วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก! "สมเด็จพระสังฆราช" ประทานคติธรรม "เลขาฯยูเอ็นส่งสาสน์ร่วมเฉลิมฉลอง



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีคติธรรมเนื่องใน "งานวิสาขบูชาโลก" ครั้งที่ 17  ความว่า 



ดีถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง จึงควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลจิต กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ทั้งอามิสบูชา ทั้งด้วยปฎิบัติบูชา เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการอบรมศึกษาพระธรรม ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสาวก ซึ่งแปลว่าผู้สดับตรับรับฟังคำสั่งสอนของพระศาสดา

วิสาขบูชา เป็นเครื่องมือเตือนใจให้รำลึกพระปัจฉิมวาจา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปรารภสรุปธรรมทั้งปวง ตักเตือนให้ตระหนักอยู่ทุกขณะจิตว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา บุคคลจึงพึงยัง “ความไม่ประมาท” ให้ถึงพร้อม ทั้งนี้ ธรรมะที่ช่วยกำกับใจให้รู้จักปล่อยวางและกำกับปัญญา กล่าวคือ ไม่ปล่อยปละให้ปัญญานำกายถลำลงสู่ความประมาท ย่ออได้ “สติ” อันอุปมาดั่งนายประตู คอยป้องกันไม่ให้ความชั่วหรือความผิดพลาดอาจจู่โจมเข้าสู่ภายใน เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ จึงพึงเพิ่มพูนความไม่ประมาททั้งทางโลกและทางธรรม หมั่นเจริญพุทธานุสสติและมรณัสสติเป็นอาจิณ โดยสำนึกเสมอว่า แม้สมเด็จพระบรมศาสนาผู้ทรงพระคุณเป็นเลิศในโลก ยังเสด็จล่วงลับดับขันธ์ไปตามธรรมดาของสังขาร ฉะนั้นเราทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาม ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร จึงควรขวนขวายบำเพ็ญบุญกิริยาด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และอบรมเจริญภาวนา เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันและในเบื้องหน้า สมดังพุทธานุศาสนีที่ว่า “อปฺปมตฺโต หิฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ “ แปลความว่า “ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์” ในทุกสถาน

ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อันนับเป็น “ปฎิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่งแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป ตลอดกาลนาน..

ขณะที่นายอันโตนิอู กุแตเรช (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ส่งสาสน์ สรุปใจความมีดังนี้ วิสาขบูชาโลกปีนี้ อยู่ในช่วงเวลาของวิกฤติการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น  ทั้งจากความไม่เท่าเทียมในการฟื้นฟูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคควิด -19 ไปจนถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความขัดแย้ง การแบ่งแยก  และความรุนแรง



และกล่าวย้ำเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึง “พุทธปัญญาสากล” ในการอยู่ร่วมกันกลมเกลียวเป็นหนึ่ง มีความสามัคคี และร่วมกันเสริมสร้างโลกนี้ให้เกิดสันติสุขแก่มวลหมู่มนุษยชาติให้ยิ่งยืน และดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

สำหรับการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2565  ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สภาสากลวันวิสาขบูชาโลกและสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ และ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนาร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13  พฤษภาคม 2565  ทั้งในระบบออนไซต์และออนไลน์  ประกอบด้วย

1. การประชุมทางวิชาการ เรื่อง “ธรรมะดิสรัปชั่น และการป้องกัน : มิติและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาต่อโควิด-19 วันที่ 11พฤษภาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพหลัก

2. การประชุมทางวิชาการ เรื่อง “หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง” วันที่ 12 พฤษภาคม 2565  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพหลัก  และในวันนี้ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ”  ที่ วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์

3.การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ เรื่อง กรุณาธรรมในยามวิกฤต : หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อเยียวยาสังคมโลก วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์ 

ในส่วนของการประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวันนี้ มีผู้บริหาร อาจารย์ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  จำนวน  2,222  รูป/คน จัดขึ้น ณ อาคารพรหมบัณฑิตาคาร วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระนครศรีอยุธยาและระบบออนไลน์ Zoom Meeting ID: 998 993 3546 หรือ สามารถชมถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook: mcu tv news, mcu tv live, mcu tv-channel YouTube: mcu tv  เว็บไซต์  tv.mcu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลักดันหมอลำขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก

การผลักดันหมอลำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไ...