เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ร.ร.เอส.ดี.อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจภาค/กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ประจำปี 2565 ระดับผู้ปฏิบัติงาน และปาฐกถาพิเศษ “กลไก กรอ. กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน” โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ผู้แทนหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ “กรอ.” เป็นกลไกที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ซึ่งจังหวัดในฐานะภาคราชการต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย “ภาคราชการ” อันหมายความรวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างๆ ภาคธุรกิจเอกชน ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริษัท ห้าง ร้าน ฯลฯ “ภาควิชาการ” ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน “ภาคผู้นำศาสนา” ทั้งพระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม บาทหลวง และผู้นำศาสนาต่างๆ “ภาคประชาสังคม” คือ NGO ในพื้นที่ “ภาคประชาชน” คือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และ “ภาคสื่อมวลชน” ที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารข้อมูล นำเสนอข่าวสารที่ได้รับจากภาคราชการและทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านกลไก กรอ. เพื่อประสานพลังผู้นำทางสังคมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจับมือร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด ด้วยการจัดการประชุมและเข้าร่วมการประชุม กรอ. อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง และต้องให้ความสำคัญกับ “การสื่อสารกับสังคม” ที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ทั้งงานสังคม งานประชุม งานบุญ งานวัด ตามประเพณี ที่จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีโอกาสพบปะผู้คนและได้พูดคุย รวมทั้งได้รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะสามารถอธิบายคำตอบได้ ทั้งนี้ สำนักงานจังหวัด โดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด ในฐานะฝ่ายเสนาธิการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องลงพื้นที่เพื่อติดตามสอดส่องดูแลพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อได้รับรู้ รับทราบปัญหา หาแนวทางแก้ไข เพื่อสื่อสารให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ รับทราบ เข้าใจ และร่วมมือกับจังหวัดและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านต่างๆ
“การสื่อสารกับสังคมเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะภาคราชการ จะต้องทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการผ่านกลไกภาคีเครือข่ายที่ 7 คือภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเจ้าของเนื้อหา (Content) ต้องจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่เข้าใจง่าย และมีความถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน ส่งให้กับสื่อมวลชน เพื่อสามารถสื่อสารข้อมูลไปยังพี่น้องประชาชนผู้รับสารได้อย่างตรงไปตรงมา น่าสนใจ นอกจากนี้ การทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน ไม่จำเพาะว่าต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น ตัวของพวกเราทุกคนเองก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ไม่ใช่เป็นเพียงคนส่งข่าว ด้วยการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่กับตัวเอง เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถบันทึกภาพ เสียง วิดีโอ และตัดต่อเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook Twitter Instagram TikTok Line ส่วนตัว และของหน่วยงาน รวมไปถึงเครื่องมือพื้นฐานในการสื่อสารในพื้นที่ เช่น หอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชน และเสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นรากฐานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวและว่า
ประการสำคัญถัดมาซึ่งเป็ยนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนและได้รับความสนใจจากสังคมอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไก ศจพ. โดยเน้นย้ำนิยามคำว่า “ความยากจน” หมายถึง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกประเภทที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น มีลูกหลานติดยาเสพติด ที่หน่วยงานทั้งสาธารณสุข ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ก็ต้องไปทำให้เขาได้เข้าสู่ระบบการรักษา หรือแม้แต่เรื่อง “หนี้นอกระบบ” ที่พ่อค้าแม่ค้าถูกขู่เข็ญ เอาเปรียบ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยทุกคนต้องลงไปบูรณาการทุกหน่วยงานค้นหา ช่วยเหลือ โดยมีนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ เป็นแม่ทัพที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ เพื่อ Change for Good ให้ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง และทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 นอกจากนี้ สำนักงานจังหวัด ในฐานะเสนาธิการของผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจเอกชในพื้นที่ ทั้ง กรอ. บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคมจังหวัด ผู้ประกอบการ OTOP กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนการออม ห้าง ร้านต่าง ๆ ในฐานะที่กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงหลักที่จะดูแลพื้นที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นว่า “เราเป็นที่พึ่งของสังคมได้” ด้วยความฮึกเหิม ตั้งมั่น อดทน ในการที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนโดยกลไก กรอ. ซึ่งสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะดีได้ “อยู่ในมือพวกเราข้าราชการและภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ดีให้กับองค์กรและประเทศชาติของเรา”
“ที่ผ่านมาความสำเร็จของงานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยตลอดระยะเวลา 130 ปี ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 131 กว่าร้อยละ 80 อยู่ที่ “มดงาน” ที่เป็นผู้บริหารระดับกลางและผู้ปฏิบัติ มิใช่อยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น การสัมมนาในครั้งนี้ จะทำให้พวกเราทุกคนมีไฟในการกลับไปเผาไหม้เชื้อเพลิงที่จังหวัด นั่นคือ “เพื่อนร่วมงาน” ในการประสานความสัมพันธ์ผสานความร่วมมือทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศไทย พร้อมเน้นย้ำ ต้องทำด้วยใจ ให้ความสำคัญกับ การบูรณาการงานและร่วมมือกับ กรอ. และภาคีเครือข่าย พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจจังหวัดให้เกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น