเถรสมาคมทราบ

4.กรณีรัฐสภาขอพระภิกษุรายรูปติดต่อพระภิกษุโดยตรง ให้ปฎิบัติภารกิจฝ่ายการเมือง ให้พระภิกษุรูปนั่นแจ้งผู้บังคับบัญชาผู้ใกล้ชิดทราบและให้ผู้บังคับบัญชารายงานตามลำดับชั้น จนถึงมหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา

ได้มีคน วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยเรื่องนี้ว่า มตินี้ถือเหมือนแยกพระออกจากชาวบ้าน เป็นมติอัปยศมาก  ในคณะกรรมาธิการศาสนา มีตัวแทนทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม การที่มหาเถรสมาคมมีมติแบบนี้ ทำให้กิจการพระพุทธศาสนาไปสู่เป้าหมายไม่ได้ ที่คณะกรรมาธิการเราไม่เคยคุยเรื่องการเมือง เรามุ่งแก้ปัญหาคณะสงฆ์ ทำอย่างไรให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยั่งยืนและมั่นคง ทำอย่างไรพระพุทธศาสนาในบ้านเรานำหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียนนำมาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ การที่มหาเถรสมาคมมีมติแบบนี้เหมือนทำลายคณะสงฆ์เอง พระที่มาเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการตลอด 3 ปีที่ผ่านมาช่วยเราเต็มที่ได้เยอะด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วัดอยู่ในป่าเป็นหมื่นวัดเราก็ทำให้ถูกต้อง สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์เข้าไปอยู่ในป่าไม้ของรัฐ เราก็พยายามแก้ให้ บางวัดตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐหลายสิบปีเราก็ไปทำให้มันถูกต้อง  เรื่อง พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม เราก็ตามแก้ปัญหาให้ แม้กระทั้งพุทธมณฑลจังหวัด พวกเราคณะกรรมาธิการศาสนาก็ได้พระคุณเจ้าเหล่านี้เป็นที่ปรึกษาเป็นที่พึ่ง คอยประสาน คอยให้คำแนะนำ เรื่องแบบนี้ฆราวาสไม่รู้เรื่อง

“ในฐานะชาวพุทธเสียดายและเสียความรู้สึกมาก ที่มหาเถรสมาคมมีมติออกมาแบบนี้ ทำเหมือนแยกพระออกจากชาวบ้าน ศาสนาอื่นมีแต่เขาอยากเข้ามาเป็น แต่นี่มหาเถรสมาคมของเรา กลับคัดคนของตัวเองออกไป เมื่อวานนี้มีตัวแทนบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาร่วมประชุมหลายร้อยรูป/คน เราก็ได้พระที่เป็นอนุกรรมาธิการเหล่านี้แหละช่วยประสาน ช่วยพูดคุย ไม่เข้าใจว่ามหาเถรสมาคมไทยคิดอะไรอยู่ ไม่ต้องกลัวว่าพระคุณเจ้าเรานี้จะมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่คณะกรรมาธิการมีหลายพรรค เราไม่คุยกันเมือง มีแต่การพระศาสนา บางเรื่องเราไม่รู้ก็มีพระคุณเจ้าเหล่านี้ให้คำปรึกษาเรา ปัญหาคณะสงฆ์ฆราวาสแบบเราจะไปรู้ทุกเรื่องได้อย่างไร ที่ผ่านบางเรื่องมีคนร้องเรียนหรือคนเสนอมา เราก็ต้องถามพระคุณเจ้าเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเชื่อทุกเรื่อง หากปัญหามันหนัก เราก็ต้องเข้าไปหากรรมการมหาเถรสมาคมเพื่อรับฟังความเห็นมาต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้นเอง เสียดายมากที่มหาเถรสมาคมออกมติมาแบบนี้ ผมถือว่ามติมหาเถรสมาคมครั้งนี้มีผลเสียต่อความก้าวหน้า ความเจริญ และความมั่นคงกิจการพระพุทธศาสนาในบ้านเรา มากกว่าได้..”  นายเพชรวรรต  กล่าวทิ้งท้าย

กมธ.ศาสนาฯวุฒิเอาบ้าง ดันแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพิ่มโทษหนักเสพเมถุน เจอคุก 10 ปี

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณีการจัดการกับพระที่นอกรีตนอกรอยทั้งอวดอุตริ เสพเมถุน ประพฤติปฏิบัติตนนอกพระธรรมวินัย ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งวงการสงฆ์และประชาชน แม้มหาเถรสมาคมจะตั้งกรรมการเพื่อจัดการกับพระฉาวแล้ว แต่สังคมยังไม่มีความมั่นใจถึงขนาดมองกันว่า คงจะไม่มีบทบาทอะไรและอาจไม่ทันการณ์ กมธ.การศาสนาฯ วุฒิสภา เห็นว่าควรมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มีความเข้มแข็งเด็ดขาดและมีโทษรุนแรง ทำให้พระสงฆ์ที่ทำผิดเรื่องนี้จะได้เกรงกลัว เข็ดหลาบและไม่กล้ากลับมาบวชอีก เพราะมีประวัติอาชญากรรมกระทำชั่วติดตัวเป็นตราบาป

โดยกมธ.ฯ จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายกรณีที่พระสงฆ์องค์ใด อวดอุตริมนุสสธรรมว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีเยี่ยวมีขี้เป็นพระธาตุ ทำให้คนหลงเชื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องลงโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี พวกเสพเมถุนและผู้หญิงที่มาร่วมเสพกับพระก็ต้องถูกลงโทษ 1 ถึง 10 ปีด้วย

ส่วนกรณีที่เมื่อถูกจับสึกออกไปแล้วกลับมาบวชอีก โดยปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จกับพระอุปัชฌาย์ต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้กฎหมายจนสำเร็จ เชื่อว่าจะทำให้มีพระที่กระทำการอื้อฉาวแบบ 'กาโตะ' ลดลงไปได้ และเกรงกลัวต่อการประพฤติชั่วมากขึ้น

ทั้งนี้ กมธ.ฯ จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมและเสนอไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดให้มีการแก้กฎหมายตามข้อเสนอดังกล่าวให้ได้โดยเร็ว และจะทำให้บทบาทของหมอปลาลดน้อยถอยลง และลดความขัดแย้งในสังคมพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

"วิษณุ" บอกมีอีกเยอะเรื่องเสื่อมวงการสงฆ์  

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องไม่เหมาะสมในวงการสงฆ์ ว่า นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้บอกไปหลายเรื่องแล้ว ให้เอาตามนั้น เพราะเป็นผู้ดูแล พศ. ส่วนตนเป็นเพียงผู้กำกับอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น หลายเรื่องอาจจะไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเกิดประเด็นในทางลบเกี่ยวกับพระสงฆ์ต่อเนื่อง นายวิษณุ กล่าวว่า เคสเยอะขึ้นทุกวัน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด แต่เมื่อมีการตรวจอย่างจริงจังจึงพบ และยังจะพบอีกเยอะ เหมือนกับการทุจริตคอร์รัปชันที่พบว่ามีจำนวนมาก แต่ไม่ใช่มากเพราะเพิ่งจะเกิด มีมานานแล้ว เพิ่งไปตรวจกัน เพิ่งกล้าตรวจ และเอาจริงเอาจังในการตรวจ เมื่อตรวจแล้วก็พบ เมื่อถามว่าเหตุที่เกิดขึ้นถูกมองว่าเป็นความเสื่อม จะเรียกศรัทธากลับคืนมาได้อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่องนึง เอาไว้ว่ากันยาว จะมาตอบสั้นๆ ตรงนี้ไม่ได้


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...